แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยแต่ละคนแยกการครอบครองที่พิพาทเป็นสัดส่วนต่างหากจากกัน การที่จะพิจารณาว่าราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงหรือไม่ จะต้องถือตามราคาทรัพย์ที่พิพาทที่จำเลยแต่ละคนยึดถือครอบครอง เมื่อคู่ความทั้งสองฝ่ายตกลงกันตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นว่าที่พิพาทราคาไร่ละ 30,000 บาท ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยแต่ละรายย่อมไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้ที่พิพาทมาโดยการซื้อจากจ่าสิบตำรวจอ.จำเลยทุกคนที่โจทก์ฟ้องได้เช่าที่พิพาทจากนายท.บิดาจ่าสิบตำรวจอ. แม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายส่วนหนึ่งที่จำเลยแต่ละคนเช่นอยู่ว่ามีเนื้อที่คนละเท่าใดก็ตาม แต่โจทก์ก็ได้ทำแผนที่สังเขปเอกสารท้ายฟ้องระบุจุดที่จำเลยแต่ละคนเช่าอยู่อย่างชัดเจนแล้ว โจทก์จึงขอให้ขับไล่จำเลยทุกคนที่โจทก์ฟ้องพร้อมกับเรียกค่าเสียหายเอาแก่จำเลยแต่ละคน คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้วฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่3308 โดยโจทก์ซื้อจากนายอัศวิน และได้จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยสุจริต โจทก์ยื่นเรื่องราวต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุพรรณบุรีขอรังวัดสองเขต แต่รังวัดไม่ได้เนื่องจากจำเลยร้องคัดค้านและอ้างว่าเป็นที่ดินที่จำเลยครอบครองอยู่ จำเลยได้เช่าที่ดินดังกล่าวจากนายทองเหมาะบริสุทธิ์ บิดาของนายอัศวิน โจทก์ขอให้จำเลยออกจากที่ดินของโจทก์ หากไม่ออกไปให้ทำสัญญาเช่ากับโจทก์ แต่จำเลยไม่ยอมจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งหมดและบริวารออกจากที่ดินของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์อีกต่อไป ให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ 2,400 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะออกจากที่ดินของโจทก์
จำเลยที่ 7 และที่ 9 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ระหว่างการพิจารณา โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 5 ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 ที่ 8 ที่ 10 ถึงที่ 21 ให้การว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ที่ดินที่จำเลยแต่ละคนครอบครองไม่ใช่ที่ดินโฉนดเลขที่ 3304 ตามฟ้อง จำเลยแต่ละคนครอบครองที่ดินโดยความสงบโดยเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาติดต่อกันกว่า 10 ปีจำเลยแต่ละคนจึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง โจทก์มิได้ซื้อที่ดินตามฟ้องจากนายอัศวิน โจทก์กับนายอัศวินสมคบกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3304 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้องโดยไม่สุจริตและไม่เสียค่าตอบแทนโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6ถึงที่ 21 ออกจากที่ดินส่วนที่เป็นที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยแต่ละคนใชัค่าเสียหายตามอัตราส่วนเนื้อที่ดินที่จำเลยและบริวารครอบครองในอัตราไร่ละ 1,200 บาท หรือข้าวเปลือก 60 ถังต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 8 ที่ 10 ถึงที่ 16 ที่ 18 ถึงที่ 21อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 4 ถึงแก่ความตาย นายประยูรสายสังข์ ทายาทของจำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์อนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 12 ที่ 15 และที่ 21 กับให้จำเลยที่ 3 ที่ 6ถึงที่ 11 ที่ 13 ที่ 14 ที่ 16 ถึงที่ 20 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ 2,400 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยที่ 3 ที่ 11 ที่ 13 ที่ 14 ที่ 16 และที่ 18 ฎีกา
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 21 ถึงแก่ความตาย นายสายัณห์แก้ววิชิตร ทายาทของจำเลยที่ 21 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 12 ที่ 15 และที่ 21 แยกการครอบครองที่พิพาทเป็นสัดส่วนต่างหากจากกัน และคำฟ้องไม่ปรากฏข้ออ้างว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 12 ที่ 15 และที่ 21ได้ร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ แม้โจทก์จะได้รวมฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 12 ที่ 15 และที่ 21 มาในคดีเดียวกันการที่จะพิจารณาว่าราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงหรือไม่ จะต้องถือตามราคาทรัพย์ที่พิพาทที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 12ที่ 15 และที่ 21 ยึดถือครอบครอง ฉะนั้นเมื่อคู่ความทั้งสองฝ่ายตกลงกันตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 17พฤษภาคม 2530 ว่า ที่พิพาทราคาไร่ละ 30,000 บาท ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1ที่ 2 ที่ 4 ที่ 12 ที่ 15 และที่ 21 แต่ละรายย่อมไม่เกิน 200,000บาท คดีโจทก์จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาของโจทก์ขึ้นมา ศาลฎีกาก็ไม่วินิจฉัยให้
ส่วนปัญหาข้อกฎหมายว่าฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้นเห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้ที่พิพาทมาโดยการซื้อจากจ่าสิบตำรวจอัศวิน จำเลยทุกคนที่โจทก์ฟ้องได้เช่าที่พิพาทจากนายทองเหมาะ บิดาของจ่าสิบตำรวจอัศวิน แม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายส่วนที่จำเลยแต่ละคนเช่าอยู่ว่ามีเนื้อที่คนละเท่าใดก็ตามแต่โจทก์ก็ได้ทำแผนที่สังเขปเอกสารท้ายฟ้องระบุจุดที่จำเลยแต่ละคนเช่าอยู่อย่างชัดเจนแล้ว โจทก์จึงขอให้ขับไล่จำเลยทุนคนที่โจทก์ฟ้อง พร้อมกับเรียกค่าเสียหายเอาแก่จำเลยแต่ละคนเป็นข้าวเปลือก 10 ถัง ต่อไร่ต่อปี หรือคิดเป็นเงินไร่ละ200 บาท ต่อปี คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้วจึงเป็นคำฟ้องที่สมบูรณ์ หาใช่คำฟ้องที่เคลือบคลุม
พิพากษายืน และให้ยกฎีกาโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2ที่ 4 ที่ 12 ที่ 15 และที่ 21