คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 582/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อปรากฏว่าคำพยานโจทก์หลายปากขัดกันเป็นข้อพิรุธ อีก ทั้งพยานโจทก์ทุกปากล้วนเป็นผู้ใกล้ชิดกับโจทก์ทั้งสิ้น ไม่มี คนใดพอที่จะถือได้ว่าเป็นพยานคนกลางโดยแท้จริง ประกอบกับเมื่อ พิจารณาลายมือชื่อของ บ. ในพินัยกรรมที่โจทก์อ้างเปรียบเทียบกับลายมือชื่อของ บ. ในเอกสารอื่น ๆ แล้ว จึงเชื่อได้ว่า บ. มิได้ทำพินัยกรรม การยกให้อสังหาริมทรัพย์ จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะสมบูรณ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 โจทก์และจำเลยร่วมเป็นทายาทโดยธรรมของ บ. ย่อมมีสิทธิได้ดอกผลตามส่วนของตนที่มีในบ้านพิพาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1360วรรคสอง แต่คำฟ้องแย้งของจำเลยร่วมเรียกร้องเอาดอกผลของ บ้านพิพาทจากโจทก์เป็นของตนแต่เพียงผู้เดียวทั้งหมด ศาลจะพิพากษา ให้จำเลยร่วมได้รับแต่ส่วนแบ่งในเมื่อทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยร่วมควรได้แต่ส่วนแบ่งเท่าใดก็ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142(2).

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์และจำเลยเป็นบุตรนายบุ้นเล้งหรือกิมเล้งหรือเล้ง แซ่กิม แต่ต่างมารดากัน นายบุ้นเล้งได้ทำพินัยกรรมมอบให้โจทก์เก็บรักษาไว้ 1 ฉบับ ครั้นนายบุ้นเล้งได้ถึงแก่กรรม โจทก์ได้เปิดพินัยกรรมปรากฏว่านายบุ้นเล้งยกบ้านไม้สองชั้นและรถยนต์ 10 ล้อ ให้แก่จำเลย กับยกบ้านไม้ชั้นเดียวและข้าวเปลือกจำนวน 233 เกวียน 22 ถัง ราคาเกวียนละ 3,100 บาทเป็นเงิน 722,982 บาท ให้แก่โจทก์ ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายพินัยกรรมท้ายฟ้อง โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบถึงพินัยกรรมดังกล่าว และขอกุญแจยุ้งข้าวจากจำเลยเพื่อตรวจสอบจำนวนข้าวเปลือก จำเลยไม่ยอมรับรู้พินัยกรรมและอ้างว่าทรัพย์สินเป็นของจำเลยทั้งสิ้น และจำเลยได้จำหน่ายข้าวเปลือกไปแล้ว ขอให้พิพากษาว่า บ้านไม้ชั้นเดียวเลขที่ 24ถนนประธานเมือง ตำบลบางมูลนาก อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตรและข้าวเปลือกจำนวน 233 เกวียน 22 ถัง เป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง ให้จำเลยส่งมอบบ้านไม้ชั้นเดียวดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมด้วยค่าเช่าเดือนละ 500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบและให้จำเลยใช้ราคาข้าวเปลือกเป็นเงิน 722,982 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า บ้านไม้ชั้นเดียวเลขที่ 24 ถนนประธานเมืองตำบลบางมูลนาก อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร นายบุ้นเล้งได้ยกให้แก่นางกี แซ่กิม ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2520 ส่วนข้าวเปลือกที่อยู่ในยุ้งข้าวของนายมานิตย์ ซังฆนาก เป็นของจำเลย มิใช่ทรัพย์ของนายบุ้นเล้ง พินัยกรรมที่โจทก์กล่าวอ้างเป็นพินัยกรรมที่โจทก์กับพวกร่วมกันทำขึ้นโดยลอกเลียนลายมือชื่อนายบุ้นเล้งเป็นพินัยกรรมปลอม