คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5828/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยนำเครื่องจักรเข้ามาในราชอาณาจักร ย่อมมีความรับผิดในอันที่จะต้องเสียภาษีสำหรับของที่นำเข้าในเวลาที่นำของเข้าสำเร็จ ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 ทวิ วรรคหนึ่ง แต่จำเลยอาจได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีหากได้รับสิทธิและประโยชน์ทางภาษีอากรภายใต้เงื่อนไขกฎหมายและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกำหนด เมื่อปรากฏว่าจำเลยนำเข้าเครื่องจักรโดยได้รับยกเว้นอากรและภาษีการค้าตามบัตรส่งเสริมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน แต่เครื่องจักรดังกล่าวถูกเพลิงไหม้ขณะอยู่ในอารักขาของโจทก์ที่ 1 และสำนักงานส่งเสริมการลงทุนมีหนังสือถึงโจทก์ที่ 1 แจ้งว่าได้ยกเลิกหนังสือที่อนุมัติให้ยกเว้นอากรสำหรับเครื่องจักรที่ถูกเพลิงไหม้แล้ว โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าอธิบดีกรมศุลกากรยกเว้นภาษีอากรในส่วนของสินค้าที่ถูกเพลิงไหม้ให้แก่จำเลย จำเลยจึงมีหน้าที่และความรับผิดที่ต้องเสียภาษีอากรตามกฎหมาย
โจทก์ที่ 1 มีหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรจากผู้นำเข้า ส่วนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีอำนาจหน้าที่ที่จะยกเว้นภาษีอากรให้แก่ผู้นำเข้าตามเงื่อนไขของกฎหมายและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกำหนด แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่จะจัดเก็บภาษีอากรและไม่มีหน้าที่สั่งให้โจทก์ที่ 1 เก็บภาษีอากร การที่สำนักงานคณะกรรมการ ส่งเสริมการลงทุนมีหนังสือถึงโจทก์ที่ 1ล่วงไปสั่งให้โจทก์ที่ 1 จัดเก็บภาษีอากรจากจำเลยย่อมไม่ชอบ ต่อมาสำนักงานส่งเสริมการลงทุนมีหนังสือถึงโจทก์ที่ 1 ว่า “สำนักงานจึงขอยกเลิกการแจ้งให้กรมศุลกากรเรียกเก็บภาษีอากรสำหรับเครื่องจักรที่ถูกเพลิงไหม้ดังกล่าว” จึงเป็นเรื่องสำนักงานส่งเสริมการลงทุนเห็นว่าตัวเองไม่มีอำนาจหน้าที่ดังกล่าวจึงทำหนังสือขอยกเลิกเรื่องการแจ้งให้โจทก์ที่ 1 เรียกเก็บภาษีสำหรับเครื่องจักรที่ถูกเพลิงไหม้เท่านั้น หาใช่เป็นเรื่องแจ้งยกเลิกการเรียกเก็บภาษีอากรสำหรับเครื่องจักรที่ถูกเพลิงไหม้ดังที่จำเลยเข้าใจไม่

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน ๕๑๓,๙๙๒.๕๐ บาท แก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมด้วยเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ ๑ ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของค่าอากรจำนวน ๙๓,๘๗๐ บาท จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเก็บค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าที่จำเลยนำเข้ามาตามคำฟ้องของโจทก์เพราะสินค้าดังกล่าวได้รับยกเว้นอากรตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนและบัตรส่งเสริมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เลขที่ ๑๐๔๗/สอ./๒๕๓๓ ในขณะที่จำเลยนำสินค้าดังกล่าวเข้ามาและอยู่ระหว่างดำเนินการทางพิธีการศุลกากรเพื่อตรวจปล่อยและขอรับสินค้าออกจากอารักขาของศุลกากร ปรากฏว่าโกดังเก็บสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นสถานที่เก็บสินค้าดังกล่าวถูกเพลิงไหม้เป็นเหตุให้สินค้าของจำเลยที่เก็บไว้ในโกดังเสียหายทั้งหมด