คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 580/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือใส่ความผู้อื่นนั้น แม้จะส่งไปถึงนายกรัฐมนตรี เพียงคนเดียว ก็ถือว่าใส่ความต่อบุคคลที่ 3 ตามมาตรา 326 แห่ง ประมวลกฎหมายอาญา
เมื่อปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา และได้ร่วมเป็นองค์คณะตัดสินคดีที่ทำให้จำเลยแพ้และจำเลยได้กล่าวข้อความซึ่งเป็นการดูหมิ่น โจทก์ในฐานะที่เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา ย่อมเป็นความผิดต่อมาตรา 198ประมวลกฎหมายอาญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานหมิ่นประมาทดูหมิ่นเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๖, ๓๒๖, ๑๙๘
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๓๒๖ ฐานใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์ และตามมาตรา ๑๙๘ ฐานดูหมิ่นผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาคดี แต่การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียว กัน ให้ลงโทษตาม มาตรา ๑๙๘ ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก ๖ เดือน เมื่อจำเลยผิดมาตรา ๑๙๘ แล้วย่อมไม่ผิดมาตรา ๑๓๖
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำคุกมาตรา ๓๒๖ มีกำหนด ๑ เดือน แล้ให้รออาญาการลงโทษไว้
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นรับเฉพาะข้อ ๒ (๑) คือข้อที่ให้ศาลวินิจฉัยว่าจำเลยผิดมาตรา ๓๒๖ หรือไม่
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษตามมาตรา ๑๙๘
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้จำเลยจะส่งหนังสือร้องเรียน (เอกสาร จ.๔) ไปยังนายกรัฐมนตรี เพียงคนเดียว ก็ถือว่าใส่ความต่อบุคคลที่ ๓ ตามมาตรา ๓๒๖ และวินิจฉัยต่อไปว่า เอกสาร จ.๔ ที่จำเลยทำขึ้นและยื่นต่อนายกรัฐมนตรีนั้นมีข้อความที่เป็นการดูหมิ่นโจทก์ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา เพราะโจทก์ได้ร่วมองค์คณะพิพากษาคดึที่จำเลยฟ้องกระทรวงยุติธรรม ให้จำเลยเป็นผู้แพ้คดี กล่าวคือ จำเลยได้กล่าวในเอกสาร จ.๔ นั้น ขอให้นายกรัฐมนตรี สั่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์ลแะพวก โดยกล่าวหาว่าทำผิดวินัยทุจริตต่อหน้าที่ อันเป็นความประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ข้อกล่าวหาของจำเลยในเอกสาร จ.๔ ต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาและเป็นผู้ร่วมตัดสินคดีของจำเลยด้วยมีหลายประการ ซึ่งเป็นการดูหมิ่นโจทก์ในฐานที่เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา เช่น จำเลยกล่าวว่า โจทก์ทนงองอาจจงใจจตัดสินคดีโดยแหวกแนวนอกเหนือกฎหมาย ตัดสินความโดยความโง่เขา ไม่รอบรู้กฎหมายอันว่าด้วยวิธี สบัญญัติแตกฉาน นอกจากนี้ยังขอให้สอบสวนเพื่อขับไล่โจทก์ออกจากศาลฎีกา เพราะเป็นคนบ่อนทำลาวเกียรติยศชื่อเสียงของศาลฎีกา ดังนี้ ข้อความในเอกสาร จ.๔ ที่ยกขึ้นกล่าวนั้น เป็นการกล่าวหาดูหมิ่นโจทก์ในขณะปฏิบัติหน้าที่ผู้พิพากษาศาลฎีกาตามมาตรา ๑๙๘
จึงพิพากษาแก้ศาลอุทธรณ์ ว่า จำเลยผิดมาตรา ๑๙๘, ๓๒๖ แต่ให้ลงโทษตามมาตรา ๑๙๘ ซึ่งเป็นบทหนัก กำหนด ๖ เดือน แต่ให้รอลงอาญาไว้ ๓ ปี

Share