แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญาเช่าแบบลิสซิ่ง ชำระค่าเช่าจำนวน 3 งวดต่อโจทก์ที่ 1 แทนจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 2 จึงรับช่วงสิทธิของโจทก์ที่ 1 ในอันที่จะใช้สิทธิของโจทก์ที่ 1 เรียกร้องจำเลยทั้งสองให้ชำระหนี้แก่ตนได้โดยผลของกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 229 (3) โดยไม่ต้องอาศัยหลักฐานหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องแต่อย่างใด
จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าแบบลิสซิ่งแทนจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ไม่สามารถนำสืบว่าจำเลยที่ 2 ได้ทำกิจการดังกล่าวร่วมกับจำเลยที่ 1 เป็นการส่วนตัวด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องผูกพันและรับผิดตามสัญญาเช่าแบบลิสซิ่งต่อโจทก์เป็นการส่วนตัว
โจทก์มิได้บรรยายถึงสิทธิและไม่มีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่างวดที่ 4 และที่ 5 ไว้ในคำฟ้อง แม้จะกล่าวในคำขอบังคับว่า หากโจทก์ที่ 2 ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ที่ 1 เท่าใด ก็ขอให้จำเลยทั้งสองชดใช้ให้เท่านั้น ก็ไม่ถือว่ามีคำขอให้จำเลยชำระค่าเช่างวดดังกล่าว ศาลฎีกาจึงไม่อาจบังคับให้ได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันและแทนกันชำระหนี้ให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 400,000 บาท
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 เป็นสถาบันการเงิน จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัดตามกฎหมายของประเทศสวีเดน มีวัตถุประสงค์ให้กู้ยืมเงินและให้สินเชื่อประเภทต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โจทก์ที่ 2 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสวีเดนมีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมการส่งออกของประเทศสวีเดนโดยการทำสัญญาค้ำประกัน ให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาการเจริญเติบโตทางอุตสาหกรรมกับการพาณิชย์ และการแข่งขันระหว่างประเทศ จำเลยที่ 1 เป็นสถาบันการศึกษาเอกชนจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. สถาบันการศึกษาเอกชน พ.ศ. 2522 มีจำเลยที่ 2 เป็นอธิการบดี เมื่อประมาณต้นปี 2540 บริษัทโปรโซลเวีย คลารัส เอบี ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการสร้างดำเนินงานศูนย์ฝึกอบรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีเสมือนจริง (Vertual Reality Center) ต้องการขยายงานโดยการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวหลายแห่งทั่วโลก จึงได้ติดต่อกับจำเลยที่ 1 เพื่อจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีเสมือนจริงขึ้นในสถานที่ของจำเลยที่ 1 ต่อมาบริษัทโปรโซลเวีย คลารัส เอบี โดยนายแดน เลเจอร์สคาร์ กับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ตกลงทำสัญญาที่จะเปิดศูนย์เวอร์ชวลเรียลลิตี้และการฝึกหัดในมหาวิทยาลัย (Agreement for a University Based Virtual Reality and Training Center) โดยทั้งสองฝ่ายลงลายมือชื่อในสัญญาเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2540 ต่อมาได้มีการติดต่อขอสินเชื่อจากโจทก์ที่ 1 เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ทั้งหมดที่บริษัทโปรโซลเวีย คลารัส เอบี เป็นผู้จัดหาตามสัญญาดังกล่าวเป็นเงินประมาณ 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ โจทก์ที่ 1 อนุมัติโดยให้บริษัทโปรโซลเวีย คลารัส เอบี กับจำเลยที่ 1 รับผิดชอบคนละกึ่งหนึ่ง และมีโจทก์ที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของบริษัทโปรโซลเวีย คลารัส เอบี และจำเลยที่ 1 ต่อมาได้มีการทำหนังสือสัญญาเช่าแบบลิสซิ่งสำหรับคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์แยกเป็น 2 ส่วน