คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1544/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า ค่าเสียหายของโจทก์รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 1,980,000 บาท แต่โจทก์มิได้เรียกร้องเอาเต็มจำนวนดังกล่าว คงติดใจขอเพียง 700,000 บาท กับดอกเบี้ยอีก 45,125 บาท รวม 748,125 บาท ดังนี้ การคิดค่าขึ้นศาลต้องคิดจากจำนวนเงิน 748,125 บาท ตามทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง
ในคดีอาญาที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้อง ต. ฐานขับรถยนต์โดยประมาทชนรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับ เป็นเหตุให้สามีโจทก์ซึ่งโดยสารมากับรถคันนั้นถึงแก่ความตาย และศาลพิพากษาลงโทษจำคุก ต. คดีถึงที่สุดแล้ว ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ร่วมรับผิดในมูลละเมิดที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ชนกับรถ ต. เป็นเหตุให้สามีโจทก์ถึงแก่ความตายเป็นคดีแพ่ง ดังนี้ ในคดีอาญาดังกล่าวมีประเด็นเพียงว่า ต.ขับรถด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังหรือไม่เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับจำเลยในคดีแพ่งนี้ซึ่งมิใช่คู่ความในคดีเดิม โจทก์จึงนำสืบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ได้
ในกรณีที่จำเลยกับผู้อื่นต่างคนต่างทำละเมิด มิใช่ร่วมกันทำละเมิดนั้น ศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้จำเลย รับผิดตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งความผิดของจำเลยได้
โจทก์ฟ้องจำเลยร่วมกับ ต.ทำละเมิด แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นอ้างในศาลชั้นต้นว่าขอให้แบ่งส่วนความรับผิด แต่เรื่องค่าเสียหายนั้นศาลชอบที่จะกำหนดให้ชำระตามสมควรได้

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ว่าเป็นนายจ้าง ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้าง กรณีจึงเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกาก็ตาม เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรให้จำเลยที่ 2 รับผิดน้อยลงศาลฎีกาก็พิพากษาให้มีผลตลอดถึงจำเลยที่ 1 ด้วยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายบัณฑิตกมลพาณิชย์และเป็นมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงเยาวลักษณ์ เด็กชายยิ้มนิรันดร์ เด็กชายทำดี เด็กหญิงฟ้าอารี และเด็กชายบรรยงค์ซึ่งเกิดจากนายบัณฑิต จำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และมีหน้าที่ขับรถยนต์โดยสารประจำทางของจำเลยที่ 2จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน น.ม.03487ดำเนินกิจการรับส่งคนโดยสารระหว่างจังหวัดชัยภูมิกับจังหวัดนครราชสีมา และเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2515 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นลูกจ้างและในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น.ม.03487 รับส่งคนโดยสารจากจังหวัดชัยภูมิ ไปจังหวัดนครราชสีมาด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยที่ 1จำต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และจำเลยที่ 1 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาใช้ให้เพียงพอไม่ กล่าวคือ จำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความเร็วสูงเกินสมควร เมื่อไปถึงระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 113 กับ 114 ขณะนั้นมีรถยนต์โดยสารเล็กหมายเลขทะเบียน ช.ย.00497 ซึ่งขับโดยนายเติม ชวฤทธิ์ กำลังจอดรอรับคนโดยสารและสินค้าอยู่บนถนนข้างทางด้านซ้าย จำเลยที่ 1 มีหน้าที่จักต้องขับรถยนต์ด้วยความระมัดระวังดูแลความปลอดภัยให้ดีโดยลดความเร็วลงเพราะบริเวณนั้นเป็นถนนแคบ มีรถยนต์แล่นผ่านไปมามาก ทั้งมีทางแยกอยู่ทางซ้ายและขวาของถนนด้วย แต่จำเลยที่ 1 มิได้ชะลอความเร็วลง เพราะจะแซงรถคันหมายเลขทะเบียน ช.ย.00497 และขณะนั้นมีรถยนต์คันอื่นแล่นมาจะสวนทางในระยะใกล้ จำเลยที่ 1 ก็มิได้ลดความเร็วลง เพื่อให้รถคันที่แล่นสวนมาผ่านไปก่อนได้เร่งความเร็วเพื่อจะแซงรถคันหมายเลขทะเบียน ช.ย.00497ให้ได้ ครั้นเมื่อแซงขึ้นไปยังไม่ทันจะพ้น พอดีรถคันที่สวนทางแล่นเข้ามาในระยะใกล้ จำเลยที่ 1 ได้ขับรถหลบเข้าทางซ้านทันที ทำให้รถคันที่จำเลยที่ 1 ขับนั้นชนถูกรถคันหมายเลขทะเบียน ช.ย.00497 ที่จอดอยู่ รถคันที่จำเลยที่ 1 ขับมาเสียหลักแฉลบพลิกคว่ำลงข้างทางด้านขวา และเป็นเหตุให้นายบัณฑิตซึ่งโดยสารมากับรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับถึงแก่ความตายทันที การกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปลงศพนายบัณฑิตเป็นเงิน 68,000 บาทนายบัณฑิตเคยมีรายได้เดือนละ 11,000บาท โจทก์ต้องขาดไร้อุปการะ มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะเป็นเวลา 15 ปีคือจนกว่าเด็กชายยรรยงค์บุตรคนเล็กจะบรรลุนิติภาวะ รวมเป็น 1,980,000 บาทแต่โจทก์ขอคิดค่าเสียหายทั้งหมดเพียง 700,000 บาท จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างและเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น.ม.03487ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วย โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 700,000บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะใช้เงินเสร็จ

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 2 ให้การว่า การที่รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น.ม.03487 กับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ช.ย.00497 ชนกัน และเป็นเหตุให้นายบัณฑิตถึงแก่ความตายนั้น เกิดจากความประมาทเลินเล่อของนายเติม ชวฤทธิ์ ผู้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ช.ย.00497 ซึ่งศาลมณฑลทหารบกที่ 3 (ศาลจังหวัดชัยภูมิ) ได้พิพากษาลงโทษจำคุกนายเติม ชวฤทธิ์ มีกำหนด 1 ปี ปรากฏตามคดีหมายเลขแดงที่ 171/2515 จำเลยที่ 1 มิได้ขับรถโดยประมาทดังฟ้อง ในคดีอาญาดังกล่าวศาลวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า การที่นายบัณฑิตถึงแก่ความตายเกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของนายเติม ได้หักรถซึ่งอยู่ทางด้านซ้ายเบนเลี้ยวขวาโดยกระทันหัน ไม่ให้สัญญาณและไม่ระมัดระวังให้รถด่วนที่จำเลยที่ 1 ขับมาผ่านแซงไปก่อน เท่ากับเป็นการชี้ขาดว่านายเติมเป็นฝ่ายประมาทแต่ผู้เดียว ในการพิพากษาคดีนี้ ซึ่งเป็นคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา โจทก์จะนำสืบข้อเท็จจริงให้เปลี่ยนแปลงเป็นว่าจำเลยที่ 1 ประมาทนั้นหาได้ไม่ ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินความเป็นจริงโจทก์ไม่บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งเรื่องค่าเสียหายฟ้องส่วนนี้จึงเคลือบคลุม ฯลฯ

เมื่อสืบพยานจำเลยเสร็จแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในจำนวนทุนทรัพย์ 1,980,000 บาท

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การที่รถทั้งสองชนกันนั้นเกิดจากความประมาทเลินเล่อของนายเติมคนขับรถคันหมายเลขทะเบียน ช.ย.00497 จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ฯลฯ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคือค่าปลงศพ 68,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะ 1,980,000 บาท แต่โจทก์ขอเรียกร้องรวมทั้งสิ้น 700,000 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องอีก 48,125 บาท รวมเป็นทุนทรัพย์ 748,125 บาท ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาไม่ผูกพันจำเลยในคดีนี้ การที่รถชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยทั้งสองต้องรับผิดและเห็นสมควรคิดค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นให้โจทก์54,826 บาท ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์และบุตรผู้เยาว์ 368,400 บาท รวมค่าสินไหมทดแทน 2 รายการ เป็นเงิน 423,226 บาท พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนนี้พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7ครึ่งต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ และให้คืนค่าขึ้นศาลที่สั่งให้โจทก์ชำระเพิ่มเติมนั้นให้แก่โจทก์ด้วย

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามฎีกาข้อแรกโจทก์ควรเสียค่าขึ้นศาลในจำนวนทุนทรัพย์เท่าใดนั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะได้บรรยายฟ้องว่าค่าเสียหายของโจทก์รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 1,980,000 บาท แต่โจทก์ก็มิได้เรียกร้องเอาเต็มจำนวนดังกล่าวคงติดใจขอเพียง 700,000 บาท กับดอกเบี้ยอีก 48,125 บาท รวมเป็นเงิน 748,125 บาทเท่านั้น การคิดค่าขึ้นศาลจึงต้องคิดจากจำนวนเงิน 748,125บาท ตามทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง ที่ศาลอุทธรณ์สั่งให้คืนค่าขึ้นศาลในส่วนที่เกินจาก 748,125 บาท จึงเป็นการถูกต้องแล้ว

ฎีกาข้อ 2 ที่ว่า ในคดีอาญาซึ่งถึงที่สุดแล้ว ศาลมณฑลทหารบกที่ 3(ศาลจังหวัดชัยภูมิ) ได้วินิจฉัยชี้ขาดโดยฟังข้อเท็จจริงว่า การที่รถชนกันนั้นเกิดจากความประมาทของนายเติมแต่ผู้เดียว ในคดีแพ่งนี้โจทก์จึงไม่มีสิทธิจะนำสืบเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงให้แตกต่างไปจากคดีอาญานั้น เห็นว่าในคดีอาญาดังกล่าว มีประเด็นเพียงว่านายเติมขับรถด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังหรือไม่เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับจำเลยในคดีนี้ซึ่งมิใช่ความในคดีเดิมและคำพิพากษาคดีส่วนอาญาก็มิได้ฟังข้อเท็จจริงว่า การที่รถชนกันเพราะความประมาทปราศจากความระมัดระวังของนายเติมแต่ผู้เดียวดังที่จำเลยอ้างโจทก์จึงนำสืบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ได้

ฎีกาข้อ 3 ที่ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้มีส่วนประมาทด้วยนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วฟังว่า จำเลยที่ 1 มีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย

ฎีกาข้อสุดท้ายเรื่องค่าสินไหมทดแทน ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วเห็นสมควรกำหนดค่าปลงศพให้โจทก์ 45,000 บาท ส่วนค่าขาดไร้อุปการะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้เป็นการสมควรแล้ว

เหตุที่รถชนกันเนื่องจากนายเติมและจำเลยที่ 1 ผู้ขับรถของจำเลยที่ 2ต่างประมาทเลินเล่อ แต่ความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายจำเลยเป็นผู้ก่อน้อยกว่านายเติม จึงให้จำเลยที่ 2 รับผิดเพียงหนึ่งในสามของความเสียหายทั้งหมดเป็นเงิน 126,600 บาท

คดีนี้ศาลชั้นต้นฟังว่า เหตุที่รถชนกันเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของนายเติมฝ่ายเดียว แต่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมในการกระทำประมาทเลินเล่อด้วย และศาลฎีกาเห็นว่าเป็นเรื่องนายเติมและจำเลยที่ 1ต่างคนต่างทำละเมิด หาใช่ร่วมกันทำละเมิดไม่ ศาลจึงมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งความผิดของจำเลยที่ 1 ได้ แม้ข้อนี้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นอ้างในศาลชั้นต้น แต่เรื่องค่าเสียหายนั้น ศาลฎีกาชอบที่จะกำหนดให้ชำระตามสมควรได้

สำหรับจำเลยที่ 1 ลูกจ้าง ถึงแม้มิได้ฎีกาก็ตาม แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2ว่าเป็นนายจ้าง ซึ่งต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 1 กรณีจึงเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรให้จำเลยที่ 2 รับผิดน้อยลง โดยอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 245(1) และมาตรา 247 ศาลฎีกาเห็นสมควรให้มีผลตลอดถึงจำเลยที่ 1ด้วย

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน126,600 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี จากจำนวนเงินดังกล่าวนับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์

Share