คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5776/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตาม พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์…..พ.ศ.2516 เพิ่งแจ้งราคาค่าทดแทนที่ดินของ ส.ที่ถูกเวนคืนให้ ส.ทราบเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2534 และได้มีการฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2535 การกำหนดราคาค่าทดแทนเบื้องต้นจึงยังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 มีผลใช้บังคับการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนจึงต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ดังนั้น การกำหนดราคาค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่ ส.ของคณะกรรมการฯจึงต้องพิจารณากำหนดราคาค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530 มาตรา 21
การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของ ส.เป็นการเวนคืนตาม พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์และแขวงสีลม เขตบางรัก และแขวงยานนาวา แขวงทุ่งมหาเมฆ แขวงทุ่งวัดดอน และแขวงช่องนนทรี เขตยานนาวากรุงเทพมหานคร พ.ศ.2516 โดยมีการออก พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์ ตำบลสีลม อำเภอบางรัก และตำบลยานนาวา ตำบลทุ่งมหาเมฆ ตำบลทุ่งวัดดอน ตำบลช่องนนทรี อำเภอยานนาวา จังหวัดพระนครพ.ศ.2506 และ พ.ศ.2511 ซึ่ง พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์… พ.ศ.2506 สิ้นอายุและได้มีการออก พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์…..พ.ศ.2511 ซึ่งมีผลใช้บังคับในวันที่ 16 ตุลาคม 2511 เมื่อ พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์….. พ.ศ.2516 ไม่มีบทบัญญัติเป็นพิเศษในเรื่องเงินค่าทดแทนไว้จึงต้องกำหนดเงินค่าทดแทนโดยใช้ราคาในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์….. พ.ศ.2511 คือวันที่16 ตุลาคม 2511 เป็นเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทน แต่ได้ความต่อไปว่าหลังจากที่ได้มี พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์….พ.ศ.2516ใช้บังคับแล้ว ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ 2 ก็มิได้ดำเนินการชดใช้ค่าทดแทนให้แก่ ส.ในเวลาอันควรและจำเลยที่ 2 เพิ่งจะมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตาม พ.ร.บ.เวนคืนอสังหา-ริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์….. พ.ศ.2516 และคณะกรรมการดังกล่าวเพิ่งจะพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่ ส.ในปี 2531 เช่นนี้ ย่อมทำให้ส.ได้รับความเสียหายและเป็นระยะเวลาล่วงเลยหลังจากที่ พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์…..พ.ศ.2516 ใช้บังคับแล้วนานเกินสมควร การที่จะกำหนดเงินค่าทดแทนให้โดยพิจารณาราคาที่ดินในปี พ.ศ.2511เป็นเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนนั้นย่อมไม่เป็นธรรมแก่ ส.ไม่ถูกต้องตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่งตอนท้าย และยังขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521มาตรา 33 วรรค 3 ดังนั้นการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของ ส.ที่ถูกเวนคืนโดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) จึงต้องพิจารณาจากราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนประกอบราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่รวมทั้งราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ตลอดจนสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น ในปี 2531 ซึ่งเป็นปีที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงค์…..พ.ศ.2516 และเป็นปีที่คณะกรรมการดังกล่าวได้พิจารณาเงินค่าทดแทน จึงจะเป็นธรรมแก่ ส.ผู้ถูกเวนคืน
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2497 มาตรา14 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21ต่างมีเจตนารมณ์ที่จะให้นำเอาราคาที่สูงขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนและราคาที่สูงขึ้นนั้นเนื่องมาจากการงานหรือกิจการอย่างใดที่ทำไปในการเวนคืนนำไปหักออกจากเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนได้ แม้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคสี่ ซึ่งใช้บังคับแก่การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในคดีนี้ จะบัญญัติให้การคำนวณอสังหาริมทรัพย์ใดมีราคาสูงขึ้นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาและไม่มีพ.ร.ฎ.กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการในการคำนวณราคาอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนก็ตาม แต่คณะกรรมการฯย่อมชอบที่จะนำเอาราคาที่สูงขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนหักออกจากเงินค่าทดแทนได้ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ 2530 ทั้งนี้โดยพิจารณาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สมเหตุสมผลและที่วิญญูชนจะพึงพิจารณา ทั้งนี้เพื่อมิให้เกิดการได้เปรียบต่อรัฐและมิให้เอกชนเจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนบางส่วนได้ประโยชน์เกินสมควรอันไม่เป็นธรรมแก่สังคม
การที่จะพิจารณาว่ามีที่ดินเหลือจากการเวนคืนหรือไม่ย่อมต้องพิจารณาถึงจำนวนเนื้อที่ดินทั้งหมดตามโฉนดของ ส.ที่มีอยู่ในขณะมีการดำเนินการเวนคืนไม่ใช่กรณีเกิดขึ้นภายหลังการเวนคืน แม้ภายหลัง ส.จะได้แบ่งแยกที่ดินโฉนดที่ถูกเวนคืนออกเป็นแปลงย่อยและโอนที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนให้แก่บุตรก็ยังถือว่าเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินที่เหลือจากการเวนคืน และนำที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากการเวนคืนเพื่อตัดถนนและทำระบบระบายน้ำมาหักออกจากค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่ถูกเวนคืนได้

Share