คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1211/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้สถานีวิทยุโทรทัศน์ ก. ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของโจทก์ มีกิจการคือการส่งหรือออกอากาศทางวิทยุโทรทัศน์ แต่การที่สถานีวิทยุโทรทัศน์ ก. ให้เอกชนซึ่งเป็นผู้จัดรายการเช่าเวลาเพื่อออกอากาศรายการโดยมีค่าตอบแทนเป็นรายได้จากการเรียกเอาสินจ้างที่เรียกว่าค่าเช่าเวลา และเป็นปกติธุระที่สถานีวิทยุโทรทัศน์ ก. ให้ผู้จัดรายการมากมายหลายรายเช่าเวลา เพื่อออกอากาศรายการที่ผู้จัดรายการแต่ละรายการนำเทปบันทึกรายการที่ตนรับผิดชอบในการผลิตมาส่งให้สถานีวิทยุโทรทัศน์ ก. ออกอากาศให้ โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์ ก. เรียกเอาสินจ้างเป็นรายได้ ทั้งเมื่อพิจารณาระเบียบของโจทก์ว่าด้วยวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2536 แล้ว ไม่มีข้อห้ามหรือข้อจำกัดว่าสถานีวิทยุโทรทัศน์ ก. ไม่สามารถหารายได้จากการดำเนินการหรือประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ หรือไม่สามารถให้เอกชนผู้จัดรายการเช่าเวลาที่ออกอากาศ แต่กลับมีข้อที่แสดงให้เห็นว่า สถานีวิทยุโทรทัศน์ ก. สามารถหารายได้ด้วยการเรียกเอาสินจ้างค่าเช่าเวลาจากการให้เอกชนซึ่งเป็นผู้จัดรายการเช่าเวลาเพื่อออกอากาศรายการได้ โดยมีข้อจำกัดเพียงว่าการกำหนดหรือปรับอัตราค่าเช่าเวลาจะต้องทำตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด ถือได้ว่าสถานีวิทยุโทรทัศน์ ก. เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการส่งหรือออกอากาศรายการวิทยุโทรทัศน์ ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) บัญญัติให้สิทธิเรียกเอาสินจ้างที่สถานีวิทยุโทรทัศน์ ก. เรียกว่าค่าเช่าเวลา มีกำหนด 2 ปี โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดอายุความแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ทั้งเมื่อสิทธิเรียกร้องค่าเช่าเวลาและค่าเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์ซึ่งเป็นส่วนที่เป็นประธานขาดอายุความ สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยซึ่งเป็นส่วนอุปกรณ์ย่อมขาดอายุความด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/26

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 4,169,448 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 2,045,763.93 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกนายชัยยันต์ เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 2,188,967.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 181,690.20 บาท นับแต่วันที่ 16 กันยายน 2541 ของต้นเงิน 148,687.20 บาท นับแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2541 ของต้นเงิน 148,687.20 บาท นับแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2541 ของต้นเงิน 148,687.20 บาท นับแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2541 ของต้นเงิน 148,687.20 บาท นับแต่วันที่ 16 มกราคม 2542 ของต้นเงิน 74,343.60 บาท นับแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2542 ของต้นเงิน 148,687.20 บาท นับแต่วันที่ 16 มีนาคม 2542 ของต้นเงิน 148,687.20 บาท นับแต่วันที่ 16 เมษายน 2542 ของต้นเงิน 111,515.40 บาท นับแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2542 ของต้นเงิน 185,859 บาท นับแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2542 ของต้นเงิน 111,515.40 บาท นับแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2542 ของต้นเงิน 148,687.20 บาท นับแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2542 ของต้นเงิน 185,859 บาท นับแต่วันที่ 16 กันยายน 2542 ของต้นเงิน 148,687.20 บาท นับแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2542 ของต้นเงิน 148,687.20 บาท นับแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ คดีขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยเป็นฝ่ายชนะคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ศาลชั้นต้นก็วินิจฉัยให้จำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดีในประเด็นข้อพิพาทเรื่องอำนาจฟ้อง เมื่อจำเลยไม่ได้โต้แย้งในคำแก้อุทธรณ์ว่าคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่ว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าขณะฟ้องพลเอกประวิทย์ ผู้บัญชาการทหารบกมอบอำนาจให้พลเอกเลิศรัตน์ ผู้ช่วยผู้บัญชาทหารบกเป็นผู้ฟ้องคดีแทน การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์จึงชอบแล้วนั้น ไม่ถูกต้องด้วยเหตุผลใด การที่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวจึงชอบแล้ว และถือได้ว่าเป็นเรื่องที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในชั้นอุทธรณ์ทั้งไม่มีเหตุอันสมควรที่ศาลฎีกาจะใช้ดุลพินิจรับไว้พิจารณา แม้จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ตาม ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้
ส่วนประเด็นวินิจฉัยลำดับต่อไปที่จำเลยฎีกาว่า คดีขาดอายุความนั้น แม้กรณีฟังข้อเท็จจริงยุติตามที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันว่า กิจการของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ. 5) คือ การส่งหรือออกอากาศทางวิทยุโทรทัศน์ แต่ในทางปฏิบัติได้ความจากการนำสืบของโจทก์เองว่า ททบ. 5 ให้เอกชนซึ่งเป็นผู้จัดรายการเช่าเวลาเพื่อออกอากาศรายการ โดยมีค่าตอบแทนเป็นรายได้จากการเรียกเอาสินจ้างที่เรียกว่าค่าเช่าเวลา ทั้งพยานโจทก์คือ พันโทธีระ นิติกรของ ททบ. 5 ก็เบิกความตอบคำถามค้านว่า ในการออกอากาศมีสินค้าหรือบริการมาโฆษณา และจำเลยร่วมก็มีรายการที่เช่าเวลาเพื่อออกอากาศที่ ททบ. 5 ซึ่งตรงกับคำเบิกความของนางสาวปริญญาภรณ์ เจ้าหน้าที่ธุรการของ ททบ. 5 ที่เบิกความตอบคำซักถามว่า จำเลยร่วมทำสัญญาเช่าเวลาเพื่อออกอากาศรายการอื่นไว้กับโจทก์อีก 3 รายการ ตามสำเนาสัญญาเช่าเวลาเพื่อออกอากาศรายการ และการที่ได้ความจากคำเบิกความของนายเสวนา เจ้าหน้าที่รับเทปและตรวจสอบรายการของ ททบ. 5 ด้วยว่า เมื่อผู้จัดรายการนำเทปบันทึกรายการมาส่ง พยานจะรับไว้และตรวจสอบความยาวของรายการ และมีเจ้าหน้าที่ที่อยู่แผนกเดียวกับพยานที่ทำหน้าที่นี้ทั้งหมด 3 คน ก็บ่งชี้ว่าในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ ททบ. 5 ให้จำเลยหรือจำเลยร่วมเช่าเวลาเพื่อออกอากาศรายการนั้น ททบ. 5 ยังให้ผู้จัดรายการอื่นอีกมากมายหลายรายเช่าเวลาเพื่อออกอากาศรายการด้วย จึงมีความจำเป็นตามปริมาณและคุณภาพของงานในการรับและตรวจสอบเทปรายการซึ่งผู้จัดรายการแต่ละรายนำมาส่ง ที่ทำให้ ททบ. 5 ต้องมีเจ้าหน้าที่หลายคนทำหน้าที่อย่างเดียวกันนี้ ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะและจำนวนรายการที่ปรากฏตามผังและคิวเวลาการออกอากาศรายการ ที่นายเสวนาเบิกความรับรอง