แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งที่บัญญัติว่า ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท หรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงเว้นแต่ ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลอุทธรณ์ได้มีความเห็นแย้ง หรือผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นก็ดีศาลอุทธรณ์ก็ดีได้รับรองไว้หรือรับรองในเวลาตรวจฎีกาว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาได้ ถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคำรับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับอนุญาต ให้ฎีกาเป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์นั้นเมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งภาค3 ลักษณะ 2 ว่าด้วยฎีกามิได้บัญญัติถึงวิธีปฏิบัติในการยื่นคำร้องเพื่อที่จะได้รับอนุญาตให้ฎีกาเป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงต้องนำบทบัญญัติในลักษณะ 1 ว่าด้วยอุทธรณ์มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 247 ซึ่งได้แก่บทบัญญัติในมาตรา 230 วรรคสาม เมื่อนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับโดยอนุโลมแล้วจะได้วิธีปฏิบัติดังนี้คือ คดีที่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง ถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคำรับรอง ให้ศาลมีคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อเท็จจริงดังกล่าว ในกรณีเช่นนี้ผู้ฎีกาชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อจะได้รับอนุญาตให้ฎีกาเป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภายในเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อศาลชั้นต้นได้รับคำร้องเช่นว่านั้นแล้วให้ศาลชั้นต้นส่งคำร้องดังกล่าวพร้อมด้วยสำนวนความไปยังอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เพื่อมีคำสั่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลย ในวันที่ 25 ธันวาคม2538 ดังนั้น จำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องเพื่อจะได้รับอนุญาตให้ฎีกาเป็นหนังสือต่อศาลชั้นต้นถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภายในวันที่ 1 มกราคม 2539 ซึ่งตรงกับวันหยุดราชการประจำปีจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 จึงมีสิทธิยื่นคำร้องในวันที่ศาลชั้นต้นเปิดทำการเป็นวันแรกได้ ซึ่งโดยทั่วไปคือวันที่2 มกราคม 2539 แต่เฉพาะในปี 2539 นี้คณะรัฐมนตรีมีมติให้วันที่ 2 มกราคม 2539 เป็นวันหยุดชดเชยของวันที่31 ธันวาคม 2538 ที่ตรงกับวันอาทิตย์อันเป็นวันหยุดราชการประจำสัปดาห์ ตามหนังสือเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ นร0215/ว 274 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2538 วันที่ศาลชั้นต้นเปิดทำการเป็นวันแรกหลังจากวันสุดท้ายที่จำเลยที่ 1 และที่ 3ถึงที่ 5 มีสิทธิยื่นคำร้องได้ซึ่งตรงกับวันหยุดราชการจึงเป็นวันที่ 3 มกราคม 2539 และจำเลยได้ยื่นคำร้องดังกล่าวในวันที่3 มกราคม 2539 อันเป็นการยื่นคำร้องดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว ศาลชั้นต้นจะต้องส่งคำร้องดังกล่าวของจำเลยพร้อมสำนวนไปยังอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เพื่อพิเคราะห์สั่งต่อไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ศาลชั้นต้นไม่มีสิทธิปฏิบัติไม่ส่งคำร้องดังกล่าวไปยังอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ตามที่จำเลยขอ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลย ที่ขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยฎีกาในข้อเท็จจริงจึงเป็นการไม่ชอบ
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากโจทก์ทั้งสามฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งห้าโดยอ้างว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ให้การปฏิเสธขอให้ยกฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสามจำนวน 260,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์อีกวันละ 500 บาท นับแต่วันที่ 29 กันยายน 2534 เป็นต้นไป แต่ทั้งนี้มีกำหนดไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันฟ้อง หรือโจทก์ทั้งสามสามารถใช้บ้านและที่ดินได้ตามปกติคำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน 130,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 และจำนวน80,000 บาท แก่โจทก์ที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ฎีกา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเกี่ยวกับฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3ถึงที่ 5 มีใจความว่า ทุนทรัพย์ที่จำเลยแต่ละคนฎีกาไม่เกิน200,000 บาท และเป็นการฎีกาในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ยื่นคำร้องต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เพื่อขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตเป็นหนังสือให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คำร้องยื่นเกินกำหนดเวลาที่จะฎีกาอีกทั้งจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 ได้อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาแล้วจึงให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ที่ขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตเป็นหนังสือให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ฎีกาในข้อเท็จจริงโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้คู่ความรับทราบคำพิพากษาศาลอุทธรณ์วันที่ 22 พฤศจิกายน 2538 จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5ยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2538 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ในวันที่ 25 ธันวาคม 2538และจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ยื่นคำร้องเมื่อวันที่3 มกราคม 2539 ขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตเป็นหนังสือให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ฎีกาในข้อเท็จจริงคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1และที่ 3 ถึงที่ 5 ว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ที่ยื่นขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตเป็นหนังสือให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ฎีกาในข้อเท็จจริงนั้นเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท หรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงเว้นแต่ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลอุทธรณ์ได้มีความเห็นแย้งหรือผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นก็ดีศาลอุทธรณ์ก็ดีได้รับรองไว้หรือรับรองในเวลาตรวจฎีกาว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาได้ถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคำรับรองเช่นว่านี้ ต้องได้รับอนุญาตให้ฎีกาเป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์” แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 3 ลักษณะ 2ว่าด้วยฎีกามิได้บัญญัติถึงวิธีปฏิบัติในการยื่นคำร้องเพื่อที่จะได้รับอนุญาตให้ฎีกาเป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงต้องนำบทบัญญัติในลักษณะ 1 ว่าด้วยอุทธรณ์มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 247 ซึ่งได้แก่บทบัญญัติในมาตรา 230 วรรคสาม เมื่อนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับโดยอนุโลมแล้วจะได้วิธีปฏิบัติดังนี้คือ คดีที่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง ถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคำรับรอง ให้ศาลมีคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อเท็จจริงดังกล่าว ในกรณีเช่นนี้ผู้ฎีกาชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อจะได้รับอนุญาตให้ฎีกาเป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภายในเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อศาลชั้นต้นได้รับคำร้องเช่นว่านั้นแล้วให้ศาลชั้นต้นส่งคำร้องดังกล่าวพร้อมด้วยสำนวนความไปยังอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เพื่อมีคำสั่ง และข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นแล้วว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ในวันที่ 25 ธันวาคม 2538 ดังนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 มีสิทธิยื่นคำร้องเพื่อจะได้รับอนุญาตให้ฎีกาเป็นหนังสือต่อศาลชั้นต้นถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภายในวันที่ 1 มกราคม 2539ซึ่งตรงกับวันหยุดราชการประจำปี จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5จึงมีสิทธิยื่นคำร้องในวันที่ศาลชั้นต้นเปิดทำการเป็นวันแรกได้ซึ่งโดยทั่วไปคือวันที่ 2 มกราคม 2539 แต่เฉพาะในปี 2539 นี้คณะรัฐมนตรีมีมติให้วันที่ 2 มกราคม 2539 เป็นวันหยุดชดเชยของวันที่ 31 ธันวาคม 2538 ที่ตรงกับวันอาทิตย์อันเป็นวันหยุดราชการประจำสัปดาห์ ตามหนังสือเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ นร 0215/ว 274 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2538 วันที่ศาลชั้นต้นเปิดทำการเป็นวันแรกหลังจากวันสุดท้ายที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 มีสิทธิยื่นคำร้องได้ซึ่งตรงกับวันหยุดราชการจึงเป็นวันที่ 3มกราคม 2539 และตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ในเบื้องต้นปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ได้ยื่นคำร้องดังกล่าวในวันที่ 3 มกราคม 2539 อันเป็นการยื่นคำร้องดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว ศาลชั้นต้นจะต้องส่งคำร้องดังกล่าวของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 พร้อมสำนวนไปยังอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เพื่อพิเคราะห์สั่งต่อไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ศาลชั้นต้นไม่มีสิทธิปฏิเสธไม่ส่งคำร้องดังกล่าวไปยังอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5ขอ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ที่ขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ฎีกาในข้อเท็จจริงจึงเป็นการไม่ชอบ
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ที่ขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตเป็นหนังสือให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ฎีกาในข้อเท็จจริงและให้ศาลชั้นต้นจัดส่งคำร้องดังกล่าวไปยังอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เพื่อดำเนินการต่อไป