แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อศาลแรงงานมิได้นำพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่โจทก์กล่าวไว้ในอุทธรณ์มาพิจารณาวินิจฉัยเลยสำหรับเอกสารบางฉบับ และบางฉบับก็มิได้พิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนจริง ดังนี้ย่อมไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาในการรับฟังพยานหลักฐานจึงต้องให้ศาลแรงงานวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานที่โจทก์ได้กล่าวอ้างในอุทธรณ์ เสียก่อน ศาลฎีกาให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานและให้ศาลแรงงานพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2515 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ครั้งสุดท้ายตำแหน่งนักบริหาร 12กองบริหารงานบุคคลได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ41,120 บาท ต่อมาวันที่ 4 สิงหาคม 2538 จำเลยเลิกจ้างโจทก์อ้างเหตุว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของจำเลยกรณีที่ร้ายแรง อันไม่เป็นความจริงโดยให้เลิกจ้างย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่จำเลยสั่งพักงานโจทก์เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2538 โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าอันเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์เสียหายต้องขาดรายได้เงินค่ารับรองประจำตำแหน่ง ค่าเช่าบ้าน จนถึงเกษียณอายุจำนวน137 เดือนเป็นเงิน 5,633,440 บาท, 479,500 บาท และ427,285.19 บาท ตามลำดับกับโจทก์มีสิทธิได้รับเงินโบนัสประจำปี 2537 จำนวน 197,376 บาท เงินเพิ่มขึ้นปกติหนึ่งขั้นจำนวน 2,900 บาท เงินบำเหน็จ 1,418,640 บาทและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 41,120 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าเสียหาย 5,633,440 บาท เงินค่ารับรอง479,500 บาท เงินโบนัส 197,376 บาท เงินเพิ่มขึ้นปกติ2,900 บาท เงินบำเหน็จ 1,418,640 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 41,120 บาท และค่าเช่าบ้าน 427,285.19 บาทแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ได้กระทำผิดวินัยข้อ 5(5)(6) แห่งข้อบังคับฉบับที่ 9 กล่าวคือ โจทก์ทราบว่าที่ดินที่เสนอขายแก่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดอุดรธานีไม่มีศักยภาพที่เอื้ออำนวยต่อการผลิตทางเกษตรและราคาที่เสนอขานสูงเกินความเป็นจริงมา แต่โจทก์ในฐานะตัวแทนของจำเลยซึ่งร่วมอยู่ในคณะทำงานต่อรองราคาที่ดินมิได้เสนอข้อมูลที่แท้จริงเกี่ยวกับที่ดินให้คณะทำงานทราบเพื่อต่อรองราคาให้ถูกลงหรือเพื่อยับยั้งมิให้มีการซื้อที่ดินเป็นเหตุให้ที่ดินที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมจังหวัดอุดรธานีจัดซื้อมีราคาสูงและไม่เหมาะสมแก่การเพาะปลูก และอนุมัติเงินกู้ให้แก่ลูกค้าที่กู้เงินเพื่อซื้อที่ดินในโครงการกองทุนที่ดินทั้งที่ทราบว่าที่ดินมีราคาสูงเกินความเป็นจริงและไม่มีศักยภาพในการประกอบการเกษตร เป็นเหตุให้ลูกค้าส่วนใหญ่ต้องกู้เงินเป็นจำนวนสูงแต่ไม่สามารถประกอบการผลิตให้มีรายได้เพียงพอที่จะชำระหนี้แก่จำเลยและเลี้ยงชีพอยู่ได้ อีกทั้งปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะช่วยเหลือหรือสนับสนุนให้บุคคลภายนอกแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้จากลูกค้าผู้ประสงค์จะเข้าทำกินในพื้นที่โครงการกองทุนที่ดิน เป็นเหตุให้ลูกค้าต้องกู้เงินไปจากจำเลยเป็นจำนวนมาก