แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เมื่อมีการร้องขอให้จดทะเบียนสมรส นายทะเบียนต้องจดทะเบียนสมรสให้ตาม พ.ร.บ. จดทะเบียนครอบครัวฯ มาตรา 10จะไม่รับจดทะเบียนต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ตาม มาตรา 13 เฉพาะในกรณีที่การสมรสมิได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ถึง 1454 เท่านั้นจะนำคำสั่งของกระทรวงมหาดไทยที่ห้ามจดทะเบียนสมรสให้คนไทยกับหญิงต่างด้าวที่ยังไม่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวมาใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไปอย่างเช่นกฎหมายหาไม่ได้
ผู้ร้องเป็นคนสัญชาติไทยขอจดทะเบียนสมรสกับนางสาว ฮ.คนญวนอพยพและไม่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ผู้คัดค้านซึ่งเป็นนายทะเบียนครอบครัวต้องรับจดทะเบียนสมรสให้ จะอ้างคำสั่งกระทรวงมหาดไทยไม่รับจดทะเบียนไม่ได้
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นายทะเบียนครอบครัวประจำสำนักทะเบียนอำเภอเมืองอุบลราชธานีรับจดทะเบียนสมรสระหว่างผู้ร้องกับ น.ส.เฮือง แซ่เหงียน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2525 ผู้ร้องกับนางสาวเฮือง แซ่เหงียน ได้ไปขอจดทะเบียนสมรสและทำคำร้องยื่นต่อนายอำเภอเมืองอุบลราชธานีตามเอกสารหมาย ร.2 ซึ่งมีข้อความระบุไว้ชัดแจ้งว่า ผู้ร้องอายุ 29 ปี เป็นบุคคลสัญชาติไทย นางสาวเฮือง แซ่เหงียน อายุ 32 ปี เป็นบุคคลสัญชาติเชื้อชาติญวน เกิดที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2493 และมีบัตรประจำตัวคนญวณอพยพตามเอกสารหมาย ร.3 ให้พิจารณาด้วย แต่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นนายอำเภอเมืองอุบลราชธานีและมีฐานะเป็นนายทะเบียนไม่รับจดทะเบียนสมรสให้ สำหรับเหตุผลที่ไม่รับจดทะเบียนสมรสได้ความจากคำของผู้คัดค้านเองว่า เนื่องจากนางสาวเฮือง แซ่เหงียน เป็นคนญวณอพยพและไม่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวซึ่งขัดกับระเบียบของกระทรวงมหาดไทยตามหนังสือที่ 649/2496 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2496 กับหนังสือที่ 20695/2501 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2501 เรื่อง ให้กวดขันการจดทะเบียนสมรสของหญิงต่างด้าวกับคนไทยเพื่อหลีกเลี่ยงในการเข้าเมืองมีรายละเอียดตามเอกสารหมาย ค.2 และ ค.3 ไม่ปรากฏว่ามีการอ้างเหตุตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478 มาตรา 13 แต่อย่างใด แสดงว่าบุคคลทั้งสองต้องมีคุณสมบัติอย่างอื่นครบถ้วนที่จะสมรสกันได้ เรื่องผิดเงื่อนไขการสมรสผู้คัดค้านเพิ่งจะมากล่าวอ้างในตอนหลังและคงกล่าวอ้างลอย ๆ มาในคำคัดค้านเท่านั้น แต่ในสำเนาทะเบียนบ้านญวนอพยพซึ่งนายทะเบียนอำเภอเมืองอุบลราชธานีทำขึ้นและมีแนบมาท้ายคำคัดค้านได้ระบุว่านางสาวเฮือง แซ่เหงียน เกิดปี พ.ศ. 2493 ซึ่งก็ตรงกับบัตรประจำตัวญวนอพยพตามเอกสารหมาย ร.2 ด้วย เชื่อว่านางสาวเฮือง แซ่เหงียน มีอายุมากกว่า 20 ปี และยังเป็นนางสาว ไม่มีคู่สมรสจริง ข้อคัดค้านเรื่องการสมรสผิดเงื่อนไขจึงรับฟังไม่ได้ ปัญหาเรื่องที่ผู้คัดค้านไม่รับจดทะเบียนสมรสให้ผู้ร้องกับนางสาวเฮือง แซ่เหงียน ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เห็นว่าการจดทะเบียนสมรส นายทะเบียนจะต้องถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478 คือเมื่อมีการร้องขอให้จดทะเบียนสมรส นายทะเบียนต้องจดทะเบียนสมรสให้ตามมาตรา 10 จะไม่รับจดทะเบียนต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ตามมาตรา 13 เฉพาะในกรณีที่การสมรสมิได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1445 ถึงมาตรา 1447 (ปัจจุบันมาตรา 1448 ถึง มาตรา 1454) เท่านั้น ส่วนคำสั่งหรือระเบียบของกระทรวงมหาดไทยตามหนังสือเอกสารหมาย ค.2 และ ค.3 ซึ่งมีการเพิ่มเติมเงื่อนไขห้ามนายทะเบียนจดทะเบียนสมรส ให้คนไทยกับหญิงต่างด้าวที่ยังไม่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวด้วย ก็ได้ความชัดว่า กระทรวงหมาดไทยออกคำสั่งหรือระเบียบดังกล่าวโดยมิได้อาศัยอำนาจตามกฎหมายหรือมีกฎหมายฉบับใดให้อำนาจไว้ จึงถือเป็นเพียงระเบียบภายในระหว่างเจ้าหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยด้วยกันเท่านั้น จะนำมาใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไปอย่างเช่นกฎหมายหาได้ไม่ผู้คัดค้านไม่รับจดทะเบียนสมรสให้ผู้ร้องกับนางสาวเฮือง แซ่เหงียน ตามคำสั่งและระเบียบดังกล่าวจึงไม่ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย กรณีอย่างเดียวกันนี้ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานแล้วตามคำพิพากษาฎีกาที่ 720/2505 ระหว่าง นายเป้งเฮียง ทวีโภคากับพวก โจทก์ นายสอาดศิริพัฒน์จำเลย และคำพิพากษาฎีกาที่ 3740/2525 ระหว่าง นายเกียรติศักดิ์แซ่จิว ผู้ร้อง ร้อยเอกอรุณ พันธุ์ภักดี ผู้คัดค้าน ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งให้นายทะเบียนครอบครัวประจำสำนักทะเบียนอำเภอเมืองอุบลราชธานีรับจดทะเบียนสมรสให้ผู้ร้องกับนางสาวเฮือง แซ่เหงียน ชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน