แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้นายจ้างจะจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ล่วงหน้าก่อนวันสิ้นเดือนอันเป็นกำหนดจ่ายตามปกติของนายจ้างก็ตาม แต่ก็เพื่อความสะดวกที่โจทก์จะนำเงินไปใช้จ่ายในระหว่างคลอดบุตรซึ่งไม่ปรากฏว่ามีเจตนาทุจริตแต่อย่างใด เมื่อมีการจ่ายค่าจ้างนายจ้างก็มีหน้าที่ต้องหักค่าจ้างส่งเป็นเงินสมทบแก่สำนักงานประกันสังคม และถือได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบแล้วตั้งแต่วันที่นายจ้างหักค่าจ้าง เมื่อนับรวมกับเงินสมทบที่ส่งไปก่อนหน้านั้นแล้ว โจทก์ได้ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมครบเจ็ดเดือนแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิที่จะได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรตามกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัทเชาว์อรุณจำกัด กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน โดยบริษัทหักเงินเดือนของโจทก์เข้าเป็นเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ต่อมาโจทก์คลอดบุตรและยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรต่อสำนักงานประกันสังคมแต่ได้รับแจ้งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนเนื่องจากจ่ายเงินสมทบไม่ครบเจ็ดเดือนภายในระยะเวลาสิบห้าเดือน จึงยังไม่ก่อให้เกิดสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทน โจทก์ไม่เห็นด้วย ขอให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ และให้จำเลยจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรตามกฎหมายแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างบริษัทเชาว์อรุณ จำกัด และได้จ่ายเงินสมทบตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2540 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2540รวมหกเดือน โจทก์คลอดบุตรก่อนที่โจทก์จะจ่ายเงินสมทบเดือนที่เจ็ดเนื่องจากโจทก์ทำงานในเดือนธันวาคม 2540 ไม่ครบเดือน จึงยังไม่ได้ส่งเงินสมทบในเดือนธันวาคม 2540 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนตามคำฟ้องของโจทก์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “การหักเงินสมทบของลูกจ้างส่งสำนักงานประกันสังคมนั้น พระราชบัญญัติประกันสังคม มาตรา 47บัญญัติว่า “ทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้าง ให้นายจ้างหักค่าจ้างของผู้ประกันตนตามจำนวนที่จะต้องนำส่งเป็นเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตามมาตรา 46และเมื่อนายจ้างได้ดำเนินการดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบแล้วตั้งแต่วันที่นายจ้างหักค่าจ้าง” หมายความว่า ทุกครั้งที่นายจ้างจ่ายค่าจ้างนายจ้างต้องหักค่าจ้างของลูกจ้างส่งเป็นเงินสมทบแก่สำนักงานประกันสังคมโดยบทกฎหมายดังกล่าวไม่มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นการจ่ายค่าจ้างตามปกติหรือตามระเบียบข้อบังคับของนายจ้าง การที่บริษัทเชาว์อรุณ จำกัด จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ในวันที่ 25 ธันวาคม 2540 ซึ่งเป็นการจ่ายล่วงหน้าก่อนวันสิ้นเดือนอันเป็นกำหนดจ่ายตามปกติก็เพื่อความสะดวกที่โจทก์จะนำเงินไปใช้จ่ายในระหว่างคลอดบุตรซึ่งไม่ปรากฏว่ามีเจตนาทุจริตแต่อย่างใด เมื่อมีการจ่ายค่าจ้างแล้วบริษัทเชาว์อรุณ จำกัด ผู้เป็นนายจ้างก็มีหน้าที่ต้องหักค่าจ้างที่จ่ายแก่โจทก์ดังกล่าวส่งเป็นเงินสมทบแก่สำนักงานประกันสังคมและเมื่อหักแล้วจะมีผลถือว่าผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบแล้วตั้งแต่วันที่นายจ้างหักค่าจ้างเท่ากับโจทก์จ่ายเงินสมทบแก่สำนักงานประกันสังคมตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2540 และพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 6 วรรคสามบัญญัติไว้ว่า “เพื่อประโยชน์ในการนับระยะเวลาการส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนให้ถือว่าเงินสมทบที่หักจากค่าจ้างที่จ่ายให้ลูกจ้างในเดือนใดเป็นการจ่ายเงินสมทบของเดือนนั้น และไม่ว่าเงินสมทบนั้นจะได้หักไว้หรือนำส่งเดือนละกี่ครั้ง ให้ถือว่ามีระยะเวลาในการจ่ายเงินสมทบเท่ากับหนึ่งเดือน”กรณีของโจทก์บริษัทเชาว์อรุณ จำกัด จ่ายค่าจ้างสำหรับเดือนธันวาคม 2540 ให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2540 ถือว่าเป็นการจ่ายเงินสมทบสำหรับเดือนธันวาคม 2540 และถือว่าเป็นการจ่ายเงินสมทบเท่ากับหนึ่งเดือนเมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัทเชาว์อรุณจำกัด ได้รับค่าจ้างเดือนละ 10,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือนโจทก์เป็นผู้ประกันตนส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในอัตราร้อยละ 1.5 ของเงินเดือน โดยบริษัทเชาว์อรุณ จำกัด ผู้เป็นนายจ้างหักเงินเดือนของโจทก์ส่งเข้ากองทุนประกันสังคมทุกวันสิ้นเดือน ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน2540 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2540 รวมหกเดือน ดังนี้เมื่อนับรวมกับเงินสมทบที่ส่งในเดือนธันวาคม 2540 อีกหนึ่งเดือนเท่ากับโจทก์ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมรวมเจ็ดเดือนแล้ว โดยพระราชบัญญัติประกันสังคมพ.ศ. 2533 ได้บัญญัติถึงสิทธิของผู้ประกันตนที่จะได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรไว้ในมาตรา 65 ว่า “ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรสำหรับตนเองหรือภริยาหรือสำหรับหญิงซึ่งอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยากับผู้ประกันตนโดยเปิดเผยตามระเบียบที่เลขาธิการกำหนดถ้าผู้ประกันตนไม่มีภริยา ทั้งนี้ต่อเมื่อภายในระยะเวลาสิบห้าเดือนก่อนวันรับบริการทางการแพทย์ ผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าเจ็ดเดือน” ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวถือเอาจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนได้จ่ายมาแล้วไม่น้อยกว่าเจ็ดเดือนเป็นสำคัญมิได้บัญญัติว่าผู้มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนต้องทำงานมาแล้วไม่น้อยกว่าเจ็ดเดือน เมื่อฟังได้ว่าโจทก์ได้ส่งเงินสมทบมารวมเจ็ดเดือนแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรตามมาตรา 65 ดังกล่าวซึ่งจะได้ค่าคลอดบุตรเหมาจ่ายครรภ์ละ 4,000 บาท ตามมาตรา 66 ประกอบประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร ลงวันที่ 30 มีนาคม 2538 และยังมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรเป็นการเหมาจ่ายร้อยละห้าสิบของค่าจ้างตามมาตรา 57 เป็นเวลาเก้าสิบวันตามมาตรา 67 ซึ่งโจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ 10,000 บาท จะได้รับเท่ากับ 15,000 บาท คำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่รามอินทราที่ 209943/41 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 1487(27)/2541 ที่วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรนั้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงมีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยทั้งสองดังกล่าว ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้ยกฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่รามอินทราที่ 209943/41 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 1487(27)/2541 ตามฟ้อง ให้จำเลยจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรจำนวน 4,000 บาท และเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรจำนวน 15,000 บาท รวม 19,000 บาท ให้แก่โจทก์