และโจทก์จ่ายเงินกู้เพื่อซื้อที่ดินในโครงการกองทุนที่ดินอีกเป็นเงินจำนวนมาก ทั้งที่ได้รับทราบคำสั่งของจำเลยให้งดจ่ายเงินกู้ อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งของจำเลยกรณีร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าเสียหายเงินโบนัสประจำปี 2537 เงินเพิ่มขึ้นปกติเงินบำเหน็จและค่าเช่าบ้านตามฟ้อง สำหรับเงินค่ารับรองประจำตำแหน่ง โจทก์ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักบริหาร 12 กองบริหารงานบุคคลฝ่ายการพนักงานตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2538 ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวไม่มีเงินค่ารับรองประจำตำแหน่งโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้เงินค่ารับรองประจำตำแหน่ง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2515 วันที่ 15 กันยายน 2537โจทก์ย้ายจากผู้จัดการสาขาอุดรธานี ไปเป็นผู้จัดการสาขามหาสารคามวันที่ 4 เมษายน 2538 โจทก์ย้ายจากผู้จัดการสาขามหาสารคามไปดำรงตำแหน่งนักบริหาร 12 กองบริหารงานบุคคลฝ่ายการพนักงานซึ่งตำแหน่งดังกล่าวไม่มีเงินค่ารับรองประจำตำแหน่ง จำเลยได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์ และต่อมาวันที่ 4 สิงหาคม 2538จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ คณะกรรมการกองทุนที่ดินได้แต่งตั้งคณะทำงานต่อรองราคาที่ดินจังหวัดขึ้นชุดหนึ่งประกอบด้วยปฏิรูปที่ดินจังหวัดหรือผู้แทน เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดหรือผู้แทนและผู้จัดการสาขาธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรหรือผู้แทน โดยให้มีหน้าที่ในการพิจารณากลั่นกรองการจัดซื้อที่ดินตลอดจนต่อรองราคาที่ดินเพื่อให้ได้ราคาต่ำสุด โจทก์ในฐานะผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาอุดรธานีจึงเป็นคณะทำงานต่อรองราคาที่ดินที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบวิธีปฏิบัติในการดำเนินงานกองทุนที่ดินซึ่งเป็นคำสั่งของจำเลยและตามระเบียบดังกล่าวราคาที่ดินที่จะซื้อต้องใกล้เคียงกับราคาประเมินจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดิน หรือราคาซื้อขายของแปลงที่ดินลักษณะเดียวกันซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน คำเบิกความของนายบัณฑูร ไวถนอมสัตย์ นายเสน่ห์ ฉาวเกียรติและนางสาวทรงวาท มณีศิริ พยานจำเลยที่ว่า ที่ดินที่อำเภอสร้างคอมและอำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานีซึ่งเป็นที่ดินที่กองทุนที่ดินให้เกษตรกรกู้เงินซื้อเพื่อทำการเกษตรนั้น พื้นที่ทั่วไปยังเป็นป่าที่ดินเป็นแปลงเล็กแปลงน้อยไม่ติดต่อกันถนนหนทางไม่มี การขนผลผลิตการเกษตรลำบาก สภาพที่ดินจึงไม่มีศักยภาพเหมาะแก่การทำการเกษตรตามภาพถ่ายหมาย ล.22 เมื่อพิจารณาประกอบกับหนังสือสั่งการของจำเลยที่มีถึงโจทก์ในฐานะผู้จัดการสาขาอุดรธานี ตามเอกสารหมาย ล.14 ล.15 ล.12 และ ล.16 ที่ว่าที่ดินซึ่งจัดหาให้เกษตรกรมักเป็นที่ดินแปลงเล็ก ๆ มีเนื้อที่ไม่มาก ไม่เหมาะสมกับการจัดทำโครงการ หรือกรณีเป็นที่ดินแปลงใหญ่ก็ไม่ดำเนินการจัดหาหรือก่อสร้างปัจจัยพื้นบานเพื่อให้แปลงที่ดินเหมาะสมต่อการผลิตผลิตภัณฑ์การเกษตร ทั้งผู้เสนอขายโดยการรวบรวมที่ดินหลาย ๆ แปลงจากเจ้าของอาจตั้งราคาสูงกว่าราคาที่แท้จริง และปรากฏว่าที่ดินบางแห่งไม่ได้ตรวจสอบถึงทำเลที่ตั้ง จึงขอให้ทางสาขาตรวจสอบแล้วมีน้ำหนักให้รับฟัง ส่วนพยานโจทก์คงเบิกความยืนยันลอย