คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5801/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้การเรียกเงินค่าวิ่งเต้นคดีจะมิได้เกิดขึ้นในบริเวณศาลเพราะมีการติดต่อทางโทรศัพท์และรับเงินกันที่บ้านของผู้กล่าวหา แต่หลังจากนั้นได้มีการติดต่อทวงถามคืนเงินดังกล่าวในบริเวณศาลหลายครั้งและในที่สุดก็มีการมอบเงินคืนให้แก่กันที่บริเวณโรงรถของศาล ถือได้ว่าพฤติการณ์ดังกล่าวมีผลเกี่ยวเนื่องต่อกันมาจากเรื่องการวิ่งเต้นคดีของศาลอุทธรณ์ แม้ระยะเวลาการคืนเงินดังกล่าวให้แก่กันจะมีระยะเวลาห่างจากตอนที่รับเงินมาเป็นเวลาถึง 3 ปีเศษ แต่การดำเนินการวิ่งเต้นคดียังไม่สิ้นสุด จนกระทั่งต้องมีการคืนเงินกัน กระบวนการเรียกร้องคืนเงินค่าวิ่งเต้นคดีและการคืนเงินดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากผู้กล่าวหา ซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1101/2545 ของศาลชั้นต้น ร้องเรียนต่อผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้พูดจาหลอกลวงผู้กล่าวหากับนางสุวารี สง่าศรี ภริยาของผู้กล่าวหาว่าสามารถวิ่งเต้นเบื้องบนเพื่อช่วยเหลือผู้กล่าวหาให้ไม่ต้องรับโทษจำคุกในคดีดังกล่าวชั้นศาลอุทธรณ์ได้ เป็นเหตุให้ผู้กล่าวหากับนางสุวารีหลงเชื่อและมอบเงินแก่ผู้ถูกกล่าวหาไปรวม 240,000 บาท
ผู้ถูกกล่าวหาให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ผู้ถูกกล่าวหาประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล อันเป็นการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1), 33 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ลงโทษจำคุก 5 เดือน
ผู้ถูกกล่าวหาอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1)
พนักงานอัยการสำนักงานคดีศาลสูงเขต 6 พิษณุโลกฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2545 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกผู้กล่าวหามีกำหนด 4 ปี ฐานความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ ความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ และความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากร ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1101/2545 ของศาลชั้นต้น ต่อมาผู้ถูกกล่าวหารับเป็นทนายความชั้นอุทธรณ์ให้แก่ผู้กล่าวหา โดยได้รับเงิน 240,000 บาท จากผู้กล่าวหา และคดีดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของพนักงานอัยการสำนักงานคดีศาลสูงเขต 6 พิษณุโลกว่า ผู้ถูกกล่าวหาประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล อันเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ เห็นว่า ผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหาเคยเป็นเพื่อนกันมาก่อน ต่างไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกัน จึงไม่มีเหตุอันใดจะแกล้งเบิกความปรักปรำผู้ถูกกล่าวหาให้ต้องรับโทษ การที่ผู้ถูกกล่าวหายอมรับว่าได้รับเงินจากผู้กล่าวหาไปจริง จำนวน 240,000 บาท แต่เป็นเงินค่าจ้างว่าความนั้น เห็นว่า หากเป็นเงินค่าจ้างว่าความในชั้นอุทธรณ์จริงก็ไม่น่าจะเป็นจำนวนมากเช่นนั้น อีกทั้งก็ไม่ควรยอมคืนค่าจ้างว่าความให้ จึงน่าเชื่อว่าเงินดังกล่าวที่ผู้ถูกกล่าวหาได้รับจากผู้กล่าวหาส่วนหนึ่งเป็นค่าวิ่งเต้นคดี ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลหรือไม่ ข้อเท็จจรงิรับฟังเป็นยุติว่าหลังจากที่ได้ตกลงว่าจ้างผู้ถูกกล่าวหาเป็นทนายความแล้วต่อมาได้มีการติดต่อกันทางโทรศัพท์ โดยผู้ถูกกล่าวหาบอกว่าจะติดต่อวิ่งเต้นคดีในชั้นศาลอุทธรณ์ให้และได้ติดต่อแล้วจะต้องเสียค่าใช้จ่ายให้เบื้องบน 200,000 บาท ผู้กล่าวหาตกลงและนัดให้ไปรับมอบเงินที่บ้านผู้กล่าวหา เมื่อผู้ถูกกล่าวหารับเงินดังกล่าวไปแล้ว ผลปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ผู้กล่าวหาจึงทวงเงินคืนจากผู้ถูกกล่าวหาหลายครั้ง เคยมาติดตามทวงคืนในบริเวณศาล 3 ครั้ง แต่ผู้ถูกกล่าวหาบอกว่าให้รอไปก่อนบ้าง ยังมีเงินไม่ครบบ้าง ผู้กล่าวหาจึงไปร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้น ต่อมาผู้ถูกกล่าวหานัดให้ผู้กล่าวหาไปรับเงินคืนจำนวน 200,000 บาท ที่โรงจอดรถของศาลชั้นต้น หลังจากนั้นผู้กล่าวหาก็ได้ขอถอนคำร้องทุกข์ เห็นว่า แม้การเรียกเงินค่าวิ่งเต้นคดีจะมิได้เกิดขึ้นในบริเวณศาลเพราะมีการติดต่อทางโทรศัพท์และรับเงินกันที่บ้านของผู้กล่าวหา แต่หลังจากนั้นได้มีการติดต่อทวงถามคืนเงินดังกล่าวในบริเวณศาลหลายครั้งและในที่สุดก็มีการมอบเงินคืนให้แก่กันที่บริเวณโรงรถของศาล ถือได้ว่าพฤติการณ์ดังกล่าวมีผลเกี่ยวเนื่องต่อกันมาจากเรื่องการวิ่งเต้นคดีของศาลอุทธรณ์ แม้ระยะเวลาการคืนเงินดังกล่าวให้แก่กันจะมีระยะเวลาห่างจากตอนที่รับเงินมาเป็นเวลาถึง 3 ปีเศษ แต่การดำเนินการวิ่งเต้นคดียังไม่สิ้นสุด จนกระทั่งต้องมีการคืนเงินกัน กระบวนการเรียกร้องคืนเงินค่าวิ่งเต้นคดีและการคืนเงินดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาไม่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหา 5 เดือนนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าหนักเกินไป สมควรแก้ไขให้ลดน้อยลง”
พิพากษากลับว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1), 33 (ข) วรรคท้าย ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ลงโทษจำคุก 3 เดือน

Share