คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5764/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เจตนารมณ์ของ ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสอง นั้น ก็เพื่อให้จำเลยมีทนายความช่วยเหลือในการต่อสู้คดีในความผิดที่มีโทษจำคุก แม้ว่าการทำหน้าที่ของ พ. ในฐานะทนายความของจำเลยจะไม่ปรากฏใบแต่งทนายความตั้งให้ พ. เป็นทนายความของจำเลย แต่ พ. ก็ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาในฐานะทนายความของจำเลยตลอดมาจนเสร็จสิ้นการพิจารณาของศาลชั้นต้น โดยจำเลยยอมรับเอาผลของการดำเนินกระบวนพิจารณานั้นตลอดมา และฝ่ายโจทก์ก็มิได้คัดค้านแต่ประการใด ตามพฤติการณ์จึงถือได้ว่าจำเลยได้มอบให้ พ. เป็นทนายความของจำเลยในคดีนี้แล้ว ทั้งภายหลังศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้จำเลยดำเนินการจัดใบแต่งทนายความเสียให้ถูกต้อง แต่จำเลยแถลงว่าไม่ประสงค์จะแต่งทนายความเนื่องจากต้องการให้การรับสารภาพ ยิ่งแสดงให้เห็นว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาจำเลยไม่เสียเปรียบ กรณีไม่เป็นการจำเป็นที่จะให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ริบของกลาง และคืนธนบัตร 200 บาท ที่ใช้ล่อซื้อของกลางแก่เจ้าของด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง จำเลยกระทำความผิดหลายกรรม ให้เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 4 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 8 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง คืนธนบัตร 200 บาท ที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากโจทก์ยื่นฟ้องจำเลย ศาลชั้นต้นสอบถามจำเลยเรื่องทนายความ จำเลยแถลงว่าจะหาทนายความเอง ศาลจึงนัดพร้อมวันที่ 23 เมษายน 2546 เวลา 9 นาฬิกา พอถึงวันนัดพร้อมจำเลยแถลงว่ายังหาทนายความไม่ได้ ขอให้ศาลตั้งทนายความให้ศาลจดในรายงานกระบวนพิจารณาว่า “พิเคราะห์แล้ว เนื่องจากจำเลยไม่มีทนายความจึงไม่อาจสอบคำให้การจำเลยได้ จึงให้ตั้งทนายความขอแรงให้จำเลยมีหนังสือขอแรงทนาย และลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 18 พฤศจิกายน 2546 นัดสืบพยานจำเลยวันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 เวลา 9 ถึง 16.30 นาฬิกา ทั้งสองนัด” ถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลจดรายงานกระบวนพิจารณาช่วงเช้าว่า “นัดสืบพยานโจทก์วันนี้ โจทก์จำเลยและทนายจำเลยมาศาล ก่อนพิจารณาศาลได้สอบคำให้การจำเลยแล้ว จำเลยยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาของโจทก์ ศาลจึงบันทึกไว้” ต่อจากนั้นศาลดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยตามที่นัดไว้จนเสร็จการพิจารณา และมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2546 เห็นว่า นายพิทยาการ สรเศรษฐวาณิช เข้าทำหน้าที่ทนายความของจำเลยตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2546 เป็นต้นมา โดยยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานบุคคลที่อ้างเป็นพยานจำเลย ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2546 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์ และมีการสอบคำให้การจำเลยก่อนเริ่มพิจารณา นายพิทยาการก็มาศาลและทำหน้าที่ในฐานะทนายความของจำเลยจนเสร็จการพิจารณา เห็นว่า เจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคสองนั้น ก็เพื่อให้จำเลยมีทนายความช่วยเหลือในการต่อสู้คดีในความผิดที่มีโทษจำคุก แม้ว่าการทำหน้าที่ของนายพิทยาการในฐานะทนายความของจำเลยจะไม่ปรากฏใบแต่งทนายความตั้งนายพิทยาการเป็นทนายความของจำเลย แต่นายพิทยาการก็ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาในฐานะทนายความของจำเลยตลอดมาจนเสร็จสิ้นการพิจารณาของศาลชั้นต้น โดยจำเลยยอมรับเอาผลของการดำเนินกระบวนพิจารณานั้นตลอดมา และฝ่ายโจทก์ก็มิได้คัดค้านแต่ประการใด ตามพฤติการณ์จึงถือได้ว่าจำเลยได้มอบให้นายพิทยาการเป็นทนายความของจำเลยในคดีนี้แล้ว ทั้งภายหลังศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำสั่งให้จำเลยดำเนินการจัดทำใบแต่งทนายความเสียให้ถูกต้อง แต่จำเลยแถลงว่าไม่ประสงค์จะแต่งทนายความเนื่องจากต้องการให้การรับสารภาพ ยิ่งแสดงให้เห็นว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาจำเลยไม่เสียปรียบ กรณีไม่เป็นการจำเป็นที่จะให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share