คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5830/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในความผิดฐานฉ้อโกง กับมีคำขอให้คืนหรือใช้เงิน ที่ผู้เสียหายส่งมอบให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แก่ผู้เสียหาย อันเป็นคำขอในส่วนแพ่งที่พนักงานอัยการฟ้องคดีแทนผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์คดีนี้ เมื่อเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินรายเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คืนในคดีนี้ การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ในระยะเวลาที่คดีอาญาดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ฟ้องโจทก์ในส่วนเงินที่ส่งมอบอันเป็นต้นเงินจึงเป็นฟ้องซ้อน แต่ในส่วนดอกเบี้ย พนักงานอัยการไม่ได้ขอให้ชดใช้ในคดีอาญาดังกล่าว จึงไม่เป็นฟ้อนซ้อน
เมื่อข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ได้หลอกลวงโจทก์ และเงินที่โจทก์ส่งมอบให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ถูกส่งเป็นทอด ๆ ไปให้จำเลยที่ 4 โดยมิได้อยู่ในครอบครองของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่โจทก์จะใช้สิทธิติดตามเอาคืนจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชำระดอกเบี้ยในเงินจำนวนนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 5,067,122 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 4,710,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 1,350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ (ฟ้องวันที่ 17 ธันวาคม 2556) ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันชำระเงิน 465,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงิน 1,375,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำงานที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ด้วยกัน โดยโจทก์ทำงานตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพชำนาญการ จำเลยที่ 1 ทำงานตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข และจำเลยที่ 2 ทำงานฝ่ายการเงิน จำเลยที่ 3 รู้จักกับจำเลยที่ 4 มานานหลายปี ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 4 แจ้งต่อจำเลยที่ 3 ว่าจำเลยที่ 4 ฟ้องคดีเกี่ยวกับที่ดินที่ประเทศสิงคโปร์จนชนะคดีและจะได้รับเงิน 13,000,000,000 บาท แต่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายและค่าภาษีในการนำเงินเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมาก จำเลยที่ 4 ชักชวนจำเลยที่ 3 ให้นำเงินมาร่วมลงทุนเป็นค่าใช้จ่ายและค่าภาษีด้วยกัน โดยจะให้ผลตอบแทนจำนวนสูงมาก จำเลยที่ 3 ชักชวนบุคคลต่าง ๆ เข้ามาร่วมลงทุนในลักษณะที่จำเลยที่ 3 เป็นหัวหน้าสาย มีลูกสายไปชักชวนบุคคลอื่นต่อ ๆ กันไป โดยเสนอผลตอบแทนกันเป็นทอด ๆ จำเลยที่ 2 เป็นลูกสายของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 เป็นลูกสายของจำเลยที่ 2 อีกทอดหนึ่ง เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2552 จำเลยที่ 1 ชักชวนโจทก์ให้ร่วมลงทุนในธุรกิจดังกล่าว โดยเสนอผลตอบแทนจำนวนมาก โจทก์ตกลงร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 และส่งมอบเงินให้จำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 พาโจทก์ไปรู้จักกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 แจ้งว่าหากโจทก์นำเงินมาลงทุนกับจำเลยที่ 2 โดยตรง จำเลยที่ 2 จะจ่ายผลตอบแทนให้โจทก์เป็นเงินจำนวนมากกว่าที่โจทก์จะได้รับจากจำเลยที่ 1 โจทก์ตกลงร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 2 โดยส่งมอบเงินให้จำเลยที่ 2 จำนวน 580,000 บาท แต่เมื่อถึงกำหนดจ่ายเงินจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้จ่ายเงินตอบแทนให้โจทก์ โจทก์ทวงถามหลายครั้ง จำเลยที่ 2 จึงจ่ายเงินให้โจทก์รวมห้าครั้งเป็นเงินทั้งสิ้น 115,000 บาท ต่อมาประมาณเดือนกันยายน 2552 โจทก์รู้จักกับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ชักชวนโจทก์ร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 3 โดยตรง โดยเสนอจะจ่ายผลตอบแทนให้โจทก์จำนวนมากกว่าที่โจทก์ได้รับจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 โจทก์ส่งมอบเงินให้จำเลยที่ 3 เพื่อร่วมลงทุนหลายครั้งรวมเป็นเงิน 1,500,000 บาท โดยมีทั้งโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 3 และจ่ายเป็นเงินสดให้อีกส่วนหนึ่ง ต่อมาเมื่อถึงกำหนดจ่ายเงินจำเลยที่ 3 ไม่ได้จ่ายเงินตอบแทนให้โจทก์ตามที่ตกลงไว้ จำเลยที่ 3 คืนเงินให้โจทก์บางส่วนรวม 2 ครั้ง เป็นเงิน 125,000 บาท หลังจากนั้นจำเลยที่ 3 พาโจทก์ไปรู้จักกับจำเลยที่ 4 ซึ่งจำเลยที่ 4 จัดประชุมเพื่อชี้แจงการดำเนินงานแก่ลูกสายหลายครั้ง โจทก์เข้าร่วมประชุมด้วย จำเลยที่ 4 จัดประชุมครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2553 และแจ้งว่างานใกล้เสร็จแล้ว ผู้ลงทุนทุกคนจะได้รับเงินตอบแทนภายในวันที่ 25 สิงหาคม 2553 แต่เมื่อถึงกำหนดเวลาดังกล่าวไม่มีผู้ใดได้รับผลตอบแทน และจำเลยที่ 4 หลบหนีไป โจทก์แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกง ต่อมาพนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4896/2555 หมายเลขแดงที่ 3107/2556 ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง กับมีคำขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คืนหรือใช้เงิน 4,710,000 บาท แก่ผู้เสียหาย โดยโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวด้วยซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 ปี ให้จำเลยที่ 3 คืนเงินให้โจทก์ 1,375,000 บาท แต่ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 คดีถึงที่สุด ส่วนจำเลยที่ 4 ยังไม่ได้ตัวมาดำเนินคดี
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เพราะฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง บัญญัติว่า “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณาและผลแห่งการนี้ (1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น” ปรากฏว่าในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3107/2556 พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต่อศาลชั้นต้นในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง กับมีคำขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คืนหรือใช้เงิน 4,710,000 บาท ที่ผู้เสียหายส่งมอบให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แก่ผู้เสียหายคือโจทก์คดีนี้ ซึ่งเป็นคำขอในส่วนแพ่งที่พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องคดีแทนโจทก์คดีนี้ด้วย และคดีอาญาดังกล่าวโจทก์คดีนี้ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการซึ่งศาลชั้นต้นอนุญาต ดังนั้น เมื่อเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินรายเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องและมีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คืนในคดีนี้ โดยโจทก์ยื่นคำฟ้องในระยะเวลาที่คดีอาญาดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในส่วนเงินที่ส่งมอบดังกล่าวอันเป็นต้นเงินที่เรียกร้องในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีส่วนแพ่งในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3107/2556 ของศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้โจทก์ยื่นคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) แต่ในส่วนดอกเบี้ย แม้พนักงานอัยการไม่ได้ขอให้ชดใช้ในคดีอาญาดังกล่าวจึงไม่เป็นฟ้องซ้อน แต่เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ซึ่งฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ได้หลอกลวงโจทก์ และเงินที่โจทก์ส่งมอบให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ถูกส่งเป็นงวด ๆ ไปให้จำเลยที่ 4 มิได้อยู่ในครอบครองของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่โจทก์จะใช้สิทธิตามเอาคืนจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งจะทำให้โจทก์มีสิทธิบังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชำระดอกเบี้ยในเงินจำนวนนั้นแก่โจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาในส่วนนี้มา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share