คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5793/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เหตุผลที่ยกขึ้นฎีกาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมไม่ตรงกับที่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้ จึงต้องถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบและไม่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย โจทก์ทั้งสองครอบครองปรปักษ์ที่ดินใต้กันสาดจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว ท่อระบายน้ำทิ้งซึ่งอยู่ในที่ดินดังกล่าวย่อมตกเป็นสิทธิของโจทก์ทั้งสองโดยไม่ต้องชี้ขาดว่าเป็นภารจำยอมอีกหรือไม่ ภารจำยอมในที่ดินของจำเลยไม่สิ้นไปเพราะจำเลยซื้อที่ดินโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสองเพราะตามบทบัญญัติดังกล่าวหมายถึงสองฝ่ายได้สิทธิอย่างเดียวกันโดยเหตุที่แตกต่างกัน แต่ในกรณีภารจำยอมนี้โจทก์ฝ่ายเดียวเป็นผู้ได้สิทธิภารจำยอม จำเลยมิใช่เป็นผู้ได้สิทธิ แต่กลับเป็นผู้ที่จะต้องรับรู้สิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1387 กรณีจึงไม่อาจบังคับตามมาตรา 1299 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนรั้วคอนกรีตที่สร้างอยู่ใต้กันสาดหลังตึกแถวเลขที่ 101/5 และ 101/7 ของโจทก์ทั้งสองให้หมดสิ้น และห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้อง หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์ทั้งสองมีสิทธิรื้อถอนโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ให้จำเลยส่งมอบที่ดิน 4 ตารางเมตร คืนให้แก่โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยเปิดท่อระบายน้ำทิ้งกว้าง 40 เซนติเมตร ยาว 14 เมตร ในที่ดินโฉนดเลขที่ 5126 ให้เป็นภารจำยอม
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสองมิได้ครอบครองและใช้สอยกันสาดและท่อระบายน้ำทิ้งใต้กันสาด เพราะโจทก์ที่ 1 รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากนางสาวพิมพา เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2521 (ยังไม่ถึง10 ปี) ส่วนโจทก์ที่ 2 แม้จะได้ครอบครองที่ดินพิพาทนานเกินกว่า10 ปี แล้วก็ตาม ก็ไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ยันจำเลยได้เพราะจำเลยรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 199 และ 5126 โดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนการได้มาโดยสุจริต ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยเปิดท่อระบายน้ำทิ้งกว้าง 15เซนติเมตร ยาวตลอดแนวด้านหลังตึกแถวของโจทก์ทั้งสองไหลผ่านบนที่ดินโฉนดเลขที่ 5126 ของจำเลย ส่วนคำขออื่นให้ยก
โจทก์ทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์ทั้งสองได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองที่ดินบางส่วนเนื้อที่คนละ 4 ตารางเมตร ในที่ดินโฉนดเลขที่ 199 ส่วนที่อยู่ใต้กันสาดตึกแถวเลขที่ 101/5 โฉนดเลขที่5123 และตึกแถวเลขที่ 101/7 โฉนดเลขที่ 5125 และให้จำเลยรื้อถอนรั้วคอนกรีตที่จำเลยสร้างขึ้นใต้กันสาดของตึกแถวเลขที่ 101/5 และ101/7 ของโจทก์ทั้งสอง เมื่อรื้อถอนเสร็จห้ามเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์อีกต่อไป นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาว่า ฟ้องเคลือบคลุมเพราะโจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับเรื่องท่อระบายน้ำทิ้งโดยอ้างถึงที่ดินโฉนดเลขที่ 199 และ 5126 ซึ่งจำเลยไม่อาจทราบได้ว่าโจทก์จะอ้างสิทธิใดมายันจำเลยในเรื่องของท่อระบายน้ำทิ้งดังกล่าว เนื่องจากโจทก์และจำเลยพิพาทกันเฉพาะที่ดินของจำเลยตามโฉนดเลขที่ 199เท่านั้น มิได้เกี่ยวพันไปถึงที่ดินโฉนดเลขที่ 5126 แต่อย่างใดแต่ในคำให้การของจำเลยอ้างเหตุผลว่า ฟ้องเคลือบคลุม เพราะตอนต้นโจทก์บรรยายฟ้องว่าครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแต่ตอนต่อมากลับบรรยายฟ้องว่า ได้ที่ดินพิพาทโดยภารจำยอมทำให้จำเลยไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ดังนี้จะเห็นได้ว่าเหตุผลที่ยกขึ้นฎีกาไม่ตรงกับที่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้ จึงต้องถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบ และไม่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
โจทก์ทั้งสองครอบครองปรปักษ์ที่ดินใต้กันสาดด้านหลังตึกแถวคนละ 4 ตารางเมตร โดยนับรวมระยะเวลาการครอบครองต่อเนื่องกันมานานเกินกว่า 10 ปี จนได้กรรมสิทธิ์แล้ว เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้ว ท่อระบายน้ำทิ้งที่อยู่ด้านหลังตึกแถวอยู่ในเนื้อที่ดิน 4ตารางเมตร ดังกล่าว ย่อมตกเป็นสิทธิของโจทก์ทั้งสองโดยไม่ต้องชี้ขาดว่าเป็นภารจำยอมหรือไม่ จำเลยมีบ้านอยู่ห่างจากที่ดินพิพาทประมาณ 200 เมตร อยู่มานาน 18 ปีแล้ว จำเลยสังเกตเห็นมีท่อระบายน้ำทิ้งอยู่ใต้กันสาด ตอนที่จำเลยซื้อที่ดินก็ได้เห็นมีกันสาดอยู่ด้านหลังตึกแถวของโจทก์ทั้งสอง และใต้กันสาดมีประตูไม้ดังนี้ โดยปกติวิสัยจำเลยจะต้องทราบว่าด้านหลังตึกแถวจำเป็นต้องมีที่ว่างอยู่ส่วนหนึ่งแต่จำเลยยังขืนซื้อโดยถือสิทธิที่จะสร้างกำแพงคอนกรีตประชิดติดกับผนังตึกแถวของโจทก์ทั้งสองกับพวก เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองกับพวกเดือดร้อนไม่สามารถเปิดประตูออกไปทางด้านหลังได้ตามปกติ และท่อระบายน้ำทิ้งก็ถูกจำเลยทุบทำลายเพื่อสร้างกำแพงคอนกรีตจนไม่สามารถระบายน้ำเสียได้ พฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยซื้อที่ดินโดยไม่สุจริต โจทก์ทั้งสองจึงอ้างสิทธิครอบครองปรปักษ์ยันจำเลยได้
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 5126 ตกอยู่ในภารจำยอมที่จะต้องให้มีท่อระบายน้ำทิ้งลอดใต้พื้นจากด้านหลังไปทางด้านหน้าเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินและตึกแถวของโจทก์ทั้งสอง ภารจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 5126 ของจำเลยนั้นไม่สิ้นไป เพราะจำเลยซื้อที่ดินโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสองเพราะตามบทบัญญัติดังกล่าวหมายถึงสองฝ่ายได้สิทธิอย่างเดียวกันโดยเหตุที่แตกต่างกัน เช่น โจทก์ได้สิทธิโดยการครอบครองปรปักษ์แต่จำเลยได้สิทธิโดยจดทะเบียนซื้อที่ดินแล้วเกิดปัญหาโต้เถียงว่าใครจะมีสิทธิดีกว่ากัน กรณีเช่นนี้จึงต้องด้วยมาตรา 1299 วรรคสองคือกฎหมายถือเอาการจดทะเบียนเป็นข้อสำคัญ ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้บุคคลภายนอกผู้สุจริตต้องเสียหาย ถ้าจำเลยจดทะเบียนซื้อที่ดินโดยสุจริตก็ย่อมมีสิทธิดีกว่าผู้ครอบครองปรปักษ์ซึ่งยังมิได้จดทะเบียนสิทธิของตน แต่ในกรณีภารจำยอมนี้โจทก์ฝ่ายเดียวเป็นผู้ได้สิทธิภารจำยอมจำเลยมิใช่เป็นผู้ได้สิทธิ แต่กลับเป็นผู้ที่จะต้องรับรู้สิทธิของโจทก์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 กรณีจึงไม่อาจบังคับตามมาตรา 1299 วรรคสอง
พิพากษายืน

Share