คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 581/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นสั่งรับเป็นฎีกาและสั่งให้ส่งสำเนาให้อีกฝ่ายภายใน 15 วัน เพื่อแก้ฎีกา แต่คู่ความฝ่ายที่ยื่นฎีกาซึ่งทราบคำสั่งศาลนั้นแล้วเพิกเฉยไม่นำส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาให้แก่อีกฝ่ายภายในเวลาตามที่ศาลกำหนดโดยไม่แจ้งให้ศาลทราบเหตุแห่งการเพิกเฉยเช่นนี้ ต้องถือว่าคู่ความฝ่ายที่ยื่นฎีกานั้นทิ้งฎีกาที่ศาลชั้นต้นสั่งรับไว้เสียแล้ว ย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นฎีกานั้นเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฎีกาเลย ศาลฎีกาย่อมสั่งจำหน่ายคดี
หมายเหตุ เมื่อโจทก์ทิ้งฎีกา (ทิ้งฟ้อง) ศาลไม่มีอำนาจคืนค่าขึ้นศาล (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 8 / 2502)

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องลงวันที่ ๑๖ ธ.ค. ๒๕๐๐ คัดค้านการเลือกผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร ซึ่งประกาศผลเมื่อวันที่ ๑๖ ธ.ค. ๒๕๐๐ โดยอ้างว่าก่อนเลือกตั้ง พล.อ.เภา บริภัณฑ์ ยุทธกิจและผู้มีชื่อได้ให้กระดาษชับกับไม่บรรทัดแก่ผู้เลือกตั้งโดยเจตนาจูงใจให้ผู้เลือกตั้งลงคะแนนเลือกให้แก่คน ขอให้มีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่
ศาลแพ่งตรวจคำร้องเห็นว่า การที่ผู้ร้องไม่ยอมลงลายมือชื่อท้ายหมายเหตุในแบบพิมพ์คำร้องซึ่งมีข้อความว่า “ข้าพเจ้ารอฟังคำสั่งอยู่ ถ้าไม่รอให้ถือว่าทราบแล้ว” นั้น มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วน ตามระเบียบของศาล จึงสั่งให้คืนคำร้องให้ผู้ร้องไปปฏิบัติการให้ครบถ้วนเสียก่อนแล้ว ให้นำมายื่นใหม่ภายใน ๑๕.๐๐ น. วันนั้น มิฉะนั้นจะไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ผู้ร้องทราบคำสั่งแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตาม ศาลแพ่งจึงไม่รับคำร้องไว้พิจารณา
ผู้ร้องอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลแพ่ง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจประการใดในคดีนี้ ตาม พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๔๙๙ ม.๖๐,๖๑ แต่ศาลแพ่งสั่งรับเป็นอุทธรณ์แล้ว จึงต้องพิพากษาให้ยกอุทธรณ์ของผู้ร้อง
ผู้ร้องฎีกาว่า ศาลอุทรณ์มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ร้อง
ศาลแพ่งสั่งรับเป็นฎีกาและให้ส่งสำเนาฎีกาให้ผู้คัดค้าน กับผู้ว่าราชการจังหวัดพระนคร เพื่อแก้ฎีกาภายใน ๑๕ วัน
ผู้ร้องได้ทราบคำสั่งของศาลแพ่งที่สั่งรับฎีกาตั้งแต่วันที่ ๕ ส.ค. ๒๕๐๑ และศาลแพ่งส่งหมายนัดกับสำเนาฎีกาไปยังกองหมายเมื่อวันที่ ๖ ส.ค. ๒๕๐๑ เพื่อให้ผู้ร้องนำไปส่งแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครและทนายของพลเอกเภา แต่ผู้ร้องเพิกเฉย ไม่มานำเจ้าหน้าที่กองหมายจนล่วงเลย ๑๕ วันไปแล้ว โดยมิได้แจ้งให้ทราบเหตุแห่งการเพิกเฉย แต่ประการใด กองหมายถึงรายงานมายังศาลแพ่งเมื่อวันที่ ๒๒ ส.ค. ๒๕๐๑ ศาลแพ่งส่งสำนวนมายังศาลฎีกาเพื่อสั่ง
ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ศาลแพ่งจะได้สั่งรับฎีกาของผู้ร้องไว้แล้วก็ดี แต่ผู้ร้องเพิกเฉย ไม่นำส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อแก้ฎีกาเช่นนี้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๗๔ ประกอบด้วย ม. ๒๔๖ และ ๒๔๗ ต้องถือว่าผู้ร้องทิ้งฎีกาที่ศาลแพ่งสั่งรับไว้นั้นเสียแล้ว ย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นฎีกานั้นเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฎีกาเลย (ป.วิ.พ. มาตรา ๑๗๖) ศาลฎีกาจึงให้จำหน่ายคดี (เมื่อโจทก์ทิ้งฎีกา ศาลไม่มีอำนาจคืนค่าขึ้นศาล)

Share