คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5780/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

อุทธรณ์เรื่องการแปลความหมายแห่งเอกสารว่าเป็นหนังสือเตือนหรือไม่ เป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมาย เอกสารที่เป็นคำรับของโจทก์ว่ามาทำงานสายอันเป็นการกระทำฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลย และโจทก์ให้สัญญาว่าจะไม่มาทำงานสายอีกหากไม่ปฏิบัติตามคณะกรรมการสอบสวนจะได้พิจารณาเสนอให้ออกก่อนโดยไม่ได้บำเหน็จก็ได้ โจทก์และคณะกรรมการสอบสวนได้ลงลายมือชื่อไว้มีลักษณะเป็นหนังสือเตือนอยู่ในตัว และคณะกรรมการสอบสวนผู้ลงลายมือชื่อในหนังสือนั้นได้รับการแต่งตั้งจากจำเลยให้ดำเนินการในเรื่องนี้ต่อโจทก์ ย่อมมีอำนาจที่จะลงลายมือชื่อในหนังสือนั้นแทนจำเลยได้ เอกสารดังกล่าวจึงเป็นหนังสือเตือนของจำเลยโดยชอบเมื่อโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์เมื่อจำเลยเลิกจ้างและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม การวินิจฉัยว่านายจ้างจะนำเงินทดรองจ่ายที่ลูกจ้างยืมไปอันเนื่องมาจากการทำงานมาหักชำระได้หรือไม่ ต้องวินิจฉัยจากข้อที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 30 ซึ่งถือได้ว่าเป็นกฎหมายพิเศษ ไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 346 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286(3) ซึ่งบัญญัติไว้เป็นการทั่วไปมาวินิจฉัยได้ และเงินดังกล่าวมิใช่หนี้อื่นตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว จำเลยจึงมีสิทธินำเงินนั้นมาหักจากเงินค่าจ้างที่จำเลยจะต้องจ่ายให้โจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลย เมื่อวันที่2 เมษายน 2536 ผู้รักษาการแทนผู้จัดการของจำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่า โจทก์ได้ถูกคณะกรรมการดำเนินการของจำเลยมีมติให้ปลดโจทก์ออกจากการเป็นพนักงานโดยจำเลยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างเป็นเงิน 7,772 บาท โจทก์ทำงานกับจำเลยเป็นเวลาเกินกว่า 3 ปีแล้วโจทก์ไม่มีความผิดจึงชอบที่จะได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้าง เป็นเงิน24,120 บาท จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดจึงเป็นการเลิกจ้างอันไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 1,254,240 บาท และจำเลยไม่ได้จ่ายค่าจ้างในเดือนมีนาคม2536 และในวันที่ 1 กับวันที่ 2 เมษายน 2536 รวมเป็นค่าจ้าง4,288 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสิ้น1,290,420 บาท แต่จำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงชอบที่จะเรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่3 เมษายน 2536 ถึงวันฟ้องคิดเป็นเงินดอกเบี้ย 22,582 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินแก่โจทก์ 1,313,002 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงิน 1,290,420 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นพนักงานของจำเลย ตั้งแต่ปี 2534เป็นต้นมา โจทก์เข้าทำงานไม่ตรงเวลา จำเลยได้ตักเตือนแล้วแต่โจทก์ก็ไม่ปฏิบัติตามคำตักเตือนของจำเลย จำเลยได้ลงโทษทางวินัยชั้นภาคทัณฑ์ตัดเงินเดือน ลดขั้นเงินเดือน ต่อมาโจทก์ได้ให้สัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรว่าโจทก์เข้าทำงานไม่ตรงตามเวลา 92 ครั้งเป็นเหตุให้ถูกลงโทษทางวินัยหลายกรณี และเกรงว่าจะเสียประวัติในการทำงาน จึงจะขอลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยประมาณเดือนพฤษภาคม 2536 แต่ในระหว่างที่ยังไม่ถึงเวลากำหนดการลาออกโจทก์จะไม่มาทำงานสายอีก แต่โจทก์ก็ยังคงมาทำงานสายอยู่เป็นประจำจำเลยจึงมีมติให้ปลดโจทก์ออกจากการเป็นพนักงาน การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยชอบด้วยระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยแล้วการกระทำของโจทก์เป็นการจงใจฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีที่ร้ายแรง