ๆว่าได้ทำการตรวจสอบที่ดินทุกแปลงที่ขอสินเชื่อซึ่งขัดแย้งกับหนังสือสั่งการข้างต้นไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินที่เกษตรกรขอสินเชื่อไม่มีศักยภาพที่เอื้ออำนวยต่อการผลิตทางการเกษตรตามเอกสารหมาย ล.11 และ ล.24บัญชีรายการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของอำเภอสร้างคอมและอำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานีมีราคาประเมินสำหรับที่ดินเกษตรกรรมไร่ละ 4,000 ถึง 10,000 บาท แต่ในการให้สินเชื่อกองทุนที่ดินโจทก์กลับถือตามหนังสือรับรองราคาประเมินที่เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินอำเภอรับรอง ซึ่งมิได้เป็นไปตามบัญชีรายการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบคำสั่งเอกสารหมาย ล.13 และตามเอกสารหมาย จ.2 ที่ดินรายนายกริชชัย สิทธิพรหม 2 แปลงที่มีปัญหานั้น สำนักงานที่ดินอำเภอประเมินราคาไร่ละ 20,000 บาท แต่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดเห็นว่ามีราคาประเมินไร่ละ 4,000 บาท ราคาประเมินตามหนังสือรับรองของสำนักงานที่ดินอำเภอจึงไม่ถูกต้องที่ดินที่กองทุนที่ดินให้สินเชื่อแก่เกษตรกรนั้นมีการประเมินราคาตามหนังสือรับรองของสำนักงานที่ดินอำเภอสูงเกินกว่าความเป็นจริงประมาณ 2 ถึง 3 เท่า ทั้งที่ที่ดินไม่มีศักยภาพเหมาะแก่การทำการเกษตร เกษตรกรที่กู้เงินไปดังกล่าวย่อมไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ทั้งจำเลยมีหนังสือสั่งการลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2537ตามเอกสารหมาย ล.8 ให้โจทก์ในฐานะผู้จัดการสาขาทบทวนแผนการดำเนินงานสินเชื่อกองทุนที่ดินเสียใหม่ให้สอดคล้องกับผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริง รวมทั้งประมาณการจ่ายเงินกู้ในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปีงบประมาณ 2537 ให้เหมาะสมกับศักยภาพของสาขา เนื่องจากสาขาขอปรับแผนการดำเนินงานสินเชื่อปี 2537 เป็นเงิน 100,000,000 บาท แต่นับถึงวันที่12 กรกฎาคม 2537 สาขามียอดจ่ายเงินกู้เป็นเงินรวม195,940,000 บาท เกินกว่ากำหนดการไปประมาณ 1 เท่าจึงให้โจทก์งดการจ่ายเงินกู้เพื่อซื้อที่ดินหรือโครงการใหม่ไว้ก่อนส่วนโครงการหรือแผนงานสินเชื่อเก่าก็ให้พิจารณาจ่ายเท่าที่จำเป็น แต่โจทก์กลับพิจารณาจ่ายสินเชื่อไปอีก 7 ครั้งเป็นเงิน 75,000,000 บาท การฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับและคำสั่งของโจทก์ดังกล่าว เป็นเหตุให้จำเลยเสียหายอย่างร้ายแรงจำเลยจึงมีอำนาจลงโทษโจทก์ด้วยการไล่ออกโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางวินิจฉัยคดีขัดต่อพยานหลักฐานในสำนวนสำหรับประเด็นที่ว่าที่ดินที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดอุดรธานีจัดซื้อที่ดินบางแปลงไม่ได้ตรวจสอบถึงทำเลที่ตั้งโดยวินิจฉัยว่าพยานโจทก์เบิกความลอย ๆ ว่าได้ทำการตรวจสอบที่ดินทุกแปลงที่ขอสินเชื่อทั้ง ๆ ที่โจทก์มีพยานเบิกความยืนยันว่าได้ตรวจสอบที่ดินทุกแปลงตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งมีรายงานการตรวจสอบที่ดินรวม 2 มัด ประเด็นที่ว่าสภาพที่ดินที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจัดซื้อไม่มีศักยภาพในการประกอบการเกษตรเป็นการวินิจฉัยที่ขัดกับคำชี้แจงวิธีปฏิบัติของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.13 หน้า 5 ข้อ 7.1 และ7.2 และขัดกับหนังสือขออนุมัติซื้อที่ดินเอกสารหมาย จ.2 โดยมีเอกสารการวิเคราะห์ศักยภาพดินแนบมาด้วย ที่ดินที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจัดซื้อมีศักยภาพสามารถพัฒนาและประกอบการเกษตรได้ยั่งยืนนาน ประเด็นที่ว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบคำสั่งตามเอกสารหมาย ล.13 ในเรื่องตรวจสอบราคาเพื่อจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม แต่ตามเอกสารดังกล่าวหน้า 3 ข้อ 4.1มิได้ระบุว่าให้ตรวจสอบในเรื่องราคาประเมินเพื่อจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมอย่างไร ซึ่งโจทก์ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.3 โดยโจทก์ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดและสำนักงานที่ดินจังหวัดได้ปฏิบัติตามหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินตามเอกสารหมาย จ.6มาตลอด คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางจึงแปลความหมายของเอกสารหมาย จ.3 และล.13 ไม่ถูกต้อง ประเด็นที่ว่าโจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งจำเลยตามเอกสารหมาย ล.8 ที่จำเลยสั่งให้โจทก์งดการจ่ายเงินกู้เพื่อซื้อที่ดินโครงการใหม่ไว้ก่อนส่วนโครงการเก่าหรือแผนงานสินเชื่อเก่าให้พิจารณาจ่ายเท่าที่จำเป็น แต่โจทก์ฝ่าฝืนจ่ายสินเชื่อไปอีก 7 ครั้ง เป็นเงิน75,000,000 บาท โจทก์มิได้ฝ่าฝืนเพราะเอกสารหมาย ล.8ไม่ได้อธิบายว่าโครงการใหม่คืออะไรและโครงการเก่าคืออะไรและตามความจริงการจ่ายเงินกู้ 7 ครั้ง ดังกล่าวเป็นโครงการเก่าทั้งสิ้น และประเด็นที่ว่า การปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ศาลแรงงานกลางก็วินิจฉัยขัดต่อพยานหลักฐานในสำนวน เพราะตามใบแจ้งยอดบัญชีเงินฝากและหนังสือของผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนที่ดินเอกสารหมาย จ.7 และ จ.9 ปรากฏว่าหลังจากโจทก์ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการมหาสารคาม เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2537 แล้วจำเลยยังมีการจ่ายเงินให้เกษตรกรจากบัญชีเงินฝากเพื่อให้เกษตรกรนำไปประกอบอาชีพ แสดงให้เป็นว่าการประกอบอาชีพเป็นไปตามปกติจำเลยจึงยังจ่ายเงินให้อีก หากจำเลยเห็นว่าจะเกิดความเสียหายก็จะไม่จ่ายเงินให้และนำเงินฝากไปชำระเงินกู้ได้ตามเอกสารหมาย ล.18 ภาพถ่ายหมาย ล.22 แสดงให้เห็นว่ามีเกษตรกรส่วนน้อยเท่านั้นที่ไม่ปฏิบัติตามแผนการผลิตตามเอกสารประกอบการกู้เงินเอกสารหมาย ล.18 และเป็นเพราะการกระทำของเกษตรกรเอง ซึ่งหากพิจารณาพยานเอกสารดังกล่าวก็ย่อมจะเห็นได้ว่าโจทก์มิได้กระทำให้จำเลยได้รับความเสียหายแต่อย่างใดนั้น เมื่อได้พิจารณาคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางแล้วปรากฏว่าศาลแรงงานกลางมิได้นำพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่โจทก์กล่าวไว้ในอุทธรณ์มาพิจารณาวินิจฉัยเลยสำหรับเอกสารบางฉบับ และบางฉบับก็มิได้พิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วน ย่อมไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาในการรับฟังพยานหลักฐาน แต่เนื่องจากศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยมาการที่ศาลแรงงานกลางยังไม่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงให้ถ่องแท้เช่นนี้ศาลฎีกาไม่อาจจะพิจารณาพิพากษาได้ จึงต้องให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานที่โจทก์ได้กล่าวอ้างในอุทธรณ์เสียก่อน
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางและให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี