คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5778/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสาธร-ลาดพร้าว(บริเวณโรงซ่อมบำรุง)กรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทนเป็นขั้นตอนหนึ่งของการดำเนินการกำหนดค่าทดแทนและจ่ายค่าทดแทนให้แก่ผู้ที่จะถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษฯตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530ไม่ใช่การตกลงซื้อขายกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ขณะทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษฯนั้นพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนพ.ศ.2530ซึ่งกำหนดให้ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยที่1เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชกฤษฎีกานี้ได้สิ้นผลบังคับใช้ไปแล้วเพราะหมดอายุฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของจำเลยที่1กับฐานะของคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนในท้องที่เขตห้วยขวางกรุงเทพมหานครตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่พ.ศ.2530ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่953/2534สิ้นสุดลงไปด้วยและราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนที่คณะกรรมการชุดนี้กำหนดย่อมสิ้นผลไปด้วยดังนั้นสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวซึ่งจำเลยทั้งสองทำในขณะไม่มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่แล้วจึงเป็นการกระทำโดยผู้ปราศจากอำนาจและไม่ถูกต้องตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มาตรา10วรรคหนึ่งย่อมไม่มีผลใช้บังคับการดำเนินการกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่จะถูกเวนคืนและจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์จึงต้องดำเนินการใหม่เมื่อพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนพ.ศ.2535มีผลใช้บังคับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองทำสัญญาซื้อขายที่ดินของนางแหวนและจ่ายเงินค่าทดแทนตามราคาเบื้องต้นที่ประกาศแล้วนั้นภายในวันที่ 29 สิงหาคม 2539
จำเลยทั้งสองให้การว่า สัญญาซื้อขายของจำเลยไม่เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่าโจทก์เป็นบุตรของนางแหวน เณรยอด เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามโฉนดที่ดิน เลขที่ 56735 ตำบลสามเสนนอก(สามเสนนอกฝั่งเหนือ) อำเภอบางกะปิ (บางซื่อ) กรุงเทพมหานครที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตพระโขนงเขตยานนาวา เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตสัมพันธวงศ์เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตพระนคร เขตดุสิต เขตบางเขน เขตพญาไทและเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 เพื่อสร้างทางพิเศษสายพระโขนง – หัวลำโพง – บางซื่อ – และสาธร – ลาดพร้าว ซึ่งมีอายุ 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2530 ถึงวันที่ 15มิถุนายน 2535 ตามเอกสารหมาย จ.13 คณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนในท้องที่เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตพระโขนงเขตยานนาวา เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตสัมพันธวงศ์เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตพระนคร เขตดุสิต เขตบางเขน เขตพญาไทและเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 953/2534 เอกสารหมาย ล.2 กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินพิพาทให้แก่นางแหวนตารางวาละ 20,000 บาท และจำเลยที่ 2โดยจำเลยที่ 1 กับนางแหวนทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกันวันที่25 สิงหาคม 2535 ตามสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เอกสารหมาย จ.3อันเป็นระยะเวลาที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวหมดอายุแล้ว แต่จำเลยที่ 2 ได้ทำการสำรวจเขตที่ดินเพื่อเวนคืนยังไม่เสร็จสิ้น ต่อมาได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางซื่อ เขตดุสิต เขตพญาไท เขตพระนครเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตปทุมวัน เขตบางรักเขตสาธร เขตคลองเตย เขตพระโขนง เขตห้วยขวาง และเขตราชเทวีกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2535 ซึ่งมีอายุ 4 ปี นับแต่วันที่ 29สิงหาคม 2535 เป็นต้นไป ตามเอกสารหมาย จ.14 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 กับนางแหวนตามสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เอกสารหมาย จ.3 มีผลใช้บังคับหรือไม่เห็นว่า สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เอกสารหมาย จ.3 เป็นสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างทางพิเศษ โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสาธร – ลาดพร้าว(บริเวณโรงซ่อมบำรุง) กรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทน ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของการดำเนินการกำหนดค่าทดแทนและจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ที่จะถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษฯ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ไม่ใช่การตกลงซื้อขายกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ขั้นตอนนี้กำหนดไว้ในมาตรา 10 วรรคหนึ่งว่า ในระหว่างใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 ให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่มีอำนาจตกลงซื้อขาย และกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อดำเนินการจัดซื้อและจ่ายค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวต่อไปแต่จะให้ราคาหรือค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวเกินกว่าราคาเบื้องต้นที่คณะกรรมการตามมาตรา 9 กำหนดไว้ไม่ได้ และมาตรา 4 ให้คำนิยาม”เจ้าหน้าที่” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนท้องถิ่นรัฐวิสาหกิจหรือบุคคลอื่นใดผู้กระทำการเพื่อประโยชน์ของรัฐซึ่งมีอำนาจในการเวนคืนหรือควบคุมการเวนคืน แต่ขณะทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ตามเอกสารหมาย จ.3 นั้น พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2530 ซึ่งกำหนดให้จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชกฤษฎีกานี้ได้สิ้นผลบังคับใช้ไปแล้ว เพราะหมดอายุ ฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของจำเลยที่ 1 กับฐานะของคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนในท้องที่เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่พ.ศ. 2530 ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 953/2534 เอกสารหมายล.2 สิ้นสุดลงไปด้วยและราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนที่คณะกรรมการชุดนี้กำหนดย่อมสิ้นผลไปด้วย ดังนั้นสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ตามเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งจำเลยทั้งสองทำในขณะไม่มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่แล้ว จึงเป็นการกระทำโดยผู้ปราศจากอำนาจและไม่ถูกต้องตามขั้นตอนของมาตรา 10 วรรคหนึ่ง ย่อมไม่มีผลใช้บังคับ การดำเนินการกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่จะต้องถูกเวนคืนและจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ จึงต้องดำเนินการใหม่เมื่อพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2535 มีผลใช้บังคับ คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองชอบทั้งเหตุและผลแล้ว
พิพากษายืน

Share