จำเลยจึงไม่ต้องบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ล่วงหน้า ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมแล้วจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย ในระหว่างที่โจทก์ทำงานกับจำเลยนั้นโจทก์ได้ขอยืมเงินทดรองจ่ายจากจำเลยไปเป็นเงิน 4,180 บาท และโจทก์ยังไม่ได้หักล้างเงินยืมดังกล่าว จำเลยจึงมีสิทธิที่จะตัดเงินค่าจ้างของโจทก์เพื่อชำระหนี้ดังกล่าวแก่จำเลย จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินค่าจ้างจำนวน 4,288 บาท ให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 974 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 3 เมษายน2536 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า เอกสารหมาย ล.9 เป็นหนังสือเตือนของจำเลยหรือไม่จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างอันไม่เป็นธรรมแก่โจทก์หรือไม่ ก่อนวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ เห็นควรวินิจฉัยตามที่จำเลยแก้อุทธรณ์ก่อนว่า อุทธรณ์ของโจทก์เกี่ยวกับเอกสารหมาย ล.9 เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคแรก หรือไม่ เห็นว่าอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้เป็นเรื่องการแปลความหมายแห่งเอกสารหมาย ล.9 ว่า เป็นหนังสือเตือนหรือไม่ เป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมาย ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ สำหรับปัญหาดังกล่าว เห็นว่า ในเอกสารหมาย ล.9 นอกจากจะเป็นคำรับของโจทก์ว่ามาทำงานสายอันเป็นการกระทำฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยแล้วโจทก์ยังให้สัญญาว่าจะไม่มาทำงานสายอีก หากไม่ปฏิบัติตามคณะกรรมการสอบสวนจะได้พิจารณาเสนอให้ออกก่อนโดยไม่ได้บำเหน็จก็ได้ โจทก์และคณะกรรมการสอบสวนได้ลงลายมือชื่อไว้ ข้อความตอนหลังที่แสดงให้เห็นว่า คณะกรรมการสอบสวนได้ตักเตือนไม่ให้โจทก์กระทำการฝ่าฝืนในเรื่องการมาทำงานสายซ้ำอีก ซึ่งหากกระทำซ้ำอีกก็จะต้องได้รับโทษถึงกับให้ออก อันมีลักษณะเป็นหนังสือเตือนอยู่ในตัวด้วย และคณะกรรมการสอบสวนผู้ลงลายมือชื่อในหนังสือนั้นได้รับการแต่งตั้งจากจำเลยให้ดำเนินการในเรื่องนี้ต่อโจทก์ ย่อมมีอำนาจที่จะลงลายมือชื่อในหนังสือนั้นแทนจำเลยได้ เอกสารหมาย ล.9 นี้จึงเป็นหนังสือเตือนของจำเลยโดยชอบแล้ว เมื่อโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลย และจำเลยได้เตือนเป็นหนังสือแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ เมื่อจำเลยมีเหตุเลิกจ้างโจทก์ดังกล่าว จำเลยก็ไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมแล้ว โจทก์ไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
โจทก์อุทธรณ์อีกข้อหนึ่งว่า จำเลยจะนำเงินทดรองจ่ายมาหักกลบลบหนี้กับค่าจ้างของโจทก์ไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 346 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286(3) เห็นว่า ในเรื่องนี้ได้มีข้อกำหนดไว้เป็นการเฉพาะอยู่ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 30แล้วว่า “ในการจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุดนายจ้างจะนำหนี้อื่นมาหักมิได้” การวินิจฉัยว่านายจ้างจะนำเงินทดรองจ่ายที่ลูกจ้างยืมไปมาหักชำระได้หรือไม่ จึงต้องวินิจฉัยจากข้อที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ซึ่งออกมาโดยอาศัยอำนาจแห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515ถือได้ว่าเป็นกฎหมายพิเศษ ไม่อาจนำกฎหมายที่โจทก์อ้างซึ่งบัญญัติไว้เป็นการทั่วไปมาวินิจฉัยได้ และเงินทดรองจ่ายที่โจทก์ได้ยืมจำเลยไปอันเนื่องมาจากการทำงานมิใช่หนี้อื่นตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว จำเลยจึงมีสิทธินำเงินทดรองจ่ายที่โจทก์ยืมไปมาหักจากเงินค่าจ้างที่จำเลยจะต้องจ่ายให้โจทก์ได้ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ก็ฟังไม่ขึ้น ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share