คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1448/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระภิกษุ ก. ได้มาซึ่งที่ดินในจังหวัดลำพูนในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศต่อมาพระภิกษุ ก. ถึงแก่มรณภาพขณะที่พระภิกษุ ก. มีภูมิลำเนาอยู่ที่วัดในจังหวัดเชียงใหม่ โดยมิได้จำหน่ายที่ดินไปในระหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรมการยื่นคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกรายนี้จึงต้องยื่นต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตขณะถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 จัตวา
เมื่อผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้แต่งตั้งผู้จัดการมรดกต่อศาลจังหวัดลำพูนการที่ศาลจังหวัดลำพูนรับคำร้องไว้พิจารณาและมีคำสั่ง กับศาลอุทธรณ์ภาค 2พิจารณาอุทธรณ์ผู้ร้องและพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นจึงเป็นการมิชอบปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) เป็นไม่รับคำร้องขอของผู้ร้องและให้คืนค่าขึ้นศาลทั้งสามศาลแก่ผู้ร้อง

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นพี่สาวร่วมบิดามารดาเดียวกันกับพระแก้วกิตติญาโณหรือพระครูรัตนวิบูลย์ (แก้ว) หรือพระอธิการแก้ว ทองมาศ ซึ่งถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2540 การจัดการมรดกมีเหตุขัดข้องขอศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้

ศาลชั้นต้นประกาศนัดไต่สวน ไม่มีผู้ใดคัดค้าน

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอ

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2535 พระแก้วกิตติญาโณได้มาซึ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 68429 ตำบลเหมืองง่า อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูนในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศตามครั้นวันที่ 15 พฤษภาคม 2540 พระแก้วกิตติญาโณถึงแก่มรณภาพโดยมิได้จำหน่ายที่ดินไปในระหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรม ขณะที่พระแก้วกิตติญาโณถึงแก่มรณภาพนั้น มีภูมิลำเนาอยู่ที่วัดเจดีย์แม่ครัว หมู่ที่ 3 ตำบลแม่แฝกใหม่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่แล้ววินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 จัตวาคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกให้เสนอต่อศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตาย ในกรณีที่เจ้ามรดกไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรให้เสนอต่อศาลที่ทรัพย์มรดกอยู่ในเขตศาลคดีนี้พระแก้วกิตติญาโณเจ้ามรดกมรณภาพขณะจำพรรษาอยู่ที่วัดเจดีย์แม่ครัว หมู่ที่ 3 ตำบลแม่แฝกใหม่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ฉะนั้น การยื่นคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกรายนี้จึงต้องยื่นต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในขณะถึงแก่ความตาย ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดลำพูน ที่ศาลจังหวัดลำพูนรับคำร้องไว้พิจารณาและมีคำสั่งกับศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาอุทธรณ์ผู้ร้องและพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นจึงเป็นการมิชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่า ผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้ได้หรือไม่

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 และคำสั่งศาลชั้นต้นเป็นไม่รับคำร้องขอของผู้ร้อง คืนค่าขึ้นศาลทั้งสามศาลแก่ผู้ร้อง

Share