สัญญาเช่าแบบลิสซิ่งส่วนที่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญามีมูลค่าคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์รวมเป็นเงิน 1,219,189 ดอลลาร์สหรัฐ แบ่งชำระเป็น 10 งวด เป็นงวดรายครึ่งปีงวดละ 129,742 ดอลลาร์สหรัฐ ตามสัญญาเช่าแบบลิสซิ่งเอกสารหมาย จ. 6 หรือ จ. 32 ซึ่งมีลายมือชื่อคล้ายกับลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ลงไว้ในฐานะผู้กระทำการแทนจำเลยที่ 1 โดยระบุว่าลงลายมือชื่อไว้เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2540 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับมอบอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ตามสัญญาเช่าแบบลิสซิ่งครบถ้วนแล้ว แต่ไม่ชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์ที่ 1 เลย โจทก์ที่ 2 จึงต้องชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์ที่ 1 ไป รวม 3 งวด คืองวดที่ 1 กำหนดชำระในวันที่ 11 ธันวาคม 2540 จำนวน 127,580.47 ดอลลาร์สหรัฐ งวดที่ 2 ถึงกำหนดชำระในวันที่ 11 มิถุนายน 2541 จำนวน 127,785.80 ดอลลาร์สหรัฐ และงวดที่ 3 ถึงกำหนดชำระในวันที่ 11 ธันวาคม 2541 จำนวน 127,923.85 ดอลลาร์สหรัฐ และได้รับโอนสิทธิเรียกร้องค่าเช่าจำนวน 3 งวด จากโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 เคยมีหนังสือลงวันที่ 16 มิถุนายน 2541 ทวงถามจำเลยที่ 1 ให้ชำระค่าเช่า จำเลยทั้งสองปฏิเสธว่าไม่เคยทำสัญญาเช่าตามคำฟ้องกับโจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2542 และวันที่ 31 ธันวาคม 2542 จำเลยที่ 2 ได้เข้าไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลหัวหมากว่า มีผู้ปลอมลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ในสัญญาเช่าแบบลิสซิ่งและในเอกสารภาคผนวกหมายเลข 1 ของสัญญาเช่าดังกล่าวที่โจทก์ทั้งสองนำมาฟ้องเป็นคดีนี้ ต่อมาวันที่ 9 มีนาคม 2542 โจทก์ที่ 1 จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าแบบลิสซิ่ง เรียกให้จำเลยทั้งสองส่งมอบอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ตามสัญญาเช่าดังกล่าวคืน และร่วมกันชำระค่าเช่าพร้อมดอกเบี้ยและค่าเสียหาย แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเป็นข้อแรกตามคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ที่ 2 ได้ชำระหนี้ค่าเช่าจำนวน 3 งวด ให้แก่โจทก์ที่ 1 แล้วจริง จึงเป็นกรณีที่โจทก์ที่ 2 มีความผูกพันร่วมกับจำเลยที่ 1 หรือเพื่อจำเลยที่ 1 ในอันจะต้องใช้หนี้ มีส่วนได้เสียด้วยในการใช้หนี้ และเข้าใช้หนี้แทนจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 2 จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิของโจทก์ที่ 1 ในอันที่จะใช้สิทธิของโจทก์ที่ 1 เรียกร้องทวงถามจำเลยทั้งสองให้ชำระหนี้แก่ตนได้โดยผลของกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 229 (3) โดยไม่ต้องอาศัยหลักฐานหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องแต่อย่างใด ที่จำเลยทั้งสองแก้อุทธรณ์ว่า หนังสือโอนสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ 1 ไม่มีผลตามกฎหมายเพราะโจทก์ทั้งสองนำสืบไม่ได้ว่าผู้ที่ลงลายมือชื่อในหนังสือดังกล่าวเป็นผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนโจทก์ที่ 1 นั้น จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย
บริษัทโปรโซลเวีย คลารัส เอบี โดยนายแดน เลเจอร์สคาร์ กับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ตกลงทำสัญญาร่วมกันจัดตั้งศูนย์เวอร์ชวลเรียลลิตี้และการฝึกหัดในมหาวิทยาลัยโดยนายแดน เลเจอร์สคาร์ กับจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าวเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2540 และถึงแม้ว่าจำเลยที่ 2 จะได้ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาเช่าแบบลิสซิ่งตามเอกสารหมาย จ. 6 และ จ. 32 และลงลายมือชื่อในภาคผนวกหมายเลข 1 เอกสารหมาย จ. 11 โดยลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวในฐานะเป็นผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาคือในตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยจำเลยที่ 1 มีอำนาจกระทำกิจการแทนจำเลยที่ 1 ไว้ด้วย แต่จำเลยทั้งสองมิได้นำสืบถึงข้อจำกัดอำนาจของจำเลยที่ 2 ในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยจำเลยที่ 1 เอาไว้แต่อย่างใด สัญญาเช่าแบบลิสซิ่งตามเอกสารหมาย จ. 6 หรือ จ. 32 จึงผูกพันจำเลยที่ 1 และในเมื่อการลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ในสัญญาดังกล่าวเป็นการกระทำกิจการแทนจำเลยที่ 1 และโจทก์ทั้งสองไม่สามารถนำสืบได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ทำกิจการดังกล่าวร่วมกับจำเลยที่ 1 เป็นการส่วนตัวด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องผูกพันและรับผิดตามสัญญาเช่าแบบลิสซิ่งต่อโจทก์ทั้งสองเป็นการส่วนตัว
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ทั้งสองต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองเพียงใด เห็นว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าในงวดที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รวม 3 งวด ซึ่งถึงกำหนดชำระในวันที่ 11 ธันวาคม 2540 วันที่ 11 มิถุนายน 2541 และวันที่ 11 ธันวาคม 2541 ให้แก่โจทก์ที่ 1 และได้ความว่า โจทก์ที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันได้ชำระค่าเช่า 3 งวดดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1 ไปแทนจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 2 จึงได้รับช่วงสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่จ่ายแทนจำเลยที่ 1 ไปคืนจากจำเลยที่ 1 ได้ พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ได้จ่ายแทนไป ส่วนที่โจทก์ที่ 2 อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่างวดที่ 4 และที่ 5 ที่โจทก์ที่ 2 จ่ายแก่โจทก์ที่ 1 ไปแล้วด้วย เห็นว่า โจทก์มิได้บรรยายถึงสิทธิและมีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่างวดที่ 4 และที่ 5 ไว้ขณะยื่นคำฟ้อง แม้จะกล่าวในคำขอบังคับว่า หากโจทก์ที่ 2 ได้ชำระหนี้แก่โจทก์ที่ 1 ตามสัญญาค้ำประกันจำนวนเท่าใด ก็ขอให้จำเลยทั้งสองชดใช้ให้แก่โจทก์ที่ 2 ก็ตาม ก็ไม่ถือว่าโจทก์ได้กล่าวหรือมีคำขอในคำฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่างวดที่ 4 และที่ 5 ด้วย เพราะขณะฟ้องคดีนี้ โจทก์ที่ 2 ยังมิได้ชำระค่าเช่างวดที่ 4 และที่ 5 แก่โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 ยังมิได้ถูกโต้แย้งสิทธิในเงินค่าเช่างวดดังกล่าวในขณะยื่นฟ้องคดีนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงไม่อาจบังคับให้ได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 45 ประกอบด้วยมาตรา 26 และ ป.วิ.พ. มาตรา 142
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ตามสัญญาเช่าแบบลิสซิ่งคืนโจทก์ที่ 1 หากคืนไม่ได้ ให้ใช้ราคา กับให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าเช่า ค่าเสียหาย และค่าความเห็นทางกฎหมาย รวมเป็นเงินจำนวน 848,999.49 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 383,263.12 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 127,580.47 ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2540 ต้นเงินจำนวน 127,758.80 ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2541 และต้นเงินจำนวน 127,923.85 ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 และคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความรวม 300,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ.