คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5778/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ ส. ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการโจทก์พบพนักงานสอบสวน แล้วแจ้งความว่าผู้แจ้งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทโจทก์ มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหายักยอกทรัพย์จนกว่าคดีจะถึงที่สุดตามที่พนักงานสอบสวนได้บันทึกไว้ในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีนั้น เป็นการเพียงพอที่จะฟังได้แล้วว่าโจทก์ในฐานะผู้เสียหายได้ร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยว่ากระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว และเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ร้องทุกข์ภายหลังคดีขาดอายุความคำฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 352, 353, 354
ศาลชั้นต้นไต่ส่วนมูลฟ้องแล้วฟ้องว่า คดีไม่มีมูลพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 วรรคหนึ่ง, 353 รวมสามสิบหกกระทงความผิด การกระทำแต่ละกระทงความผิดนั้น เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 ในแต่ละกระทงนั้น แต่ความผิดในกฎหมายหลายบทนั้น กำหนดระวางโทษไว้เท่ากัน จึงให้ลงโทษตามความผิดบทหนึ่งบทใดก็ได้ ลงโทษฐานผู้จัดการทรัพย์สินตามมาตรา 353 ให้จำคุกกระทงละ 1 ปี รวมสามสิบหกกระทงความผิด เป็นจำคุก 36 ปีแต่ตามกฎหมายในความผิดหลายกรรมต่างกันเมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วโทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินสิบปี ตามมาตรา 91(1) คงให้จำคุกจำเลยไว้ 10 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ว่า บันทึกคำร้องทุกข์ฉบับลงวันที่ 14 สิงหาคม 2535 ตามเอกสารหมาย จ.103 ระบุว่า “นายศรายุทธ บุตรดำ ซึ่งเป็นลูกจ้างได้ยักยอกเงินของผู้แจ้งไป เท่าที่ตรวจบทขณะนี้ เป็นจำนวนเงิน230,000 บาท ทำให้ผู้แจ้งได้รับความเสียหาย จึงมาแจ้งความร้องทุกข์มอบคดีให้กับพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับผู้ต้องหาจนกว่าคดีจะถึงที่สุด” และลงชื่อนายสมชาย โดยมิได้ระบุว่ากระทำในนามโจทก์ ทั้งไม่ปรากฏรอยตราเครื่องหมายโจทก์ ซึ่งเป็นนิติบุคคลในช่องผู้ร้องทุกข์แต่อย่างใด บันทึกคำร้องทุกข์ดังกล่าวจึงเป็นเพียงคำร้องทุกข์โดยส่วนตัวของนายสมชายซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหาย คดีนี้เป็นคดีความผิดอันยอมความได้ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด กรณีนี้ถือว่าโจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดอย่างช้าที่สุดในวันที่ 14 สิงหาคม 2535 ซึ่งเป็นวันที่นายสมชายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 22 มกราคม 2536 คดีโจทก์ขาดอายุความ เป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบ เพราะคดีนี้โจทก์โดยนายสมชายกรรมการผู้จัดการได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนด้วยวาจา มิได้ยื่นคำร้องทุกข์เป็นหนังสือ นายสมชายเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์เป็นผู้เสียหาย ได้แจ้งความร้องทุกข์ว่าผู้แจ้งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่นายศรายุทธ บุตรดำในข้อหายักยอกทรัพย์จนกว่าคดีถึงที่สุด ปรากฏตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.10 และพนักงานสอบสวนได้จัดทำคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษตามแบบฟอร์มของกรมตำรวจไว้ตามเอกสารหมาย จ.103การที่พนักงานสอบสวนมิได้ให้นายสมชายลงชื่อไว้ในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.10 และพนักงานสอบสวนจดบันทึกในคำร้องทุกข์เอกสารหมาย จ.103 ไม่ครบถ้วนตามที่นายสมชายแจ้งไว้แล้วให้นายสมชายลงชื่อไว้โดยไม่ได้ประทับตราบริษัทโจทก์ จะฟังว่าคดีไม่มีการร้องทุกข์โดยชอบ คดีโจทก์ขาดอายุความไม่ได้นั้น เห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7) บัญญัติว่า”คำร้องทุกข์” หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้นจะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายและการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ ฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์ยกบันทึกตามเอกสารหมาย จ.103ซึ่งพนักงานสอบสวนจัดทำขึ้น เพื่อวัตถุประสงค์เป็นหลักฐานว่าคดีนี้ได้มีการร้องทุกข์โดยชอบแล้วมาตำหนิและวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำของนายสมชายเป็นส่วนตัว ทั้งที่ก่อนหน้าที่ศาลอุทธรณ์ได้เคยวินิจฉัยปัญหานี้ไว้แล้ว ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฉบับลงวันที่30 สิงหาคม 2536 ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่า การร้องทุกข์ของโจทก์เป็นไปโดยชอบและพิพากษาให้คดีมีมูล นอกจากคำวินิจฉัยพิพากษาจะขัดกับคำวินิจฉัยเดิมของศาลอุทธรณ์แล้ว ยังขัดกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวอีกด้วย การที่นายสมชายซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการโจทก์ได้พบพนักงานสอบสวนแล้วแจ้งความให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหายักยอกทรัพย์ของโจทก์ ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.10 นั้นเป็นการเพียงพอที่จะฟังได้แล้วว่า โจทก์ในฐานะผู้เสียหายได้ร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยว่ากระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ร้องทุกข์ภายหลังคดีขาดอายุความ คำฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความแต่อย่างใดฎีกาโจทก์ฟังขึ้น เมื่อฟังว่าคดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ และศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดคดีนี้หรือไม่จึงเห็นควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีต่อไป”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาคดีใหม่ตามรูปคดี

Share