พินัยกรรมตกเป็นโมฆะเพราะนายบุ้นเล้งไม่มีทรัพย์ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยแถลงไม่ติดใจเกี่ยวกับบ้านไม้ชั้นเดียวที่พิพาทยอมให้โจทก์เข้าดำเนินการได้เอง ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนายสุพจน์ แซ่กิมหรือกรกีรติ ผู้โต้แย้งสิทธิในบ้านไม้ชั้นเดียวที่พิพาทเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การและฟ้องแย้งว่า บ้านไม้ชั้นเดียวที่พิพาทมิใช่ทรัพย์ที่นายบุ้นเล้งมีอยู่ก่อนตาย หากแต่เป็นทรัพย์ของนางกีแซ่กิม มารดาจำเลยร่วมนางกีถึงแก่กรรมเมื่อปี 2524 บ้านดังกล่าวจึงตกทอดแก่จำเลยร่วมและจำเลยผู้เป็นบุตร พินัยกรรมตามฟ้องเป็นพินัยกรรมปลอม โจทก์ได้นำบ้านไม้ชั้นเดียวที่พิพาทของจำเลยร่วมให้บุคคลภายนอกเช่าเดือนละ 500 บาท นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2529ถึงเดือนมิถุนายน 2529 คิดเป็นเงิน 2,500 บาท ทำให้จำเลยร่วมขาดประโยชน์ที่ควรจะได้รับ ขอให้ยกฟ้อง และให้โจทก์ใช้ค่าเสียหาย2,500 บาท กับค่าเสียหายอีกเดือนละ 500 บาท นับแต่เดือนกรกฎาคม2529 เป็นต้นไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า บ้านไม้ชั้นเดียวที่พิพาทเป็นทรัพย์ของนายบุ้นเล้งซึ่งได้ทำพินัยกรรมยกให้แก่โจทก์ มิใช่ทรัพย์ของนางกีซึ่งตกทอดแก่จำเลยร่วม พินัยกรรมตามฟ้องเป็นพินัยกรรมที่ถูกต้องแท้จริง นางกีถึงแก่กรรมเกินกว่า 1 ปีแล้ว คดีของจำเลยร่วมจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า บ้านเลขที่ 24 ถนนประธานเมืองเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและจำเลยร่วมเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินดังกล่าวให้จำเลยส่งมอบเงิน 722,982 บาท แก่โจทก์ ฟ้องแย้งของจำเลยร่วมให้ยก
จำเลยและจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยและจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยประการแรกว่าพินัยกรรมที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ ฝ่ายโจทก์มีตัวโจทก์ นายณรงค์ แหลกแล้ นายชาญชัย พลรัมย์ และนางสุพัตราสุพรรณบัฎ มาเบิกความว่า นายบุ้นเล้งได้ทำพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.2ขึ้นเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2524 ที่บ้านของโจทก์ มีนายณรงค์นางสุพัตรา ลงชื่อเป็นพยาน และนายชาญชัยลงชื่อเป็นพยานและผู้เขียนนายณรงค์เป็นลูกจ้างขับรถยนต์บรรทุก 10 ล้อ ของโจทก์มาตั้งแต่ปี 2524 จนถึงวันเบิกความ นางสุพัตราเป็นบุตรสาวโจทก์ ส่วนนายชาญชัยในขณะนั้นก็มาชอบพออยู่กับนางสุพัตราและขณะเบิกความเป็นบุตรเขยโจทก์ บุคคลเหล่านี้จึงล้วนแล้วแต่เป็นผู้ใกล้ชิดกับโจทก์ทั้งสิ้น ไม่มีคนใดพอที่จะถือได้ว่าเป็นพยานคนกลางโดยแท้จริงโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า นายบุ้นเล้งซึ่งปกติอยู่ที่บ้านจำเลยได้มาที่บ้านโจทก์ โจทก์เพิ่งทราบว่าจะมีการทำพินัยกรรมในวันนั้น แต่โจทก์เบิกความว่ากระดาษที่ใช้เขียนพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.2 โจทก์ได้เตรียมไว้ก่อนแล้วอยู่ในลิ้นชักโต๊ะที่เขียนพินัยกรรมประมาณ 2-3 แผ่น คำเบิกความของโจทก์จึงขัดกันเป็นพิรุธโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า นายชาญชัยมาที่บ้านโจทก์แล้ว 2 วัน จึงได้มีการทำพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.2 นายชาญชัยเบิกความตอบทนายจำเลยและจำเลยร่วมถามค้านว่า วันที่ 12 สิงหาคม 2524เป็นวันอะไรจำไม่ได้ แต่ก่อนนั้นมีวันหยุด 2 วัน เหตุที่นายชาญชัยเบิกความเช่นนี้เพราะนายชาญชัยอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ส่วนบ้านโจทก์อยู่จังหวัดพิจิตรเมื่อมีวันหยุดราชการติดต่อกัน นายชาญชัยจึงจะไปบ้านโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า วันที่ 10 และ 11 สิงหาคม2524 ตรงกับวันจันทร์และวันอังคารไม่ใช่วันหยุดราชการแต่อย่างใดจึงเป็นข้อพิรุธอีกประการหนึ่ง นางวรรณฤดี ปัทมธนิศร์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกับโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่านายบุ้นเล้งได้จัดสรรแบ่งทรัพย์สินให้แก่บรรดาบุตรโดยจัดการแบ่งเมื่อประมาณ 10 ปีก่อนเบิกความ (พยานเบิกความวันที่24 ตุลาคม 2529) ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5 ที่โจทก์ส่งอ้างเป็นพยานว่า เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2520 ซึ่งเป็นระยะเวลาก่อนนางวรรณฤดีเบิกความ 9 ปี 6 เดือนเศษ นายบุ้นเล้งได้ทำหนังสือมอบบ้านไม้สองชั้นเลขที่ 55 ถนนประธานเมือง อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตรพร้อมด้วยทรัพย์สินในบ้าน และสิทธิการเช่าที่ดินให้แก่จำเลย กับมอบบ้านไม้ชั้นเดียวที่พิพาทพร้อมด้วยทรัพย์สินในบ้านและสิทธิการเช่าที่ดินให้แก่นางกีมารดาจำเลยและจำเลยร่วม แสดงว่า นายบุ้นเล้งได้จัดแบ่งทรัพย์สินของตนให้แก่นางกีภรรยาและบุตรทั้งหลายตั้งแต่ปี 2520 แล้วจึงไม่น่าจะต้องมาทำพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.2 อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านไม้สองชั้นเลขที่ 55 และสิทธิการเช่าที่ดินที่นายบุ้นเล้งทำหนังสือหมาย จ.5 มอบให้แก่จำเลยนั้น นายบุ้นเล้งได้มีหนังสือลงวันที่ 21 ตุลาคม 2524 ถึงนายอำเภอบางมูลนากขอยกกรรมสิทธิ์บ้านไม้สองชั้นดังกล่าวและขอโอนสิทธิการเช่าที่ดินให้แก่จำเลยตามเอกสารหมาย ล.9 ดังนั้นนายบุ้นเล้งไม่น่าที่จะมาทำพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.2 ในวันที่ 12 สิงหาคม 2524 ก่อนหน้าวันทำเอกสารหมาย ล.9 เพียง 2 เดือน 9 วัน ให้เป็นการซ้ำซ้อนกัน ทั้งเมื่อพิจารณาลายมือชื่อของนายบุ้นเล้งในพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.2เปรียบเทียบกับที่นายบุ้นเล้ง ได้ลงลายมือชื่อไว้ในเอกสารฉบับอื่น ๆที่โจทก์จำเลยและจำเลยร่วมต่างอ้างว่าเป็นลายมือชื่อของนายบุ้นเล้งที่ถูกต้องแล้ว เห็นว่า ลายมือชื่อที่โจทก์อ้างว่าเป็นของนายบุ้นเล้งตามเอกสารหมาย จ.3 และจ. 4 เป็นอักษรภาษาจีน 3 ตัวและ 4 ตัว ส่วนที่จำเลยอ้างว่าเป็นลายมือชื่อของนายบุ้นเล้งตามเอกสารหมาย ล.7 ล.10 ล.12 จ.5 ล.11 ล.9 และ ล.8 เป็นอักษรภาษาจีน4 ตัว เอกสารดังกล่าวเว้นแต่เอกสารหมาย จ.5 เป็นเอกสารที่ทำต่อส่วนราชการและธนาคาร จึงเชื่อได้ว่า เป็นลายมือชื่อของนายบุ้นเล้งที่แท้จริง ส่วนเอกสารหมาย จ.5 นั้น โจทก์ก็ส่งอ้างเป็นพยานเองเท่ากับยอมรับว่าเป็นเอกสารที่ถูกต้อง