แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คำว่า “สภาพแห่งข้อหา” ที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 172วรรคสอง หมายถึงเหตุหรือสิทธิของโจทก์ที่ขอให้ศาลบังคับเอาแก่จำเลยว่า โจทก์มีเหตุหรือสิทธิอย่างไรเหนือจำเลย โจทก์อ้างนิติกรรมคือสัญญาเป็นเหตุแห่งข้ออ้างเพื่อบังคับจำเลย โดยบรรยายโดยแจ้งชัดแล้วว่า สภาพแห่งข้อหาคือ ยืม และได้บรรยายต่อไปถึงทรัพย์สินที่ยืมโดยละเอียดพอสมควรที่จำเลยจะเข้าใจได้ทั้งโจทก์ก็มิได้ฟ้องเรียกทรัพย์คืน หากแต่ฟ้องเรียกราคาทรัพย์ที่มีการตกลงกันไว้ในการยืมแล้วเป็นจำนวนแน่นอน โจทก์จึงหาต้องบรรยายรายละเอียดให้มากกว่านี้ไม่ ส่วนที่โจทก์มิได้ขอให้จำเลยคืนทรัพย์ซึ่งยืมไป โจทก์ก็มีสิทธิขอได้ คำขอของโจทก์แจ้งชัดแล้วหากบังคับจำเลยไม่ได้ ศาลก็ไม่บังคับให้ หาใช่เรื่องเคลือบคลุมไม่ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนกันยายน 2525 จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นสามีของจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 2 มาขอยืมทองรูปพรรณพร้อมเครื่องประดับจำนวนหนึ่ง โจทก์ได้ส่งมอบสิ่งของดังกล่าวให้กับจำเลยที่ 2 ยืมไป แล้วจำเลยที่ 2 ได้เขียนบันทึกไว้ให้โจทก์ มีสาระสำคัญว่าจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือรับรองจำเลยที่ 2ให้ร่วมกันมาขอยืมสิ่งของดังกล่าวไปจากโจทก์โดยกำหนดราคาสิ่งของทั้งหมดเป็นเงิน 53,000 บาท จะนำมาคืนให้โจทก์ภายในสิ้นเดือนกันยายน 2526 เมื่อถึงกำหนดจำเลยไม่นำมาคืนให้จะชำระเงินจำนวน53,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ต่อมาเมื่อครบกำหนด จำเลยทั้งสองก็ไม่ได้นำสิ่งของที่ยืมไปมาคืน และไม่ชำระราคาสิ่งของแก่โจทก์ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันแทนกันชำระเงินจำนวน 53,000บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยไม่เคยยืมทองคำรูปพรรณพร้อมเครื่องประดับตามฟ้องจากโจทก์ ความจริงจำเลยซื้อทองคำรูปพรรณไปจากโจทก์ในราคา 53,000 บาท โดยซื้อเชื่อและชำระราคาเป็นงวด ๆตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน 2525 ซึ่งจำเลยได้ชำระให้โจทก์เสร็จสิ้นแล้ว ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและคดีโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน53,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม เพราะโจทก์มิได้บรรยายถึงรายละเอียดของทองรูปพรรณที่จำเลยทั้งสองยืมไปว่า จำนวนทองรูปพรรณมีจำนวนกี่เส้น น้ำหนักเส้นละเท่าใด แต่ละเส้นราคาเท่าใด และเป็นทองรูปพรรณชนิดใดบ้างอย่างละเท่าใด กับเครื่องประดับอื่น ๆ มีอะไรบ้าง ส่วนคำขอท้ายฟ้องนั้นจำเลยฎีกาว่า โจทก์มิได้มีคำขอให้จำเลยคืนทรัพย์ซึ่งยืมไปนั้นกลับมีคำขอให้จำเลยใช้ราคาทรัพย์แทน คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่มิได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ จึงเป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุมไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นศาลฎีกาเห็นว่าคำว่าสภาพแห่งข้อหาดังบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง หมายความถึงเหตุหรือสิทธิของโจทก์ที่ขอให้ศาลบังคับเอากับจำเลยนั้นว่า โจทก์มีเหตุหรือสิทธิอย่างไรเหนือจำเลย สำหรับคดีนี้โจทก์อ้างนิติกรรมคือสัญญาเป็นเหตุเป็นข้ออ้างเพื่อบังคับจำเลย โดยบรรยายโดยแจ้งชัดแล้วว่าสภาพแห่งข้อหาคือ ยืม และได้บรรยายต่อไปถึงทรัพย์สินที่ยืมโดยละเอียดพอสมควรที่จำเลยควรเข้าใจได้ดีอยู่แล้ว อีกประการหนึ่งโจทก์มิได้ฟ้องเรียกทรัพย์คืนหากแต่ฟ้องแรียกราคาทรัพย์ที่ได้มีการตกลงกันไว้ในการยืมแล้วเป็นจำนวนแน่นอน โจทก์จึงหาจำเป็นต้องบรรยายรายละเอียดให้มากกว่านี้ไม่ ส่วนที่จำเลยอ้างว่าโจทก์มิได้ขอให้จำเลยคืนทรัพย์ซึ่งยืมไปจึงเป็นคำขอไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่าคำขอบังคับของโจทก์นั้นโจทก์จะขอให้บังคับจำเลยอย่างใดตามที่โจทก์เห็นว่าโจทก์มีสิทธิโจทก์ย่อมขอได้ คำขอของโจทก์แจ้งชัดแล้ว หากบังคับจำเลยไม่ได้ศาลก็ไม่บังคับให้หาใช่เรื่องเคลือบคลุมไม่ ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุมชอบแล้ว…”
ข้อที่จำเลยฎีกาว่า ทองคำรูปพรรณหนัก 10 บาท กับเครื่องประดับอื่น ๆ ราคา 53,000 บาทนั้น จำเลยมิได้ยืมจากโจทก์แต่จำเลยได้ซื้อจากโจทก์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันรับเอกาทองคำรูปพรรณหนัก 10 บาท ราคา 53,000 บาท ไปจากโจทก์จริงตามเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งศาลฎีกาตรวจพิจารณาเอกสารหมาย จ.2 แล้วเห็นว่าเอกสารหมาย จ.2 มิได้มีข้อความโดยแจ้งชัดว่าเป็นการยืมหรือซื้อขายจำเป็นต้องวินิจฉัยพยานและเหตุผลอื่น ๆ ประกอบซึ่งได้ความจากคำเบิกความของจำเลยทั้งสองว่า โจทก์เคยฝากถ้วยชามทัพเปอร์แวร์ให้จำเลยขาย แล้วต่อมาโจทก์บอกให้จำเลยเอาทองคำไปขายบ้างโจทก์จะให้เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหมายความว่าโจทก์จะให้ผลประโยชน์แก่จำเลยตามราคาทองคำที่ขายได้ การที่โจทก์ฝากถ้วยชามหรือทองคำให้จำเลยขายเช่นนี้ย่อมไม่ใช่โจทก์ขายถ้วยชามหรือทองคำแก่จำเลย การที่จำเลยรับทองคำไปจากโจทก์จึงไม่เป็นการซื้อทองคำจากโจทก์ ซึ่งโจทก์และนางสาวนฤวรรณ แซ่ลี้ พยานโจทก์ต่างเบิกความยืนยันว่าจำเลยยืมทองคำไปจากโจทก์โดยไม่มีข้อพิรุธและแตกต่างกันแต่อย่างใดต่างกับพยานจำเลยซึ่งเบิกความต่างกับพฤติการณ์ที่ได้ปฏิบัติต่อกันมาก่อนเกิดเหตุคดีนี้ จึงต้องฟังดังโจทก์ฟ้องและนำสืบ ศาลล่างทั้งสองฟังว่าจำเลยทั้งสองยืมทองรูปพรรณจากโจทก์ชอบแล้ว…”
จำเลยทั้งสองคงฎีกาต่อไปอีกว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความ เพราะเป็นคดีเกี่ยวกับการซื้อขายซึ่งมีอายุความ 2 ปี แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าคดีของโจทก์เป็นคดีว่าด้วยเรื่องยืม ซึ่งมีอายุความ 10 ปีคดีของโจทก์จึงหาขาดอายุความไม่…”
พิพากษายืน.