คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5787/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 บัญญัติเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งไว้ในส่วนที่ 6 ตั้งแต่มาตรา 40 ถึงมาตรา 43 โดยมาตรา 40 บัญญัติว่า การใช้จ่ายในการเลือกตั้งให้เป็นไปตามบทบัญญัติในส่วนนี้ มาตรา 41 บัญญัติห้ามมิให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใช้จ่ายในการเลือกตั้งเกินจำนวนค่าใช้จ่ายที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด มาตรา 42 บัญญัติให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองแต่งตั้งสมุห์บัญชีเลือกตั้งเพื่อจัดทำและรับรองความถูกต้องของบัญชีรายรับและรายจ่าย ส่วนมาตรา 43 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ภายในกำหนดเก้าสิบวันหลังจากวันประกาศผลการเลือกตั้ง ผู้สมัครแต่ละคนหรือพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อต้องยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายที่สมุห์บัญชีเลือกตั้งจัดทำขึ้น และผู้สมัครหรือหัวหน้าพรรคการเมืองแล้วแต่กรณีได้รับรองความถูกต้อง บัญชีรายรับและรายจ่ายอย่างน้อยต้องประกอบด้วยค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ได้จ่ายไปแล้วและที่ยังค้างชำระ รวมทั้งหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วนตามความเป็นจริงต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง จะเห็นได้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวประสงค์ที่จะควบคุมไม่ให้ผู้สมัครใช้จ่ายเงินในการหาเสียงเลือกตั้งเกินไปกว่าที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด และเมื่อมีการประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้งก็จะตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของผู้สมัครแต่ละคนตามรายงานการรับจ่ายเงินของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ผู้สมัครยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง การควบคุมและตรวจสอบการใช้เงินของผู้สมัครดังกล่าว ก็เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม เพราะกฎหมายไม่ประสงค์ให้ผู้สมัครที่มีเงินมากได้เปรียบผู้สมัครที่มีเงินน้อยในการหาเสียงเลือกตั้ง ดังนั้น ในการยื่นรายงานการรับจ่ายเงินของผู้สมัครรับเลือกตั้ง กฎหมายจึงบัญญัติให้ผู้สมัครต้องยื่นหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับรายรับและรายจ่ายในการเลือกตั้งให้ถูกต้องครบถ้วนตามความเป็นจริงเพื่อประโยชน์แก่การตรวจสอบด้วย ทั้งนี้เพราะหากยอมให้ผู้สมัครระบุแต่จำนวนรายรับและรายจ่ายในบัญชีได้โดยไม่มีหลักฐานที่เกี่ยวข้องประกอบ ย่อมเปิดโอกาสให้ผู้สมัครที่ไม่สุจริตระบุจำนวนรายรับและรายจ่ายไม่ตรงตามความเป็นจริงโดยไม่อาจตรวจสอบได้ อันจะส่งผลให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตามรายงานการรับจ่ายเงินของผู้สมัครรับเลือกตั้งเอกสารหมาย จ.12 (หรือ จ.14) ของจำเลยที่ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2544 (หรือวันที่ 4 พฤษภาคม 2544) คงระบุแต่เพียงว่ามีค่าใช้จ่าย 9 รายการ โดยจำเลยไม่มีหลักฐานประกอบรายการการจ่ายเงินตามรายการต่าง ๆ ดังกล่าว การยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายของจำเลยจึงไม่ถูกต้องครบถ้วนตามที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้ จึงเป็นการเจตนาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง
คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 สิ้นสุดลง แม้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 จะเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีฐานะเป็นพระราชบัญญัติฉบับหนึ่งที่มีประกาศแยกมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 การที่มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับดังกล่าว กำหนดให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 สิ้นสุดลง จึงหามีผลทำให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 สิ้นสุดลงตามไปด้วยไม่ อีกทั้งประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ข้อ 4 ยังได้บัญญัติด้วยว่า “ศาลทั้งหลาย นอกจากศาลรัฐธรรมนูญ คงมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมาย ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย” อันเป็นการรับรองให้กฎหมายทั้งปวงที่มีผลใช้บังคับอยู่ก่อนการปฏิรูปการปกครองยังคงมีผลใช้บังคับได้ต่อไปอีกด้วย ดังนั้น เมื่อไม่มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับใดออกมาบัญญัติให้ยกเลิก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 พระราชบัญญัติดังกล่าวนี้จึงยังมีผลใช้บังคับต่อไป สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงยังไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 43, 104 และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดห้าปี
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง, 104 วรรคหนึ่ง ลงโทษปรับ 20,000 บาท และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยมีกำหนดห้าปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ามีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การยื่นรายงานการรับจ่ายเงินของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งของเลือกตั้ง ตามเอกสารหมาย จ.12 (หรือ จ.14) ของจำเลยชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 บัญญัติเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งไว้ในส่วนที่ 6 ตั้งแต่มาตรา 40 ถึงมาตรา 43 โดยมาตรา 40 บัญญัติว่า การใช้จ่ายในการเลือกตั้งให้เป็นไปตามบทบัญญัติในส่วนนี้ มาตรา 41 บัญญัติห้ามมิให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใช้จ่ายในการเลือกตั้งเกินจำนวนค่าใช้จ่ายที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด มาตรา 42 บัญญัติให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองแต่งตั้งสมุห์บัญชีเลือกตั้งเพื่อจัดทำและรับรองความถูกต้องของบัญชีรายรับและรายจ่าย ส่วนมาตรา 43 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าภายในกำหนดเก้าสิบวันหลังจากวันประกาศผลการเลือกตั้ง ผู้สมัครแต่ละคนหรือพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อต้องยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายที่สมุห์บัญชีเลือกตั้งจัดทำขึ้นและผู้สมัครหรือหัวหน้าพรรคการเมืองแล้วแต่กรณี ได้รับรองความถูกต้อง บัญชีรายรับและรายจ่ายอย่างน้อยต้องประกอบด้วยค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ได้จ่ายไปแล้วและที่ยังค้างชำระ รวมทั้งหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วนตามความเป็นจริงต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง จะเห็นได้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวประสงค์ที่จะควบคุมไม่ให้ผู้สมัครใช้จ่ายเงินในการหาเสียงเลือกตั้งเกินไปกว่าที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด และเมื่อมีการประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้งก็จะตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของผู้สมัครแต่ละคนตามรายงานการรับจ่ายเงินของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ที่ผู้สมัครยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง การควบคุมและตรวจสอบการใช้เงินของผู้สมัครดังกล่าวก็เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม เพราะกฎหมายไม่ประสงค์ให้ผู้สมัครที่มีเงินมากได้เปรียบผู้สมัครที่มีเงินน้อยในการหาเสียงเลือกตั้ง ดังนั้น ในการยื่นรายงานการรับจ่ายเงินของผู้สมัครรับเลือกตั้ง กฎหมายจึงบัญญัติให้ผู้สมัครต้องยื่นหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับรายรับและรายจ่ายในการเลือกตั้งให้ถูกต้องครบถ้วนตามความเป็นจริงเพื่อประโยชน์แก่การตรวจสอบด้วย ทั้งนี้เพราะหากยอมให้ผู้สมัครระบุแต่จำนวนรายรับและรายจ่ายในบัญชีได้โดยไม่มีหลักฐานที่เกี่ยวข้องประกอบ ย่อมเปิดโอกาสให้ผู้สมัครที่ไม่สุจริตระบุจำนวนรายรับและรายจ่ายไม่ตรงตามความเป็นจริงโดยไม่อาจตรวจสอบได้ อันจะส่งผลให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตามรายงานการรับจ่ายเงินของผู้สมัครรับเลือกตั้งฯ เอกสารหมาย จ.12 (หรือ จ.14) ของจำเลยที่ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2544 (หรือวันที่ 4 พฤษภาคม 2544) คงระบุแต่เพียงว่ามีค่าใช้จ่าย 9 รายการ โดยจำเลยไม่มีหลักฐานประกอบรายการการจ่ายเงินตามรายการต่างๆ ดังกล่าว การยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายของจำเลยจึงไม่ถูกต้องครบถ้วนตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้จึงเป็นการเจตนาฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นชอบด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 สิ้นสุดลง แม้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 จะเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีฐานะเป็นพระราชบัญญัติฉบับหนึ่งที่มีการประกาศใช้แยกมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 การที่มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับดังกล่าว กำหนดให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 สิ้นสุดลง จึงหามีผลทำให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 สิ้นสุดลงตามไปด้วยไม่ อีกทั้งประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ข้อ 4 ยังได้บัญญัติด้วยว่า “ศาลทั้งหลาย นอกจากศาลรัฐธรรมนูญคงมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมาย ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย” อันเป็นการรับรองให้กฎหมายทั้งปวงที่มีผลใช้บังคับอยู่ก่อนการปฏิรูปการปกครองยังคงมีผลใช้บังคับได้ต่อไปอีกด้วย ดังนั้น เมื่อไม่มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับใดออกมาบัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวนี้จึงยังมีผลใช้บังคับต่อไป สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงยังไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (5)
พิพากษายืน.ว

Share