คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5793/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 22 บัญญัติว่าในกรณีที่เจ้าของได้ที่ดินใดมาโดยมิได้ใช้อยู่อาศัยหรือใช้ประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพหรือทำประโยชน์ในที่ดินอย่างแท้จริงถ้าหากมีการเวนคืนที่ดินนั้นภายในห้าปีนับแต่วันที่เจ้าของได้ที่ดินนั้นมาจะกำหนดเงินค่าทดแทนให้ต่ำกว่าเงินค่าทดแทนที่กำหนดตามมาตรา 21 ก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่าราคาที่ดินในขณะที่เจ้าของได้ที่ดินนั้นมา มาตรา 22 นี้ มีความหมายว่า หากเงินค่าทดแทนที่ดินที่จะกำหนดให้ตามมาตรา 21 เป็นจำนวนสูงกว่าราคาที่ดินที่ผู้ถูกเวนคืนซื้อมาภายในห้าปีก่อนการเวนคืนที่ดินนั้น จะกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้ต่ำกว่าเงินค่าทดแทนที่ดินที่กำหนดตามมาตรา 21 ก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่าราคาที่ดินที่ผู้ถูกเวนคืนซื้อมา หากราคาที่ดินที่ผู้ถูกเวนคืนซื้อมาสูงกว่าเงินค่าทดแทนที่ดินที่กำหนดตามมาตรา 21 แล้วก็ต้องกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้ตามมาตรา 21 จะกำหนดให้เท่ากับราคาที่ดินที่ถูกผู้เวนคืนซื้อมาไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 12,158,128.77 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11 ต่อปี ของต้นเงิน 10,900,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 545,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 11 ต่อปี ตามที่โจทก์ทั้งสองขอ นับแต่วันที่ 2 กันยายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดี กำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์ทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองควรได้เงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นจากที่รัฐมนตรี ฯ วินิจฉัยไว้ตารางวาละ 3,000 บาท อีกหรือไม่ เพียงใด โดยโจทก์ทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวมาจากนายผาด เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2538 ในราคา 13,200,000 บาท หรือตารางวาละ 5,500 บาท ตามสำเนาสัญญาขายที่ดิน ซึ่งต้องถือว่าเป็นราคาที่ซื้อขายกันจริงตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 22 ที่ดินที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงกับที่ดินของโจทก์ทั้งสอง เช่น ที่ดินของหมู่บ้านนริศา มีราคาประเมินตารางวาละ 25,000 บาท ที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือถูกแบ่งออกเป็นสองแปลง มีถนนวงแหวนต่างระดับ ช่วงที่ผ่านที่ดินของโจทก์ทั้งสองยกสูงประมาณ 6 เมตร ถึง 9 เมตร มีทางลำลองเป็นทางลูกรัง กว้าง 9 เมตร อยู่ด้านล่างติดกับที่ดินของโจทก์ทั้งสองส่วนที่เหลือเพียงด้านเดียว ส่วนที่ดินของโจทก์ที่เหลืออีกแปลงหนึ่งไม่ติดทางลำลอง การเวนคืนไม่ทำให้โจทก์ทั้งสองได้ประโยชน์จากที่ดินที่เหลือ โจทก์ทั้งสองสมควรได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มเป็นตารางวาละ 12,500 บาท เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 22 บัญญัติว่า ในกรณีที่เจ้าของได้ที่ดินใดมาโดยมิได้ใช้อยู่อาศัยหรือใช้ประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพ หรือทำประโยชน์ในที่ดินนั้นอย่างแท้จริง ถ้าหากมีการเวนคืนที่ดินนั้นภายในห้าปีนับแต่วันที่เจ้าของได้ที่ดินนั้นมาจะกำหนดเงินค่าทดแทนให้ต่ำกว่าเงินค่าทดแทนที่กำหนดตามมาตรา 21 ก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่าราคาที่ดินในขณะที่เจ้าของได้ที่ดินนั้นมา มาตรา 22 นี้ มีความหมายว่า หากเงินค่าทดแทนที่ดิน ที่จะกำหนดให้ตามมาตรา 21 เป็นจำนวนสูงกว่าราคาที่ดินที่ผู้ถูกเวนคืนซื้อมาภายในห้าปีก่อนการเวนคืนที่ดินนั้น จะกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้ต่ำกว่าเงินค่าทดแทนที่ดินที่กำหนดมาตรา 21 ก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่าราคาที่ดินที่ผู้ถูกเวนคืนซื้อมา หากราคาที่ดินที่ผู้ถูกเวนคืนซื้อมาสูงกว่าเงินค่าทดแทนที่ดินที่กำหนดตามมาตรา 21 แล้วก็ต้องกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้ตามมาตรา 21 จะกำหนดให้เท่ากับราคาที่ดินที่ผู้ถูกเวนคืนซื้อมาไม่ได้ ดังนั้น หากพิจารณาตามหลักเกณฑ์ของมาตรา 21 แล้ว เงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสองควรเป็นจำนวนเงินน้อยกว่าราคาที่ดินที่โจทก์ทั้งสองซื้อมา โจทก์ทั้งสองก็ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเท่ากับราคาที่ดินที่โจทก์ทั้งสองซื้อมา ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่าที่ดินในละแวกใกล้เคียงกับที่ดินของโจทก์ทั้งสองคือที่ดินของหมู่บ้านนริศา มีราคาประเมินตารางวาละ 25,000 บาท นั้น เห็นว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินจัดสรรของบริษัทสยามสินธร จำกัด อยู่ติดถนนประชาอุทิศ มีสาธารณูปโภคครบถ้วน เป็นที่ดินที่พัฒนาเพื่อประกอบการทางธุรกิจ แต่ที่ดินของโจทก์ทั้งสองเป็นที่สวนติดลำรางตัน ไม่มีถนนสาธารณะเข้าถึงจึงไม่อาจนำมาเทียบเคียงกันได้ อย่างไรก็ตาม ที่ดินของโจทก์ทั้งสองอยู่บริเวณรอบนอกของกรุงเทพมหานคร ไปไกลจากแหล่งที่มีความเจริญแล้ว ทั้งห่างจากถนนสายหลักของฝั่งธนบุรีไม่มาก ประกอบกับได้มีการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินแปลงนี้กันเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2538 ในราคาตารางวาละ 5,500 บาท จึงเชื่อว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสองน่าจะมีราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ เกินกว่าตารางวาละ 3,000 บาท พอสมควร แต่ก็ได้ความจากนายสมพงษ์ นายช่างโยธา 6 พยานจำเลยว่า ถนนวงแหวนด้านใต้ต่างระดับช่วงที่ผ่านที่ดินของโจทก์ทั้งสองยกสูงราว 6 เมตร ถึง 9 เมตร โดยมีทางลำลองคู่ขนานอยู่ด้านล่างเป็นทางลูกรังกว้างประมาณ 9 เมตร ขนานไปกับถนนวงแหวนต่างระดับออกสู่ถนนประชาอุทิศได้ ส่วนที่ดินของโจทก์ทั้งสองส่วนที่เหลือแปลงที่ไม่ติดกับทางลำลองก็สามารถขออนุญาตทำทางลอดไปเชื่อมทางลำลองได้เช่นกัน ดังนั้น ผลของการเวนคืนทำให้ที่ดินของโจทก์ทั้งสองส่วนที่เหลือจากการเวนคืนซึ่งถูกแบ่งเป็นสองแปลง ซึ่งแต่เดิมไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณะ สามารถใช้ทางลำลองเป็นทางรถยนต์ออกสู่ทางสาธารณะอื่นที่เชื่อมกับถนนประชาอุทิศไปสู่แหล่งที่มีความเจริญใกล้เคียงได้สะดวกขึ้นทำให้ราคาที่ดินของโจทก์ทั้งสองส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมีเนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 10 ตารางวา มีราคาสูงขึ้นกว่าเดิมบ้าง เมื่อคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) ประกอบประโยชน์ที่โจทก์ทั้งสองได้รับจากที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนอันมีราคาสูงขึ้นบ้างตามมาตรา 21 วรรคสอง แล้ว เห็นว่า ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นตารางวาละ 3,000 บาท นั้น ยังต่ำไป เงินค่าทดแทนที่ดินที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสองและสังคมควรเป็นตารางวาละ 4,000 บาท หรือเพิ่มอีกตารางวาละ 1,000 บาท รวมที่ดินที่ถูกเวนคืน 2 ไร่ 2 งาน 90 ตารางวา เป็นเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้น 1,090,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน…
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 1,090,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 11 ต่อปี ตามที่โจทก์ทั้งสองขอ นับแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ทั้งสอง เฉพาะค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นและในชั้นฎีกาให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดี ส่วนในชั้นอุทธรณ์ให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดีเพิ่มขึ้นจากคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยกำหนดค่าทนายความรวม 30,000 บาท

Share