คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 582/2528

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

รายได้ที่โจทก์ได้รับจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเป็นค่าเช่าอันเนื่องมาจากโจทก์เอารถยนต์โดยสารปรับอากาศของตนให้องค์การฯเช่าใช้ในการขนส่งประจำทาง ซึ่งเป็นการให้เช่าตัวทรัพย์มิใช่ให้เช่าบริการรายได้ดังกล่าวจึงเป็นรายได้จากการให้เช่าทรัพย์สินซึ่งมิใช่อสังหาริมทรัพย์ตามประเภทการค้า 5 หาใช่รายรับจากการประกอบการขนส่งตามประเภทการค้า 8 ตามบัญชีอัตราภาษีการค้าไม่

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีการค้าของจำเลยและให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับยกฟ้องโจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันฟังได้ว่า โจทก์ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งสาธารณะด้วยรถยนต์ มีสิทธิขนส่งบุคคลและสิ่งของโดยไม่จำกัดเส้นทาง มีสิทธิเก็บค่าพาหนะเป็นรายบุคคลหรือรับจ้างเหมาเป็นรายคัน โจทก์เคยเสียภาษีการค้าประเภทการค้า 8 ว่าด้วยการขนส่งด้วยรถยนต์ ตามเอกสารหมาย จ.14ต่อมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2516 โจทก์ได้ยื่นแบบแสดงภาษีดังที่เคยปฏิบัติแต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ชี้แจงว่า ไม่ต้องเสียภาษี เพราะได้มีพระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 43/2516 ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2516 ให้ยกเว้นภาษีการค้า ตามประเภทการค้า 8 ของบัญชีอัตราภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากรแล้ว โจทก์จึงไม่ได้เสียภาษีอีกเลย เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2519 โจทก์และบริษัทมหานครขนส่ง จำกัด ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้ทำหนังสือสัญญาเช่ารถโดยสารปรับอากาศทั้ง 30 คันของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.11 หรือ ล.7 มีสาระสำคัญว่า โจทก์ตกลงให้เช่ารถของโจทก์เป็นรายวัน ค่าเช่าวันละ 1,530 บาทต่อคัน โดยวิ่งตามระยะทางที่กำหนดและวิ่งวันละ 7 ถึง 8 เที่ยว ถ้าวิ่งไม่ถึง 7 หรือ 8 เที่ยว ค่าเช่าอาจลดลง ในการเช่านี้ โจทก์ต้องจัดการหาคนขับรถเองรับผิดชอบในความเสียหาย การซ่อมแซมและจัดหาน้ำมันหล่อลื่น ตลอดจนประกันภัยของตนเองด้วย ส่วนองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เป็นผู้จัดหาหรือเติมน้ำมันเชื้อเพลิงและเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสารเอง ถ้ารถที่เช่ามีรายได้เฉลี่ยเกินวันละ 2,500 บาทต่อคัน ผู้เช่าจะพิจารณาเพิ่มค่าเช่าให้แต่ถ้ามีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าวันละ 1,500 บาทต่อคัน ก็จะพิจารณาลดค่าเช่าลง ต่อมาพนักงานของจำเลยที่ 1 เห็นว่าค่าเช่าที่โจทก์ได้รับจากการนี้เป็นรายรับจากการให้เช่าทรัพย์สินที่มิใช่อสังหาริมทรัพย์ โจทก์จะต้องเสียภาษีการค้าตามประเภทการค้า 5 โจทก์ได้มอบหมายให้นางผานิต พูนศิริวงศ์ เป็นตัวแทนไปชี้แจงต่อกรมสรรพากร ตามเอกสารหมาย ล.3 และ ล.4 เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้สอบสวนนางผานิต พูนศิริวงศ์ ไว้ตามเอกสารหมาย ล.1 ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2522 เจ้าพนักงานประเมินได้มีแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้า สำหรับรายรับจากการให้เช่าทรัพย์สินที่มิใช่อสังหาริมทรัพย์ ของปี พ.ศ. 2518 ถึง 2521 เลขที่ 1083/3/02130, 1038/3/02131, 1038/3/02132 และ 1038/3/02133 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2522 ไปยังโจทก์ ให้โจทก์เสียภาษีการค้า เบี้ยปรับ เงินเพิ่มและภาษีบำรุงเทศบาลรวมเป็นเงินที่สี่ล้านบาทเศษ ตามเอกสารหมาย จ.16 โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ของดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ตามเอกสารหมาย จ.17 และนำเงินไปชำระค่าภาษีจำนวน 1,404,050 บาท 10 สตางค์ ตามเอกสารหมาย จ.18 แล้ว ส่วนเบี้ยปรับและเงินเพิ่มโจทก์ยังไม่ชำระ แล้วโจทก์ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตามเอกสารหมาย จ.20 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์มีรายรับจากการค้าประเภทการค้า 5 แต่ลดเบี้ยปรับให้ร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมายและลดภาษีบำรุงเทศบาลให้ตามส่วนของเบี้ยปรับที่ลดลง ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์สี่ฉบับเอกสารหมาย จ.21 แจ้งไปยังโจทก์ให้เสียภาษีการค้า เบี้ยปรับเงินเพิ่มและภาษีบำรุงเทศบาลรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,878,005 บาท 72 สตางค์

มีปัญหาว่า รายรับที่โจทก์ได้รับจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเป็นรายรับจากการให้เช่าทรัพย์สินซึ่งมิใช่อสังหาริมทรัพย์ อันเป็นการประกอบการค้าประเภทการค้า 5 หรือเป็นรายรับจากการประกอบการขนส่งอันเป็นการประกอบการค้าประเภทการค้า 8 ตามบัญชีอัตราภาษีการค้าในประมวลรัษฎากร พิเคราะห์แล้ว โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ประกอบการค้าโดยได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งสาธารณะด้วยรถยนต์ตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2497 โจทก์มีสิทธิทำการลำเลียงหรือเคลื่อนย้ายบุคคลด้วยเครื่องอุปกรณ์การขนส่งเพื่อสินจ้างโดยไม่จำกัดเส้นทาง โดยมีสิทธิเก็บค่าจ้างทำการขนส่งเป็นการเหมาตามระยะทางได้ ตามที่อธิบดีกรมการขนส่งกำหนดในประกาศลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2506 รายรับพิพาทเป็นรายรับ เนื่องจากการประกอบการค้าตามใบอนุญาตต่าง ๆ ที่ได้รับจากทางราชการโดยชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2497 จึงถือเป็นรายรับเนื่องจากการประกอบการค้าประเภทขนส่งทั้งสิ้น ศาลฎีกาเห็นว่าพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ. 2519 ซึ่งออกตามความในมาตรา 192 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. 2896 บัญญัติไว้ในมาตรา 6 ว่า “องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ (1) ประกอบการขนส่งบุคคลในกรุงเทพมหานคร (2) ฯลฯ ” ประกอบกับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ว่า”เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ในกรุงเทพมหานครต้องโดยสารรถประจำทาง จึงจำเป็นที่จะต้องจัดระบบการขนส่งโดยรถประจำทางในกรุงเทพมหานครให้ดำเนินไปโดยมีประสิทธิภาพและมีระเบียบเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรคับคั่งและเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกยิ่งขึ้นในการจัดระบบการขนส่งดังกล่าว สมควรรัฐจะเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบในการจัดทำฯลฯ” ตามบทบัญญัติแห่งพระราชกฤษฎีกาและเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเห็นได้ว่า การขนส่งบุคคลในกรุงเทพมหานครโดยรถประจำทางนั้น เป็นอำนาจและหน้าที่ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเป็นผู้ดำเนินการ โจทก์ไม่มีสิทธินำรถยนต์ของโจทก์มาวิ่งบริการรับส่งบุคคลในกรุงเทพมหานครตามเส้นทางที่กำหนด อันเป็นการขนส่งประจำทางตามพระราชบัญญัติการขนส่ง โจทก์เพียงแต่เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งสาธารณะด้วยรถยนต์ตามใบอนุญาตเอกสารหมาย จ.5 เท่านั้นหามีสิทธิประกอบการขนส่งประจำทางไม่ ทั้งในหนังสือสัญญาเช่ารถโดยสารปรับอากาศ เอกสารหมาย จ.11 หรือ ล.7 ก็ไม่มีข้อความระบุเป็นทำนองให้โจทก์เข้าร่วมกับบริษัทมหานครขนส่ง จำกัด ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ บริหารงานบริการรับส่งคนโดยสารแต่อย่างใดฉะนั้น รายได้จากค่าโดยสารซึ่งถือว่าเป็นรายได้จากการบริการขนส่งประจำทางนั้น จึงเป็นขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพแต่ผู้เดียว ส่วนรายได้ที่โจทก์ได้รับจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ตามหนังสือสัญญาเช่ารถโดยสารปรับอากาศเอกสารหมาย จ.11 หรือ ล.7 จึงเป็นค่าเช่าอันเนื่องมาจากโจทก์เอารถยนต์โดยสารปรับอากาศของตนให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเช่าใช้ในการขนส่งประจำทาง ซึ่งเป็นการให้เช่าตัวทรัพย์มิใช่ให้เช่าบริการดังที่โจทก์เข้าใจรายได้ดังกล่าวจึงเป็นรายได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน ซึ่งมิใช่อสังหาริมทรัพย์ ตามประเภทการค้า 5 หาใช่รายรับจากการประกอบการขนส่งตามประเภทการค้า 8 ไม่

ที่โจทก์ฎีกาว่า การเช่าทรัพย์ต้องมีการส่งมอบการครอบครองด้วย แต่กรณีพิพาทในคดีนี้ เอกสารสัญญาเช่า (จ.11) ข้อ 2 ข้อ 8 และข้อ 10 ผู้เช่าไม่ได้ครอบครองรถและไม่ได้ควบคุมรถยนต์ แต่ผู้ให้เช่ามีหน้าที่จัดหาพนักงานขับรถมีหน้าที่ควบคุมดูแลพนักงานให้ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้เช่าผู้ให้เช่าเป็นผู้นำรถยนต์ไปรับส่งผู้โดยสารตามเส้นทางและจำนวนเที่ยวที่กำหนด ต้องรับผิดในเรื่องน้ำมัน การประกันภัย และความเสียหายอื่น ๆ ด้วย ลักษณะรายได้ของโจทก์จึงไม่ใช่การให้เช่าทรัพย์สิน พิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 537 บัญญัติว่า “อันว่าการเช่าทรัพย์สินนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้เช่า ตกลงให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้เช่า ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด และผู้เช่าตกลงจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น” เห็นได้ว่า สาระสำคัญแห่งการเช่าทรัพย์สินอยู่ที่ผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าและผู้ให้เช่าได้รับค่าเช่าเป็นการตอบแทนพิเคราะห์หนังสือสัญญาเช่ารถโดยสารปรับอากาศเอกสารหมาย จ.11 หรือ ล.7 แล้ว แม้สัญญาข้อ 9 จะระบุว่าผู้ให้เช่ามีหน้าที่จัดหาพนักงานขับรถก็ตาม แต่สัญญาข้อ 5 ก็ระบุไว้โดยชัดแจ้งว่าผู้เช่าเป็นผู้จ่ายเบี้ยเลี้ยงและเงินเดือนพนักงานขับรถ เมื่อเป็นเช่นนี้ พนักงานขับรถจึงเป็นลูกจ้างของผู้เช่า อีกทั้งสัญญาข้อ 10 ระบุว่า ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ควบคุมดูแลพนักงานขับรถให้ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบวินัย และคำสั่งของผู้เช่าทุกประการ แสดงว่าผู้เช่ามีอำนาจสั่งผู้ให้เช่าและพนักงานขับรถให้ปฏิบัติตามคำสั่งในการนำรถยนต์โดยสารปรับอากาศที่เช่าออกบริการรับส่งผู้โดยสารตามเส้นทางที่กำหนด อันเป็นหน้าที่ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพผู้เช่าตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ จึงถือได้ว่าพนักงานขับรถได้ครอบครองใช้รถโดยสารปรับอากาศที่เช่าจากโจทก์แทนองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพผู้เช่าได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าตามบทบัญญัติมาตรา 537 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว แม้หนังสือสัญญาเช่ารถโดยสารปรับอากาศเอกสารหมาย จ.11 หรือ ล.7 จะมีข้อความกำหนดหน้าที่บางประการให้เป็นหน้าที่ของโจทก์ผู้ให้เช่าเช่น สัญญาข้อ 6 ระบุให้ผู้ให้เช่ารับผิดชอบในความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดจากการใช้รถที่เช่า รวมทั้งความเสียหายอันเกิดจากอุบัติเหตุและเหตุสุดวิสัยเป็นต้นสัญญาข้อ 8 ระบุให้ผู้ให้เช่ารับภาระน้ำมันหล่อลื่นและอุปกรณ์อื่น ๆ รวมทั้งการซ่อมและการบำรุงตามปกติด้วย และสัญญาข้อ 12 ระบุให้ผู้ให้เช่าต้องจัดการให้มีการประกันภัยเพื่อคุ้มครองการเกิดอุบัติเหตุโดยผู้ให้เช่าเป็นผู้ชำระค่าเบี้ยประกันภัย ข้อตกลงต่าง ๆ ดังกล่าวแม้จะเป็นการเพิ่มหน้าที่ของผู้ให้เช่าคือโจทก์ นอกเหนือไปจากหน้าที่ของผู้ให้เช่าตามกฎหมายกำหนดไว้ก็ตาม เมื่อข้อตกลงนั้นเกิดขึ้นด้วยความสมัครใจของคู่สัญญาและไม่ขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแล้วข้อตกลงดังกล่าวก็ย่อมมีผลบังคับและหาเป็นเหตุให้ลักษณะแห่งสัญญาเช่าเปลี่ยนแปลงไปเป็นการรับจ้างขนส่งดังโจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้องไม่ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share