เชื่อได้ว่า เป็นลายมือชื่อของนายบุ้นเล้งที่แท้จริงเช่นเดียวกัน แสดงว่า นายบุ้นเล้งลงลายมือชื่อโดยใช้อักษรภาษาจีน 3 ตัว และ 4 ตัว ตามเอกสารหมาย จ.3และ จ.4 กับใช้อักษรภาษาจีน 4 ตัว ตามเอกสารหมาย ล.7 และ ล.10สลับกันมาก่อน เอกสารฉบับสุดท้ายที่กล่าวมาคือเอกสารหมาย จ.4ซึ่งใช้อักษรภาษาจีน 3 ตัว และ 4 ตัว ทำขึ้นเมื่อวันที่ 18 กันยายน2507 และวันที่ 25 สิงหาคม 2508 ขณะนายบุ้นเล้งมีอายุ 62 ปี และ63 ปี ตามลำดับ ลักษณะของการเขียนลายเส้นเรียบ ต่อจากนั้นนายบุ้นเล้งได้ลงลายมือชื่อโดยใช้อักษรภาษาจีน 4 ตัว มาโดยตลอดตามเอกสารหมาย ล.12 ทำขึ้นเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2519 ขณะมีอายุ74 ปี เอกสารหมาย จ.5 ทำขึ้นเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2520 อายุ 75 ปีเอกสารหมาย ล.11 ทำขึ้นเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2520 อายุ 75 ปีเอกสารหมาย ล.9 ทำขึ้นเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2524 อายุ 79 ปีและเอกสารหมาย ล.8 ทำขึ้นเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2525 อายุ 80 ปีจะเห็นได้ว่า ตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2519 มาจนถึงวันที่22 ตุลาคม 2525 นายบุ้นเล้งลงลายมือชื่อโดยใช้อักษรภาษาจีน 4 ตัวมาโดยตลอด ลักษณะของการเขียนตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2519ตามเอกสารหมาย ล.12 ลายเส้นไม่เรียบ แสดงถึงความมีอายุของผู้เขียนซึ่งในขณะนั้นนายบุ้นเล้งมีอายุถึง 74 ปี แล้ว และปรากฏลักษณะเช่นเดียวกันนี้ ต่อมาตามเอกสารหมาย จ.5 และ ล.11 ซึ่งเขียนในขณะมีอายุ 75 ปี พินัยกรรมเอกสารหมาย จ.2 ทำขึ้นเมื่อวันที่ 12สิงหาคม 2524 ขณะนั้นนายบุ้นเล้งมีอายุมากขึ้นอีกถึง 79 ปีลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมที่ลงไว้กลับใช้อักษรภาษาจีน 3 ตัวต่างไปจากที่ใช้ 4 ตัวมาตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2519 และลายเส้นที่ปรากฏเป็นลายเส้นเรียบแตกต่างไปจากที่ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.12จ.5 และ ล.11 อย่างเห็นได้ชัด ยิ่งกว่านั้นถ้าได้เปรียบเทียบลักษณะของการเขียนตามเอกสารหมาย ล.9 ซึ่งทำขึ้นหลังจากวันที่ลงในพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.2 เพียง 2 เดือน 9 วัน จะเห็นความแตกต่างกันได้ชัด กล่าวคือ ลายเส้นแสดงถึงอาการสั่นของมืออย่างเห็นได้ชัด สมกับที่นายบุ้นเล้งมีอายุมากถึง 79 ปี นอกจากนี้ตามเอกสารหมาย ล.8 ที่นายบุ้นเล้งทำขึ้นเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2525ในปีต่อมาขณะมีอายุ 80 ปี ลายเส้นยิ่งแสดงถึงอาการสั่นของมือมากขึ้น เมื่อประมวลเหตุผลตามที่กล่าวมาเข้าด้วยกันแล้ว ศาลฎีกาเชื่อว่า นายบุ้นเล้งมิได้ทำพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.2 โจทก์จึงไม่มีสิทธินำพินัยกรรมดังกล่าวมาฟ้องเรียกร้องเอาข้าวเปลือกหรือเงินค่าขายข้าวเปลือกและบ้านไม้ชั้นเดียวที่พิพาทจากจำเลยและจำเลยร่วม คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมว่าข้าวเปลือกที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายบุ้นเล้งหรือไม่ต่อไปฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมในปัญหาข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนปัญหาที่ว่า บ้านไม้ชั้นเดียวที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนางกีซึ่งโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับมรดก อันจะทำให้จำเลยร่วมมีสิทธิฟ้องแย้งเรียกค่าขาดประโยชน์จากโจทก์ในการที่โจทก์นำไปให้บุคคลภายนอกเช่าหรือไม่นั้น เห็นว่า แม้จะได้ความตามที่โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยร่วมถามค้านว่า หลังจากที่นายบุ้นเล้งและนางกีอยู่กินกันที่บ้านไม้สองชั้นเลขที่ 55 ได้ประมาณ 20 ปีแล้วนายบุ้นเล้งก็มาซื้อบ้านไม้ชั้นเดียวที่พิพาท ซึ่งถือได้ว่าบ้านไม้ชั้นเดียวที่พิพาทนี้นายบุ้นเล้งและนางกีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน และแม้จะได้ความว่า นายบุ้นเล้งได้ทำหนังสือยกกรรมสิทธิ์ส่วนของตนให้แก่นางกีตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2520ตามเอกสารหมาย จ.5 ก็ตาม แต่บ้านไม้ชั้นเดียวที่พิพาทเป็นอสังหาริมทรัพย์ หาใช่เป็นสังหาริมทรัพย์ดังที่จำเลยร่วมกล่าวอ้างมาในฎีกาไม่ เพียงแต่ไม่เป็นส่วนควบกับที่ดินที่เช่าเท่านั้น การให้บ้านไม้ชั้นเดียวที่พิพาทเฉพาะส่วนกรรมสิทธิ์ของนายบุ้นเล้งจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 โจทก์เข้าแย่งการครอบครองบ้านไม้ชั้นเดียวที่พิพาทเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2529 ดังนั้นนางกีและจำเลยร่วมจึงครอบครองบ้านไม้ชั้นเดียวที่พิพาทเฉพาะส่วนของนายบุ้นเล้งติดต่อกันไม่ครบเวลาสิบปี จึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382บ้านไม้ชั้นเดียวที่พิพาทเฉพาะส่วนของนายบุ้นเล้งจึงตกทอดได้แก่ทายาทโดยธรรมของนายบุ้นเล้ง ซึ่งมีโจทก์และจำเลยร่วมเป็นทายาทโดยธรรมรวมอยู่ด้วย โจทก์และจำเลยร่วมย่อมมีสิทธิได้ดอกผลตามส่วนของตนที่มีในบ้านไม้ชั้นเดียวที่พิพาทนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1360 วรรคสอง ตามคำฟ้องแย้งของจำเลยร่วมเรียกร้องเอาดอกผลของบ้านไม้ชั้นเดียวที่พิพาทจากโจทก์เป็นของตนแต่เพียงผู้เดียวทั้งหมดซึ่งศาลจะพิพากษาให้จำเลยร่วมได้รับแต่ส่วนแบ่งในเมื่อทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยร่วมควรได้แต่ส่วนแบ่งเท่าใดก็ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(2)แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามทางพิจารณายังไม่ได้ความชัดแจ้งว่าทายาทโดยธรรมของนางกีและนายบุ้นเล้งแต่ละฝ่ายนั้นมีจำนวนที่ถูกต้องฝ่ายละกี่คน และค่าเช่าที่ดินที่บ้านไม้ชั้นเดียวที่พิพาทปลูกอยู่จะต้องเสียเดือนละเท่าใด อันจะนำมาคำนวณส่วนได้ในดอกผลที่จำเลยร่วมมีส่วนได้รับได้ ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยร่วมได้รับแต่ส่วนแบ่งในชั้นนี้ได้”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องและให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยร่วมเสียโดยไม่ตัดสิทธิจำเลยร่วมที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ.

Share