คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5786/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 252 กรณีที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่ยอมรับฎีกาเพราะเหตุใดก็ตาม หากคำสั่งนั้นไม่เป็นที่พอใจของผู้ฎีกาและประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป ก็ต้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกาโดยตรง เพื่อศาลฎีกาจะได้พิจารณาว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกานั้นชอบหรือไม่ เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาแล้ว แทนที่จำเลยจะอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อศาลฎีกากลับยื่นอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อศาลอุทธรณ์ การปฏิบัติของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาความ แต่การที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวโดยอ้างว่าจำเลยอุทธรณ์คำสั่งเกิน 10 วันแล้วนั้น กรณีหาใช่การอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่ยอมรับฎีกาตามมาตรา 252ดังศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ หากแต่เป็นการสั่งโดยอาศัย ป.วิ.พ.มาตรา 232 และ 234 ซึ่งเป็นการอุทธรณ์เกี่ยวกับระยะเวลาอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ต้องรับวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของจำเลย.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามสัญญาขายลดเช็คพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยยื่นคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถา ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งว่าจำเลยยังพอมีทรัพย์สินเสียค่าฤชาธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ได้และคดีของจำเลยไม่มีเหตุผลอันสมควรที่จะอุทธรณ์ให้ยกคำร้อง หากจำเลยประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปให้นำเงินค่าธรรมเนียมและค่าฤชาธรรมเนียมที่จะต้องใช้แทนอีกฝ่ายหนึ่งมาวางศาลภายในกำหนด 20 วัน
ต่อมาจำเลยได้ร้องขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนถึงฐานะของจำเลยใหม่โดยจำเลยอ้างว่ามีพยานหลักฐานที่จะเสนอต่อศาลเพิ่มเติมว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ได้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นนอกจากอ้างเหตุว่าฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นคนยากจนไม่มีทรัพย์สินพอที่จะเสียเป็นค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์แล้ว ศาลชั้นต้นยังไม่อนุญาตให้จำเลยอุทธรณ์อย่างคนอนาถาเพราะคดีของจำเลยไม่มีเหตุอันสมควรที่จะอุทธรณ์ด้วย จึงไม่มีเหตุที่จะไต่สวนคำร้องของจำเลยว่ายากจนหรือไม่ซ้ำอีก ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นชอบแล้ว ให้ยกอุทธรณ์คำสั่งของจำเลย หากจำเลยยังติดใจอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นอยู่อีก ก็ให้นำค่าธรรมเนียมมาชำระต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งของศาลอุทธรณ์
จำเลยฎีกาคำสั่ง
ศาลชั้นต้นสั่งฎีกาคำสั่งของจำเลยว่า กรณีเป็นการขออนาถาชั้นอุทธรณ์ คำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้อนาถาเป็นที่สุด ไม่รับฎีกาคำสั่ง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาคำสั่งต่อศาลอุทธรณ์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาคำสั่งของจำเลยเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2531 จำเลยอุทธรณ์คำสั่งวันที่ 17 มิถุนายน2531 เกิน 10 วัน แล้ว จึงไม่รับอุทธรณ์คำสั่ง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยจะต้องยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาต่อศาลฎีกาจะยื่นต่อศาลอุทธรณ์หาได้ไม่ ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจวินิจฉัย พิพากษายกอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 252บัญญัติว่า “ถ้าคู่ความยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่ยอมรับฎีกาให้ศาลชั้นต้นส่งคำร้องเช่นว่านั้นไปยังศาลฎีกาพร้อมกับฎีกา และคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ถ้าศาลฎีกาเห็นจำเป็นจะต้องตรวจสำนวน ให้มีคำสั่งให้ศาลล่างส่งสำนวนไปยังศาลฎีกา” ตามบทบัญญัตินี้ย่อมเห็นได้ว่า กรณีที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่ยอมรับฎีกาเพราะเหตุใดก็ตาม หากคำสั่งนั้นไม่เป็นที่พอใจของผู้ฎีกา และประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปก็ต้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกาโดยตรง เพื่อศาลฎีกาจะได้พิจารณาว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกานั้นชอบหรือไม่ คดีนี้ปรากฏว่า เมื่อศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาแล้ว แทนที่จำเลยจะอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อศาลฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว จำเลยกลับยื่นอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อศาลอุทธรณ์ การปฏิบัติของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาความตามตัวบทกฎหมาย แต่การที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวโดยอ้างว่า จำเลยอุทธรณ์คำสั่งเกิน 10 วันแล้ว ศาลำีกาเห็นว่า กรณีหาใช่การอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่ยอมรับฎีกาตามมาตรา 252 ดังศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ หากแต่เป็นการสั่งโดยอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 232 และ 234 ซึ่งเป็นการอุทธรณ์เกี่ยวกับระยะเวลาอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ต้องรับวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของจำเลย การที่ศาลอุทธรณ์ปฏิเสธไม่ยอมรับวินิจฉัยจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี.

Share