ข้อเท็จจริงดังกล่าวล้วนแสดงให้เห็นว่า เป็นปกติธุระที่ ททบ. 5 ให้ผู้จัดรายการมากมายหลายรายเช่าเวลา เพื่อออกอากาศรายการที่ผู้จัดรายการแต่ละรายนำเทปบันทึกรายการที่ตนรับผิดชอบในการผลิตมาส่งให้ ททบ. 5 ออกอากาศให้ โดย ททบ. 5 เรียกเอาสินจ้างเป็นรายได้ จึงถือได้ว่า ททบ. 5 เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการส่งหรือออกอากาศรายการวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7) บัญญัติให้สิทธิเรียกเอาสินจ้างที่ ททบ. 5 เรียกว่าค่าเช่าเวลาดังกล่าวมีกำหนดอายุความ 2 ปี ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเมื่อพิจารณาระเบียบกองทัพบกว่าด้วย วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2536 เห็นได้ว่า โจทก์จัดตั้ง ททบ. 5 ขึ้นมา โดยไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการหารายได้หรือประกอบธุรกิจแต่อย่างใดนั้น เห็นว่าระเบียบข้อ 7 ดังกล่าวเพียงแต่กำหนดวัตถุประสงค์ในการดำเนินการหรือประกอบกิจการของ ททบ. 5 ไว้ 10 ประการ โดยไม่มีการกำหนดข้อห้ามหรือข้อจำกัดว่า ททบ. 5 ไม่สามารถหารายได้จากการดำเนินการหรือประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์ทั้ง 10 ประการดังกล่าว แต่การที่มีข้อ 22 กำหนดไว้ด้วยว่า ในกรณีที่ ททบ. 5 มีความจำเป็นต้องกำหนดหรือปรับอัตราค่าเช่าเวลาของสถานี ให้นำเรื่องเข้าพิจารณาในคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องตามแต่กรณี เพื่อขอความเห็นชอบจาก กบว. ทบ. (คณะกรรมการบริหารวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก) ก่อนดำเนินการปรับอัตราค่าเช่าเวลาอย่างน้อย 1 เดือน นั้น กลับแสดงให้เห็นว่า ททบ. 5 สามารถหารายได้ด้วยการเรียกเอาสินจ้างค่าเช่าเวลาจากการให้เอกชนซึ่งเป็นผู้จัดรายการเช่าเวลาเพื่อออกอากาศรายการได้ โดยมีข้อจำกัดเพียงว่าการกำหนดหรือปรับอัตราค่าเช่าเวลาจะต้องทำตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ข้อ 22 ดังกล่าวกำหนด ทั้งไม่มีระเบียบข้อใดกำหนดข้อห้ามหรือข้อจำกัดว่า ททบ. 5 ไม่สามารถให้เอกชนผู้จัดรายการดังกล่าวเช่าเวลาเพื่อออกอากาศรายการ ซึ่งเมื่อคำนึงถึงจำนวนรายการและจำนวนครั้งในช่วงเวลาเดียวกันหรือใกล้กันถึงขนาดเป็นการดำเนินการหรือประกอบกิจการเป็นปกติธุระและถือได้ดังที่วินิจฉัยไว้ข้างต้นว่า ททบ. 5 เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการส่งหรือออกอากาศรายการวิทยุโทรทัศน์ ข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยความเห็นของศาลฎีกา ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าค่าเช่าเวลาตามฟ้องและค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยภาษีอากรที่จะเรียกเอาพร้อมกับค่าเช่าดังกล่าวมีการค้างชำระทุกรายการตามสำเนาใบแจ้งหนี้ซึ่งครบกำหนดชำระตั้งแต่ปี 2541 และปี 2542 ทั้งสิ้น แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2548 ซึ่งพ้นกำหนดอายุความ 2 ปีแล้ว คดีโจทก์ย่อมขาดอายุความ ทั้งเมื่อสิทธิเรียกร้องค่าเช่าเวลาและค่าภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวซึ่งเป็นส่วนที่เป็นประธานขาดอายุความแล้ว สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยซึ่งเป็นส่วนอุปกรณ์ย่อมขาดอายุความด้วยตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/26 ฎีกาจำเลยฟังขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นที่เหลือเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share