จำเลยจึงไม่ได้รับสินค้าดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีหนังสือแจ้งยกเลิกหนังสืออนุมัติและสั่งปล่อยเครื่องจักรที่ได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าและภาษีการค้าของจำเลย และขอให้โจทก์ดำเนินการจัดเก็บภาษีอากรตามระเบียบต่อไปก็เพราะจำเลยเป็นผู้ขอให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนออกหนังสือแจ้ง ดังกล่าวเนื่องจากจำเลยไม่ได้รับสินค้า นอกจากนี้เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๔๐ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้มีหนังสือแจ้งว่าขอยกเลิกการแจ้งให้กรมศุลกากรเรียกเก็บอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักรที่ถูกเพลิงไหม้ดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเก็บภาษีอากรจากจำเลยอีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๕๑๓,๙๙๒.๕๐ บาท แก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมด้วยเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ ๑ ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของค่าอากรขาเข้าจำนวน ๙๓,๘๗๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๒,๐๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยแล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยจะต้องชำระเงินภาษีตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยนำของเข้ามาในราชอาณาจักร จำเลยย่อมมีความรับผิดในอันที่จะต้องเสียภาษีสำหรับของที่นำเข้าในเวลาที่นำของเข้าสำเร็จ ตามพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๑๐ ทวิ วรรคหนึ่ง แต่จำเลยอาจจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีหากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนให้จำเลยได้รับสิทธิและประโยชน์ทางภาษีอากรภายใต้เงื่อนไขกฎหมายและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกำหนด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยได้นำเข้าสินค้าเครื่องอบให้แห้งและเครื่องอัดพลาสติก โดยได้รับยกเว้นค่าอากรและภาษีการค้าสำหรับ เครื่องจักรทั้งสองเครื่องดังกล่าวรวมเป็นเงิน ๒๔๐,๕๖๙ บาท จำเลยได้รับสินค้าดังกล่าวไปในสภาพที่ถูกเพลิงไหม้ในขณะที่อยู่ในอารักขาของโจทก์ที่ ๑ ต่อมาจำเลยทำหนังสือถึงคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนขอยกเลิกการขอยกเว้นสำหรับเครื่องจักรที่ถูกเพลิงไหม้แล้วขอยกเว้นอากรสำหรับเครื่องจักรที่นำเข้ามาทดแทน ทางโจทก์ที่ ๑ ได้สอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนว่าสินค้าของจำเลยที่ถูกเพลิงไหม้ยังจะได้รับการยกเว้นภาษีอากรหรือไม่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีหนังสือตอบตามเอกสารหมาย จ. ๑ แผ่นที่ ๒๖ ว่าให้ยกเว้นค่าอากร เครื่องจักรชุดใหม่ที่จำเลยนำเข้ามา กับให้ยกเลิกหนังสือที่อนุมัติให้ยกเว้นอากรสำหรับเครื่องจักรที่ถูกเพลิงไหม้และขอให้โจทก์ที่ ๑ ดำเนินการจัดเก็บภาษีอากรต่อไป ตามหนังสือเอกสารหมาย จ. ๑ แผ่นที่ ๒๖ นี้จะเห็นได้ชัดเจนว่า เมื่อจำเลยนำเครื่องจักรเข้ามาในราชอาณาจักร ๒ ครั้ง ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพิจารณาแล้ว เห็นสมควรให้จำเลยได้รับยกเว้นค่าภาษีอากรเพียงครั้งเดียวคือครั้งที่นำเครื่องจักรเข้ามาใหม่ทดแทนเครื่องจักรที่ ถูกเพลิงไหม้โดยเครื่องจักรที่ถูกเพลิงไหม้ไม่ได้รับการยกเว้น เมื่อทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ไม่ยกเว้นภาษีอากรให้แก่จำเลยในส่วนของสินค้าเครื่องจักรที่ถูกเพลิงไหม้ จำเลยก็ต้องเสียภาษีอากรตามกฎหมาย ต่อไป จำเลยอาจจะไม่ต้องเสียภาษีอากรสำหรับสินค้าเครื่องจักรที่ถูกเพลิงไหม้ขณะอยู่ในอารักขาของโจทก์ที่ ๑ ก็ได้ ถ้าหากอธิบดีกรมศุลกากรเห็นว่าเข้าหลักเกณฑ์ข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๙๕ แต่เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าอธิบดีกรมศุลกากรยกเว้นภาษีอากรในส่วนของสินค้าที่ถูกเพลิงไหม้ให้แก่จำเลย จำเลยจึงมีหน้าที่และความรับผิดต้องเสียภาษีอากรตามกฎหมาย ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่าตามหนังสือเอกสารหมาย จ. ๑ แผ่นที่ ๒๕ ลงวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๔๐ ที่มีข้อความว่า “สำนักงานจึงขอยกเลิกการแจ้งให้กรมศุลกากรเรียกเก็บภาษีอากรสำหรับเครื่องจักรที่ ถูกเพลิงไหม้ดังกล่าว” ย่อมหมายถึงว่ายกเลิกการแจ้งให้โจทก์ที่ ๑ เรียกเก็บภาษีอากรนั้น เห็นว่า ตามเอกสารหมาย จ. ๑ แผ่นที่ ๒๕ เป็นหนังสือที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีถึงโจทก์ที่ ๑ โดยอ้างถึงหนังสือเอกสารหมาย จ. ๑ แผ่นที่ ๒๖ ลงวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๓๗ และหนังสือที่จำเลยขอยกเว้นภาษีอากรที่ถูกเพลิงไหม้ซึ่งทางสำนักงาน คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้กล่าวอ้างย้อนถึงเรื่องเครื่องจักรที่ถูกเพลิงไหม้ว่าจำเลยไม่ได้ใช้สิทธิและประโยชน์สำหรับการนำเข้าเครื่องจักรดังกล่าวภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนและไม่อยู่ในข่ายที่สำนักงาน คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนจะเรียกเก็บภาษีอากรได้ ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนจึงขอ ยกเลิกการแจ้งให้โจทก์ที่ ๑ เรียกเก็บภาษีอากรสำหรับเครื่องจักรที่ถูกเพลิงไหม้ดังกล่าว เช่นนี้ จึงต้องพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของโจทก์ที่ ๑ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนว่าแต่ละหน่วยงานมีอำนาจหน้าที่อย่างไร ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ชัดว่าทั้งสองหน่วยงานมีอำนาจหน้าที่แตกต่างกัน กล่าวคือ โจทก์ที่ ๑ มีหน้าที่จัดเก็บ ภาษีอากรจากผู้นำสินค้าเข้า ส่วนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีอำนาจหน้าที่ที่จะยกเว้นภาษีอากรให้แก่ผู้นำเข้าตามเงื่อนไขของกฎหมายและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกำหนด แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่จะ จัดเก็บภาษีอากรและไม่มีอำนาจหน้าที่ไปสั่งให้โจทก์ที่ ๑ เก็บภาษีอากร ฉะนั้น การที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีหนังสือถึงโจทก์ที่ ๑ ล่วงเข้าไปสั่งให้โจทก์ที่ ๑ จัดเก็บภาษีอากรจากจำเลยย่อมไม่ชอบ โจทก์ที่ ๑ จะเรียกเก็บหรือไม่เก็บภาษีอากรจากจำเลยในกรณีที่จำเลยถูกยกเลิกการยกเว้นภาษีอากรก็เป็นอำนาจหน้าที่โดยเฉพาะของโจทก์ที่ ๑ เท่านั้น เมื่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเห็นว่าตัวเองไม่มีอำนาจหน้าที่ดังกล่าวจึงทำหนังสือขอยกเลิกเรื่องการที่แจ้งให้โจทก์ที่ ๑ เรียกเก็บภาษีอากรสำหรับเครื่องจักรที่ถูกเพลิงไหม้เท่านั้น หาใช่เป็นเรื่องที่แจ้งยกเลิกการเรียกเก็บภาษีอากรสำหรับเครื่องจักรที่ถูกเพลิงไหม้ดังที่จำเลยเข้าใจไม่ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินภาษีอากรตามฟ้องนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.

Share