คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5801/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยครอบครองและได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทอยู่ก่อนแต่เมื่อ ส. ขอออกโฉนดที่ดินจำเลยไม่ได้คัดค้าน เจ้าพนักงานที่ดินได้ออกโฉนดที่ดินให้แก่ ส. ที่ดินตามโฉนดที่ดินซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ส. ต้องเริ่มนับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ตั้งแต่วันที่ออกโฉนดที่ดินคือวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2524 เป็นต้นไป ต่อมามีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของโจทก์ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2533 เนื่องจากโจทก์ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ซึ่งยังไม่ถึง 10 ปี เมื่อโจทก์เป็นบุคคลภายนอกได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง การครอบครองปรปักษ์ที่มีอยู่ก่อนนั้นจึงสิ้นไปแม้จำเลยครอบครองต่อมาก็ต้องเริ่มนับระยะเวลาการครอบครองใหม่ตั้งแต่ปี 2533 จนถึงวันที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้วันที่ 7 มิถุนายน2539 ยังไม่ถึง 10 ปี จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตามมาตรา 1382

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองร่วมกันเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 32297 โดยประมูลซื้อที่ดินดังกล่าวได้จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 671/2529 ของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2530 ต่อมาวันที่ 20 มิถุนายน2533 จึงมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของโจทก์ทั้งสองเมื่อเดือนมกราคม 2538 จำเลยขออาศัยที่ดินส่วนดังกล่าวเฉพาะส่วนทิศตะวันตกเฉียงเหนือของที่ดินเป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราว หากโจทก์ทั้งสองต้องการคืนเมื่อใด จำเลยจะรื้อถอนไปทันที โจทก์ทั้งสองเห็นว่าจำเลยเคยเป็นลูกจ้างโจทก์ที่ 1 จึงยินยอม ต่อมาเดือนมีนาคม 2539 โจทก์ทั้งสองนำช่างรังวัดไปรังวัดสอบเขตที่ดินดังกล่าววันที่ 24 พฤษภาคม 2539 จำเลยยื่นคำคัดค้านต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าช่างรังวัดได้รังวัดติดที่ดินของจำเลยเนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน ไปด้วย คำคัดค้านดังกล่าวไม่เป็นความจริง เนื่องจากจำเลยไม่ใช่เจ้าของที่ดินดังกล่าว ถือเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการเจรจาไกล่เกลี่ยแล้ว จำเลยไม่ยอมถอนคำคัดค้าน โจทก์ทั้งสองได้บอกเลิกให้จำเลยอาศัยที่ดินโจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดิน แต่จำเลยเพิกเฉยทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหาย ไม่สามารถทำโครงการพัฒนาที่ดินต่อไปได้ต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 100,000 บาท และเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์อีกเดือนละไม่น้อยกว่า 50,000 บาทขอให้พิพากษาว่า ที่ดินพิพาทภายในอาณาเขตเส้นสีแดง ตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง อันเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 32297 ตำบลปากพูน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราชจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นของโจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยถอนคำคัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินดังกล่าวของโจทก์ทั้งสองต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราช หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินดังกล่าว ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องอีกต่อไป และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน 100,000 บาท พร้อมค่าเสียหายอีกเดือนละ 50,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะถอนคำคัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดิน

จำเลยให้การว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของนายสัญญา เลาหกุล หรือนางสาวแฉล้ม เลาหกุล แต่นางเยาะยาย จำเลยเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ หลังจากปี 2505 นางเยาะถึงแก่กรรม จำเลยจึงเข้าครอบครองทำประโยชน์ต่อ โดยปลูกบ้านอยู่อาศัยปลูกไม้ผลต่าง ๆ ก่อนโจทก์ฟ้องคดีเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี แล้ว จำเลยครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเจ้าของเดิมไม่เคยโต้แย้ง ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นของจำเลยโจทก์ทั้งสองไม่เคยคัดค้านสิทธิของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารให้ขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 32297 ตำบลปากพูนอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช กับให้ถอนคำคัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินดังกล่าวของโจทก์ทั้งสองต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราช หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 7 มิถุนายน2539) จนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินดังกล่าวคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 นั้น ปรากฏตามสำเนาโฉนดที่ดินเลขที่32297 เอกสารหมาย จ.7 ซึ่งที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของโฉนดที่ดินดังกล่าวว่ามีนายสัญญา เลาหกุล เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และเจ้าพนักงานที่ดินได้ออกโฉนดที่ดินให้นายสัญญาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2524 ดังนั้น แม้จะฟังว่าจำเลยได้เข้าครอบครองและได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท แต่เมื่อนายสัญญาขอออกโฉนดที่ดินนั้นปรากฏตามใบไต่สวนเอกสารหมาย จ.5 ว่าจำเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านและไม่มีหลักฐานอื่นใดว่าจำเลยได้โต้แย้งคัดค้านเจ้าพนักงานที่ดินได้ออกโฉนดที่ดินดังกล่าวให้แก่นายสัญญา ที่ดินตามโฉนดที่ดินดังกล่าว ซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาทด้วยย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายสัญญาตามกฎหมาย จำเลยจะอ้างว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทก็ตาม แต่ก็ต้องเริ่มนับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ตั้งแต่วันที่ออกโฉนดที่ดินดังกล่าวคือวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2524 เป็นต้นไป และปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดที่ดินดังกล่าวมาเป็นของโจทก์ทั้งสองเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2533 ตามสำเนาโฉนดที่ดินดังกล่าวเอกสารหมาย จ.2 เนื่องมาจากโจทก์ที่ 2 ประมูลซื้อที่ดินดังกล่าวได้ในราคา 6,120,000 บาท จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 671/2529 ของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2530 ตามรายงานเจ้าหน้าที่และหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินเอกสารหมาย จ.7 แผ่นที่ 16 และ 17 ซึ่งยังไม่ถึง 10 ปี เมื่อจำเลยมิได้ให้การหรือนำสืบว่าโจทก์ทั้งสองมิใช่บุคคลภายนอกและกระทำการไม่สุจริตแล้วโจทก์ทั้งสอง ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 ว่ากระทำการโดยสุจริต สิทธิการครอบครองปรปักษ์ของจำเลยจึงไม่อาจใช้ยันโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง การครอบครองปรปักษ์ที่มีอยู่ก่อนนั้นจึงสิ้นไปแม้หลังจากที่โจทก์ทั้งสองรับจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดที่ดินดังกล่าวมาเป็นของโจทก์ทั้งสองแล้ว จำเลยจะครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาก็ต้องเริ่มนับระยะเวลาการครอบครองที่ดินพิพาทใหม่ตั้งแต่ปี 2533 จนถึงวันที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ วันที่ 7 มิถุนายน 2539 ก็ยังไม่ถึง 10 ปี จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share