คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1964/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่า โจทก์ขออนุญาตปลูกสร้างอาคารและจำเลยทั้งสองได้อนุญาตให้โจทก์ปลูกสร้างอาคารได้ โจทก์จึงได้จ้างบริษัท ม. ทำการสร้างเข็มเจาะเพื่อทำการก่อสร้างโดยเสียค่าจ้างเป็นเงิน 140,000 บาท ต่อมาจำเลยมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต โดยอ้างว่าโจทก์มิได้แจ้งข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับที่ดินที่ทำการปลูกสร้างอาคารให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบ จึงขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสอง คดีนี้คำฟ้องของโจทก์ได้กล่าวอ้างว่า โจทก์ได้รับอนุญาตจากจำเลยทั้งสองให้ทำการปลูกสร้างอาคารแล้ว โจทก์จึงได้ดำเนินการก่อสร้างโดยเสียค่าใช้จ่ายในการปรับหน้าดินกับค่าจ้างเขียนแบบและค่าจ้างบริษัท ม. ทำการสร้างเข็มเจาะ รวมเป็นเงินที่ได้ลงทุนไปทั้งสิ้น 220,000 บาท ต่อมาทั้งสองจงใจหรือประมาทเลินเล่อร่วมกันกระทำโดยมิชอบออกคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง ทำให้โจทก์เสียหายไม่อาจทำการก่อสร้างได้ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดในเงินที่โจทก์ได้ลงทุนไป ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหาย สาระสำคัญที่โจทก์นำมากล่าวอ้างเป็นมูลเหตุแห่งการฟ้องและเรียกค่าเสียหายในคดีนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากเรื่องเดียวกันและมูลเหตุเดียวกันกับในคดีก่อน ชอบที่โจทก์จะได้เรียกร้องค่าเสียหายมาพร้อมกับฟ้องในคดีก่อนเสียในคราวเดียวกัน โจทก์จะนำคดีมาแบ่งแยกฟ้องทีละส่วนทีละตอนทั้ง ๆ ที่คดีก่อนยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์หาได้ไม่ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง(1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิการเช่าที่ดินโฉนดเลขที่12467 และขออนุญาตปลูกสร้างอาคารจากจำเลยทั้งสอง โจทก์ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคาร ในเดือนมิถุนายน 2532 โจทก์เริ่มดำเนินการก่อสร้างอาคารเสียค่าดำเนินการ ตีผัง ปรับหน้าดิน ค่าจ้างเขียนแบบเพื่อทำการก่อสร้าง และค่าว่าจ้างบริษัทเมโทรคอนกรีต จำกัดทำการสร้างเข็มเจาะเพื่อลงเสาเข็มก่อสร้าง รวมเป็นเงินที่ได้ลงทุนไปทั้งสิ้น 220,000 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ในฐานะผู้กระทำแทนและฐานะส่วนตัวจงใจหรือประมาทเลินเล่อร่วมกันกระทำโดยมิชอบออกคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างเลขที่ 458/2532ที่โจทก์ได้รับอนุญาต โดยอ้างว่าโจทก์มิได้แจ้งข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 12467 ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบ เป็นการละเมิดทำให้โจทก์เสียหาย ไม่อาจทำการก่อสร้างตามใบอนุญาตก่อสร้างอาคารต่อไปได้ ซึ่งโจทก์ได้ลงทุนก่อสร้างไปดังกล่าวแล้ว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ก่อนหน้านี้โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองในเรื่องเดียวกันและประเด็นเดียวกันว่า คำสั่งของจำเลยที่ 2 ที่สั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารเลขที่ 458/2532 เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 456/2533 ของศาลชั้นต้น ซึ่งโจทก์ชอบที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายมาในคดีดังกล่าวมิใช่มาฟ้องเป็นคดีใหม่และขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้อน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความยอมรับกันฟังได้เบื้องต้นว่า ก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ โจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองกับพวกรวม 11 คน ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 456/2533 ดังปรากฏตามสำเนาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่จำเลยทั้งสองส่งศาลไว้ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 12 กันยายน 2533 และคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ แล้วโจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองเรียกค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยฐานละเมิดเป็นคดีนี้ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นนี้มีเพียงว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับฟ้องของโจทก์คดีก่อนดังกล่าวข้างต้นหรือไม่ ได้ตรวจพิเคราะห์คำฟ้องของโจทก์คดีก่อนแล้ว ปรากฏว่า ตามคำฟ้องคดีก่อนโจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์ขออนุญาตปลูกสร้างอาคารในที่ดินซึ่งโจทก์มีสิทธิการเช่า และจำเลยทั้งสองได้อนุญาตให้โจทก์ปลูกสร้างอาคารลงบนที่ดินดังกล่าวได้โจทก์จึงได้จ้างบริษัทเมโทรคอนกรีต จำกัด ทำการสร้างเข็มเจาะเพื่อทำการก่อสร้างโดยเสียค่าจ้างเป็นเงิน 140,000 บาท ต่อมาโจทก์ได้รับคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตของจำเลยทั้งสองดังกล่าวข้างต้นโดยจำเลยทั้งสองอ้างว่าโจทก์มิได้แจ้งข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับที่ดินที่ทำการปลูกสร้างอาคารให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบ คำสั่งของจำเลยทั้งสองเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสอง สำหรับคดีนี้คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายกล่าวอ้างถึงสาระสำคัญเป็นทำนองเดียวกันอีกว่า โจทก์ได้รับอนุญาตจากจำเลยทั้งสองให้ทำการปลูกสร้างอาคารแล้ว โจทก์จึงได้ดำเนินการก่อสร้างโดยเสียค่าใช้จ่ายในการปรับหน้าดินกับค่าจ้างเขียนแบบและค่าจ้างบริษัทเมโทรคอนกรีต จำกัด ทำการสร้างเข็มเจาะ เพื่อทำการก่อสร้างอาคารตามที่ได้รับอนุญาตจากจำเลยทั้งสอง รวมเป็นเงินที่ได้ลงทุนไปทั้งสิ้น 220,000 บาท ต่อมาวันที่ 3 กรกฎาคม 2532จำเลยทั้งสองจงใจหรือประมาทเลินเล่อร่วมกันกระทำโดยมิชอบออกคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างที่โจทก์ได้รับอนุญาต ซึ่งโจทก์อ้างว่าการออกคำสั่งของจำเลยทั้งสองไม่มีเหตุตามกฎหมายหรืออำนาจที่จะกระทำได้ เป็นการละเมิดทำให้โจทก์เสียหายไม่อาจทำการก่อสร้างตามใบอนุญาตต่อไปได้ ซึ่งโจทก์ได้ลงทุนไปแล้วเป็นจำนวนดังกล่าวจำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดในเงินที่โจทก์ได้ลงทุนไป ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายดังกล่าว จึงเห็นได้ชัดว่าสาระสำคัญอันที่โจทก์นำมากล่าวอ้างเป็นมูลเหตุแห่งการฟ้องและเรียกค่าเสียหายในคดีนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากเรื่องเดียวกัน และมูลเหตุเดียวกันกับในคดีก่อน กล่าวคือ เมื่อโจทก์ได้รับอนุญาตจากจำเลยทั้งสองแล้ว โจทก์ได้ลงทุนเสียค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคารไปแล้วกลับถูกจำเลยทั้งสองเพิกถอนใบอนุญาตจนเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถทำการก่อสร้างอาคารต่อไปได้ หากเป็นจริงโจทก์ย่อมได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสองอยู่แล้ว ดังนี้ จึงชอบที่โจทก์จะได้เรียกร้องค่าเสียหายที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองออกคำสั่งโดยมิชอบ ซึ่งเป็นการกระทำละเมิดมาพร้อมกับฟ้องในคดีก่อนเสียในคราวเดียวกัน โจทก์จะนำคดีมาแบ่งแยกฟ้องทีละส่วนทีละตอนทั้ง ๆ ที่คดีก่อนยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์หาได้ไม่ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง(1) ดังที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share