แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่พิพาทเป็นที่ดินมีโฉนด โจทก์ซื้อโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนสิทธิแล้วแม้จำเลยจะได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยครอบครองปรปักษ์ แต่ไม่ได้จดทะเบียนสิทธิโดยชอบจะนำมาใช้ยันโจทก์ไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเข้าทำนาของโจทก์โดยละเมิด โจทก์ได้รับความเสียหาย แต่คำขอท้ายฟ้องใช้ว่า ขอให้จำเลยชำระค่าเช่าดังนี้ ศาลพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายได้
ย่อยาว
คดีทั้งสามสำนวนศาลพิจารณารวมกัน
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อที่ดินมีโฉนดโดยเสียค่าตอบแทน โดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิต่อเจ้าพนักงานที่ดินแล้ว จำเลยบุกรุก ขอให้ศาลบังคับจำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยเสียค่าเช่าให้โจทก์
จำเลยให้การว่า ที่พิพาทเดิมเป็นของบิดามารดาจำเลย ได้ตกทอดมาเป็นของจำเลย จำเลยครอบครองอย่างเป็นเจ้าของมากว่า 10 ปีแล้วโจทก์ซื้อที่พิพาทโดยไม่สุจริต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลย ให้จำเลยชำระค่าเช่า
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยไม่มีหลักฐานที่จะแสดงว่าโจทก์ซื้อที่พิพาทโดยไม่สุจริตคดีฟังได้ว่าโจทก์ซื้อที่พิพาทมาโดยสุจริตเสียค่าตอบแทน และได้จดทะเบียนสิทธิแล้ว ที่จำเลยนำสืบว่าได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยอำนาจปรปักษ์แต่ไม่ได้จดทะเบียนโดยชอบนั้นจะนำมาใช้ยันโจทก์ไม่ได้ ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรค 2
คดีนี้โจทก์จำเลยไม่ได้ทำสัญญาเช่ากัน ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องเป็นเรื่องจำเลยเข้าทำนาของโจทก์โดยละเมิด โจทก์ได้รับความเสียหายค่าเสียหายที่โจทก์จะได้รับโจทก์คิดเท่ากับค่าเช่าที่ควรจะได้แต่คำขอท้ายฟ้องแทนที่โจทก์จะใช้คำว่า ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายกลับไปใช้คำว่า ขอให้จำเลยชำระค่าเช่า ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่า เมื่ออ่านคำฟ้องของโจทก์โดยตลอดแล้วก็เห็นได้ชัดว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายนั่นเอง ศาลชอบที่จะพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายได้
พิพากษากลับ ให้ขับไล่จำเลย และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์