แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ฝากทั่วไปมิใช่อัตราที่คิดสำหรับส่วนราชการเป็นผู้ฝากและไม่ต้องคำนึงเลยว่าผู้จ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้นจะเป็นส่วนราชการหรือไม่ และกรณีดังกล่าวมิใช่เป็นเรื่องคำพิพากษาศาลฎีกามีข้อผิดพลาดเล็กน้อยอันอาจแก้ไขตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 แต่เป็นกรณีมีปัญหาการบังคับคดีเกี่ยวกับการคิดคำนวณดอกเบี้ยซึ่งโจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้องก็ชอบที่ร้องขอต่อศาลให้วินิจฉัยได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ซึ่งถูกเวนคืน ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 23,940,000 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 10.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 มีนาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสี่ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ฎีกาให้เป็นพับ
โจทก์ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 1 นำดอกเบี้ยมาชำระให้แก่โจทก์ยังขาดอยู่จำนวน 1,612,039.35 บาท เนื่องจากคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน โดยถืออัตราดอกเบี้ยที่ส่วนราชการเป็นผู้ฝากแทนที่จะใช้ดอกเบี้ยประเภทฝากประจำในนามของโจทก์ จึงไม่ถูกต้อง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยสูงสุดประเภทเงินฝากประจำของธนาคารออมสินที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระแก่โจทก์มีหลายประเภทคือประเภทผู้ฝากทั่วไป รัฐวิสาหกิจ และส่วนราชการ จึงขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 ว่าจะใช้ดอกเบี้ยสูงสุดประเภทใด
จำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องคัดค้านว่า การคิดคำนวณดอกเบี้ยของพนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลกระทำโดยชอบและถูกต้องแล้ว หากโจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้องก็ชอบที่จะโต้แย้งการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลโดยตรง และหากได้รับความเสียหายก็ชอบที่จะดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 ได้ แต่โจทก์หาได้ดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ไม่ กลับร้องขอให้ศาลวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 โดยอ้างว่าเป็นการขอแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อย ซึ่งจำเลยทั้งสี่ไม่เห็นพ้องด้วย เพราะมิใช่เป็นกรณีที่คำพิพากษาของศาลฎีกาผิดพลาดอันอาจขอแก้ไขได้ตามมาตรา 143 ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามคำร้องไม่ใช่กรณีคำพิพากษาศาลฎีกามีข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยที่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 แต่อย่างใด แต่เป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่ามีข้อขัดข้องในการบังคับคดี และเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 เป็นส่วนราชการของรัฐ จะฝากเงินต่อธนาคารออมสิน ก็ต้องใช้ดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในอัตราของส่วนราชการไม่อาจใช้อัตราของผู้ฝากทั่วไปหรือประชาชนหรือรัฐวิสาหกิจอัตราดอกเบี้ยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 26 วรรคสาม ในกรณีที่ส่วนราชการจะต้องเป็นผู้ชำระนั้น จึงต้องใช้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของส่วนราชการเท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าดอกเบี้ยตามอัตราข้างต้นในการบังคับคดีมีข้อผิดพลาดอย่างไร การชำระหนี้ของจำเลยทั้งสี่ตามคำพิพากษาจึงชอบแล้ว ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า การบังคับคดีส่วนดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินนั้น ให้ถืออัตราดอกเบี้ยในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ฝาก ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เห็นสมควรให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยว่าให้จำเลยทั้งสี่ชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแก่โจทก์นั้น หมายถึงอัตราดอกเบี้ยสำหรับผู้ฝากทั่วไป หรือส่วนราชการเป็นผู้ฝาก เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติว่า “ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น” และมาตรา 31 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ถ้าจะต้องมีการวางเงินค่าทดแทนไม่ว่าเนื่องในกรณีใด ๆ ให้กระทำโดยการนำไปวางต่อศาลหรือสำนักงานวางทรัพย์ หรือฝากไว้กับธนาคารออมสินในชื่อของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนโดยแยกเป็นบัญชีเฉพาะราย ในการนี้ถ้ามีดอกเบี้ยหรือดอกผลใดเกิดขึ้นเนื่องจากการฝากเงินนั้นให้ตกเป็นสิทธิแก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนนั้นด้วย” ดังนั้น เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแก่โจทก์ และจำเลยทั้งสี่ได้นำเงินดังกล่าวมาวางต่อศาลเพื่อชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในฐานะที่โจทก์เป็นบุคคลผู้ฝากทั่วไปโดยไม่ต้องคำนึงเลยว่าผุ้จ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้นจะเป็นส่วนราชการหรือไม่ เพราะโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวมิใช่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจแต่ประการใด และกรณีมิใช่เป็นเรื่องคำพิพากษาศาลฎีกามีข้อผิดพลาดเล็กน้อยอันอาจแก้ไขได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 ดังที่โจทก์ร้องขอมาท้ายคำร้อง แต่เป็นกรณีมีปัญหาการบังคับคดีเกี่ยวกับการคิดคำนวณดอกเบี้ย ซึ่งโจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้องก็ชอบที่ร้องขอต่อศาลให้วินิจฉัยได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในฐานะผู้ฝากทั่วไปชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ.