คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5815/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พยานหลักฐานเอกสารและพยานบุคคลที่ผู้ร้องนำมาสืบเพื่อสนับสนุนว่าผู้ร้องได้สัญชาติไทยโดยการเกิดในราชอาณาจักรไทย ไม่อาจนำมายืนยันได้ว่านาง ซ.เป็นคนเดียวกับนางส.และนางซ. เป็นมารดาของเด็กชาย จ. ซึ่งผู้ร้องอ้างว่าผู้ร้องเป็นคนเดียวกับเด็กชาย จ. เมื่อพยานหลักฐานของผู้ร้องไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังได้ ผู้ร้องจึงไม่ได้ สัญชาติไทยโดยการเกิด

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นบุตรของนายเป็งกิม แซ่จูและนางซิเหี่ยงหรือเสียมฮวย แซ่ลี้ บิดาและมารดาของผู้ร้องเป็นคนต่างด้าว สัญชาติจีน ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ถาวรในราชอาณาจักรไทย ผู้ร้องจึงได้สัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2504 ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นคนมีสัญชาติไทยตามกฎหมาย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องมิใช่บุตรของนายเป็งกิม แซ่จูและนางเลียงฮวยหรือเลียะฮวย ผู้ร้องเป็นคนต่างด้าวมีชื่อว่าซิหมิง จู เชื้อชาติจีน สัญชาติจีนและหลบหนีอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2530 ต่อมาเมื่อปี 2537 ผู้ร้องขอหนังสือเดินทางสถานเอกอัครราชทูตประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทยแล้วเดินทางไปราชอาณาจักรกัมพูชาเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2537 เดินทางกลับมาประเทศไทยด้วยหนังสือเข้าเมืองชนิดผ่านแดน เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2537 พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองอนุญาตให้ผู้ร้องอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 13 มกราคม 2538 ก่อนครบกำหนดผู้ร้องมีเจตนาจะไม่ออกจากราชอาณาจักรไทย จึงยื่นคำขอพิสูจน์สัญชาติต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ปรากฏว่าพยานหลักฐานไม่พอรับฟังได้ว่าผู้ร้องเกิดในราชอาณาจักรหรือมีสัญชาติไทยตามที่อ้าง จึงมีคำสั่งยกคำขอของผู้ร้องเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2538 การที่ผู้ร้องเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยหนังสือเข้าเมืองชนิดผ่านแดนว่าเป็นคนสัญชาติจีน ขอเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเพียงชั่วคราวเพื่อผ่านแดน เท่ากับเป็นการยอมรับว่าผู้ร้องเป็นคนสัญชาติจีนผู้ร้องจึงมาร้องขอต่อศาลเพื่อพิสูจน์สัญชาติไม่ได้ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้ผู้ร้องใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์1,500 บาท แทนผู้คัดค้าน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อปี 2537 ผู้ร้องเดินทางจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามาในประเทศไทยโดยถือหนังสือเดินทางประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามสำเนาหนังสือเดินทางเอกสารหมาย ร.3 หรือ รค.5 ระบุชื่อผู้ถือหนังสือเดินทางว่าจู ซิหมิง เพศชาย เกิดวันที่ 18 มิถุนายน 2488 สถานที่เกิดประเทศไทย ตามคำแปลเอกสารหมาย รค.5 แผ่นที่ 9 ต่อมาวันที่21 ธันวาคม 2537 ผู้ร้องได้ยื่นคำขอพิสูจน์สัญชาติต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองกรุงเทพมหานครว่า ผู้ร้องเป็นคนมีสัญชาติไทยตามกฎหมาย ตามสำเนาคำขอพิสูจน์สัญชาติเอกสารหมายรค.1 เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2538 กรมตำรวจได้พิจารณาพยานหลักฐานของผู้ร้องและสอบสวนพยานบุคคลแล้ว เห็นว่า ยังไม่พอรับฟังได้ว่า ผู้ร้องเป็นบุคคลเกิดในราชอาณาจักรหรือมีสัญชาติไทยตามที่อ้าง จึงให้ยกคำร้องและแจ้งให้ผู้ร้องทราบเมื่อวันที่23 มิถุนายน 2538 ตามสำเนาบันทึกข้อความและสำเนาหนังสือแจ้งผลการขอตรวจพิสูจน์สัญชาติเอกสารหมาย รค.9 และ รค.10 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาผู้ร้องว่า ผู้ร้องได้สัญชาติไทยโดยการเกิดในราชอาณาจักรไทยหรือไม่ ในปัญหานี้ผู้ร้องนำสืบโดยมีผู้ร้องเบิกความว่า ผู้ร้องชื่อภาษาจีนว่าจู ซิหมิง เป็นบุตรของนายเป็งกิม แซ่จู และนางซิเหี่ยงหรือเสี่ยมฮวย แซ่ลี้เกิดวันที่ 7 พฤศจิกายน 2489 ที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่ายกรุงเทพมหานคร ตามสำเนาใบแจ้งความสูติบัตรเอกสารหมาย ร.1ซึ่งขณะนั้นบิดามารดาพยานเป็นคนสัญชาติจีนได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยอย่างถาวร ตามสำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของมารดาผู้ร้องเอกสารหมาย ร.2 ส่วนของบิดาผู้ร้องสูญหายไปเมื่อปี 2496 บิดามารดา น้องสาวผู้ร้องและผู้ร้องได้เดินทางไปอยู่ประเทศจีนที่เมืองกวางเจา ผู้ร้องเรียนหนังสืออยู่ที่นั่นจนจบแพทย์ประกอบอาชีพเป็นแพทย์จีนอยู่ที่เมืองกวางเจาตลอดมาจนปี 2521บิดาพยานถึงแก่กรรม และในปี 2537 พยานเดินทางกลับประเทศไทยเห็นว่า ตามสำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวเอกสารหมาย ร.2ออกให้แก่นางสาวซิเหี่ยง แซ่ลี้ เกิดปี 2462 โดยใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2541 และมีรายการต่ออายุใบสำคัญตั้งแต่ปี 2482 ถึงปี 2484 หมดอายุวันที่ 22 มิถุนายน 2485 ตามเอกสารนี้จึงรับฟังได้ว่า นางสาวซิเหี่ยง แซ่ลี้ ได้อยู่ในประเทศไทยจนถึงปี 2485 เท่านั้นเพราะไม่มีรายการระบุต่อไปว่ามีการต่ออายุใบสำคัญดังกล่าวอีก แม้ในชั้นที่ผู้ร้องได้ยื่นคำขอพิสูจน์สัญชาติต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองได้ยื่นสำเนาทะเบียนสำมะโนครัวเอกสารหมาย รค.3 ก็คงปรากฏแต่เพียงว่ามีชื่อนางซิเหี่ยง แซ่ลี้ซึ่งอยู่ถัดจากบรรทัดที่ระบุวันที่ 9 ตุลาคม 2490 โดยท้ายชื่อนางซิเหี่ยงมีรายการว่า วันที่ 22 พฤษภาคม 2493 มา วันที่10 ธันวาคม ปีอ่านไม่ออก พร้อมลงชื่อกำกับ ข้อความส่วนนี้ผู้ร้องมิได้นำสืบให้ชัดแจ้ง แต่จากข้อความในเอกสารดังกล่าวคงถือได้แต่เพียงว่านางซิเหี่ยงได้เข้ามาอยู่ตามภูมิลำเนาทะเบียนดังกล่าวเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2493 เท่านั้น เอกสารหมาย รค.3 จึงมิใช่หลักฐานยืนยันว่าในช่วงระยะระหว่างปี 2485 ถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2493 นางซิเหี่ยงได้อยู่ในประเทศไทย ดังนั้นสำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวเอกสารหมาย ร.2 และสำเนาทะเบียนสำมะโนครัวเอกสารหมาย รค.3 จึงไม่อาจนำมายืนยันได้ว่านางซิเหี่ยงเป็นคนเดียวกับนางเสี่ยมฮวย และนางซิเหี่ยงเป็นมารดาของเด็กชายแซ่จู ตามสำเนาใบแจ้งความสูติบัตรเอกสารหมาย ร.1 ได้ เพราะตามเอกสารหมาย ร.1 ระบุว่าเด็กชายแซ่จู เกิดวันที่ 7 พฤศจิกายน 2489 ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่ผู้ร้องไม่มีหลักฐานมายืนยันว่า นางซิเหี่ยงอยู่ในประเทศไทย อีกทั้งตามใบแจ้งความสูติบัตรชื่อมารดา เด็กชายแซ่จู มีชื่อว่านางเสียะฮวย ซึ่งแตกต่างกับชื่อนางซิเหี่ยงอย่างเห็นได้ชัดแจ้ง ส่วนตัวผู้ร้องคงมีแต่สำเนาหนังสือเดินทางประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเอกสารหมาย ร.3 ซึ่งระบุว่าผู้ร้องเกิดในประเทศไทยกับสำเนาหนังสือรับรองของสำนักงานนิติกรกวางโจวจังหวัดกวางตุ้ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งระบุว่า ผู้ร้องเกิดเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2488 มารดาผู้ร้องคือลีคี หรือ ลีซิ่วเสียง ตามเอกสารหมาย ร.7 แผ่นที่ 4 ก็ปรากฏว่าวันเดือนปีเกิดของผู้ร้องไม่ตรงกับวันเดือนปีเกิดของเด็กชายแซ่จู และชื่อมารดาของผู้ร้องไม่ตรงกับชื่อมารดาของเด็กชายแซ่จู ที่ระบุในสำเนาใบแจ้งความสูติบัตร พยานหลักฐานเอกสารเกี่ยวกับตัวผู้ร้องดังกล่าวย่อมไม่อาจยืนยันได้ว่าผู้ร้องเป็นคนเดียวกับเด็กชายแซ่จู ที่ระบุไว้ในสำเนาใบแจ้งความสูติบัตรเอกสารหมาย ร.2 ส่วนข้อความที่ระบุว่าผู้ร้องเกิดในประเทศไทยตามสำเนาหนังสือเดินทางเอกสารหมาย ร.3 รค.5 แผ่นที่ 9ก็ไม่มีผลผูกพันที่จะให้ถือได้ว่าผู้ร้องเกิดในประเทศไทย ส่วนพยานบุคคลที่ผู้ร้องนำมาสืบเพื่อสนับสนุนผู้ร้องมีนางซิเหี่ยงหรือเสี่ยมฮวย แซ่ลี้ ซึ่งเบิกความอ้างว่าเป็นมารดาผู้ร้องตามสำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวเอกสารหมาย ร.2 และตามสำเนาใบแจ้งความสูติบัตรเอกสารหมาย ร.1 นั้น นอกจากชื่อนางซิเหี่ยง แซ่ลี้ ตามสำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวเอกสารหมาย ร.2 ไม่ตรงกับชื่อมารดา เด็กชายแซ่จูตามสำเนาใบแจ้งความสูติบัตรดังได้วินิจฉัยไว้แล้ว ยังปรากฏว่านางซิเหี่ยงที่มาเป็นพยานนั้นตามสำเนาคำแถลงตามกฎหมายเอกสารหมาย ร.7 แผ่นที่ 10 ที่ระบุว่าพยานเกิดปี 2465 ซึ่งแตกต่างกับอายุของมารดาเด็กชายแซ่จู ในสำเนาใบแจ้งความสูติบัตรเอกสารหมาย ร.1 ซึ่งระบุว่า มารดาเด็กชายแซ่จู อายุ 27 ปี เมื่อคำนวณแล้วมารดาเด็กชายแซ่จู เกิดปี 2462 ดังนั้น พยานหลักฐานของผู้ร้องในส่วนนี้ย่อมไม่อาจยืนยันได้ว่านางซิเหี่ยงหรือเสี่ยมฮวยซึ่งเป็นพยานผู้ร้องจะเป็นบุคคลเดียวกับนางเสี่ยมฮวยมารดาเด็กชายแซ่จู ส่วนนางงูไน้ แซ่จู พยานผู้ร้องอีกปากหนึ่งซึ่งเบิกความระบุว่าเป็นน้องของนายเป็งกิม แซ่จู ผู้ร้องเป็นบุตรของนายเป็งกิม แซ่จู กับนางซิเหี่ยงหรือลีคีหรือเสี่ยมฮวย แซ่ลี้ นั้น ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องมีพยานเอกสารยืนยันว่านางงูไน้ แซ่จู เป็นน้องนายเป็งกิมบิดาเด็กชายแซ่จู ดังนั้นคำเบิกความของพยานผู้ร้องดังกล่าวนั้นจึงเป็นคำเบิกความที่เลื่อนลอย ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าผู้ร้องคือเด็กชายแซ่จู ตามสำเนาใบแจ้งความสูติบัตรเอกสารหมาย ร.1 พยานหลักฐานผู้ร้องดังกล่าวมานั้นย่อมฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องเกิดในประเทศไทย ผู้ร้องจึงไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้วฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดเข้าดำเนินคดีนี้ในฐานะผู้คัดค้าน ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 57 วรรคท้าย มิใช่ในฐานะทนายความ ผู้ร้องจึงไม่ต้องใช้ค่าทนายความแทนผู้คัดค้าน ที่ศาลอุทธรณ์ให้ผู้ร้องใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนผู้คัดค้านนั้นไม่ชอบ อันเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะเรื่องค่าทนายความ1,500 บาท ที่ให้ผู้ร้องใช้แก่ผู้คัดค้านนั้นให้ตัดออกเสียนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share