คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5774/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อกรมสารบรรณทหารได้ซื้อแบตเตอรี่จากโจทก์ และขอฝากแบตเตอรี่ที่ซื้อไว้กับโจทก์ แต่โจทก์ยังมิได้กำหนดแบ่งแยกไว้แน่นอนว่าจะขายแบตเตอรี่หม้อใดให้ แบตเตอรี่จึงยังเป็นของโจทก์เพราะกรรมสิทธิ์ในแบตเตอรี่ยังไม่โอนไปยังกรมสารบรรณทหารผู้ซื้อตามป.พ.พ. มาตรา 460 โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องจำเลยให้ชดใช้แบตเตอรี่ที่เอาไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว โจทก์เป็นนิติบุคคลสังกัดกระทรวงกลาโหม ผู้อำนวยการเป็น ผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์ กระทรวงกลาโหมสั่งตั้งกรรมการสอบสวน ข้อเท็จจริง และพิจารณาหาตัวผู้รับผิดชอบทางแพ่ง คณะกรรมการสอบสวน ทำการสอบสวนแล้วมีความเห็นว่าจำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ และได้เสนอความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น จนถึงรัฐมนตรีฯ รัฐมนตรีฯ ได้มีคำสั่งให้ดำเนินการตามความเห็นของคณะกรรมการและ ได้มีการแจ้งให้ผู้อำนวยการโจทก์ทราบเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2526 ถือว่าโจทก์รู้ว่าจำเลยที่ 1 พึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม2526.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ได้ขอถอนแบตเตอรี่ที่กองการขนส่งกรมสารบรรณทหาร ซื้อและฝากไว้กับโจทก์ อ้างว่ามีความจำเป็นต้องใช้ในราชการด่วน ส่วนหลักฐานการขอถอนจะส่งตามมาภายหลังซึ่งเป็นความเท็จ และจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ออกใบส่งสินค้า และหรือสั่งให้พนักงานของโจทก์ซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ออกใบส่งสินค้าให้จำเลยที่ 2เซ็นชื่อรับแบตเตอรี่ไปจากโจทก์ตามใบส่งสินค้ารวม 33 ฉบับ รวมแบตเตอรี่ที่จำเลยที่ 2 เซ็นรับไปจำนวน 320 หม้อ คิดเป็นเงิน401,480 บาท การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยโจทก์จะต้องชดใช้แบตเตอรี่หรือราคาให้แก่กองการขนส่งกรมสารบรรณทหาร กระทรวงกลาโหมได้ตั้งคณะกรรมการทำการสอบสวนและทวงถามจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉยจึงขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนแบตเตอรี่ จำนวน 320 หม้อ หรือใช้ราคา 401,480 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำละเมิดและไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ในนามกรมสารบรรณทหาร ถือว่ากรมสารบรรณทหารได้รับแบตเตอรี่ตามฟ้องไว้แล้ว โจทก์ไม่ต้องชดใช้แบตเตอรี่คืนโจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้อง คดีโจทก์ขาดอายุความ
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนแบตเตอรี่จำนวน 320 หม้อ หรือใช้ราคา 401,480 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานของโจทก์ ตำแหน่งหัวหน้าแผนกขายส่วนกลาง นางบุปผา พินิจการ เป็นประจำแผนกนางสุดสวาท โสภาคกุล และพันจ่าเอกสุเทพ นพคุณ เป็นพนักงานขายแผนกขายส่วนกลางขึ้นอยู่กับฝ่ายการตลาด มีหน้าที่ขายแบตเตอรี่ทำหนังสือเสนอราคา รับหนังสือรับฝากถอนแบตเตอรี่ และให้บริการในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง กองการขนส่ง กรมสารบรรณทหารเป็นลูกค้าซื้อแบตเตอรี่จากโจทก์โดยมีข้อตกลงเป็นระเบียบปฏิบัติว่ากองการขนส่ง กรมสารบรรณทหาร จะมีหนังสือขอซื้อมายังแผนกขายส่วนกลางและชำระเงินให้ ส่วนแบตเตอรี่นั้นกรมสารบรรณทหารจะรับไปเฉพาะจำนวนที่ต้องการใช้ ส่วนที่เหลือจะฝากไว้กับโจทก์ก่อน เมื่อต้องการใช้จึงจะมาขอถอน โดยกรมสารบรรณทหารจะมีหนังสือมาขอถอนและระบุชื่อผู้ถอนมาในหนังสือ แต่ในทางปฏิบัติได้มีการใช้วิธีโทรศัพท์ขอเบิกไปก่อนส่วนหนังสือขอถอนจะส่งมาภายหลัง จำเลยที่ 2 เพียงคนเดียวเป็นผู้มาขอถอนแบตเตอรี่ของกรมสารบรรณทหารถ้าแบตเตอรี่ของกรมสารบรรณทหารที่ฝากไว้หมดแล้ว ทางกรมสารบรรณทหารเคยขอยืมแบตเตอรี่จากโจทก์ไปใช้ก่อนหัวหน้าแผนกขายส่วนกลางมีอำนาจให้ยืมได้ เมื่อมีใบสั่งซื้อจึงจะหักลบกัน ตำแหน่งประจำแผนกไม่มีอำนาจให้ยืม ในปีงบประมาณ 2523 กรมสารบรรณทหารได้มีใบสั่งซื้อแบตเตอรี่จากโจทก์รวม 4 ครั้ง หัวหน้าแผนกขายส่วนกลางมีอำนาจให้เบิกถอนแบตเตอรี่ของกรมสารบรรณทหารที่ฝากไว้ โดยแผนกขายส่วนกลางจะทำใบส่งสินค้าให้ไปเบิกที่แผนกผลิตภัณฑ์ ผู้ทำใบเบิกเป็นเจ้าหน้าที่ในแผนก ส่วนผู้อนุมัติจะต้องเป็นหัวหน้าแผนกเมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม 2524 กรมสารบรรณทหารมีใบสั่งซื้อมายังแผนกขายส่วนกลาง ทางแผนกขายส่วนกลางจึงได้หักลบกับแบตเตอรี่ที่กรมสารบรรณทหารได้ยืมไปก่อนแล้ว ทางกรมสารบรรณทหารแจ้งว่าไม่เคยยืม จึงได้มีการตรวจสอบร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของกรมสารบรรณทหารและเจ้าหน้าที่ของโจทก์ ปรากฏว่าจำเลยที่ 2ได้ขอถอนแบตเตอรี่ของกรมสารบรรณทหารที่ฝากไว้ไป 320 หม้อ โดยไม่มีใบขอถอน ทางกรมสารบรรณทหารปฏิเสธไม่ยอมรับรู้ อ้างว่าไม่ได้เป็นผู้ถอน ได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อหาตัวผู้รับผิดชอบตามคำสั่งของกระทรวงกลาโหม จำเลยที่ 2 ให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการว่าจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกันทุจริตเอาแบตเตอรี่จำนวน 320 หม้อ ที่กรมสารบรรณทหารฝากไว้กับโจทก์ไป คณะกรรมการมีความเห็นว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดคืนแบตเตอรี่จำนวน 320 หม้อหรือใช้ราคา 401,480 บาท ให้แก่โจทก์
พิเคราะห์แล้ว ปัญหาแรกที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1มีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้กรมสารบรรณทหารได้ซื้อแบตเตอรี่จากโจทก์และขอฝากแบตเตอรี่ที่ซื้อไว้กับโจทก์ก็ตามแต่โจทก์ยังมิได้กำหนดแบ่งแยกไว้แน่นอนว่าจะขายแบตเตอรี่หม้อใดให้โจทก์ แบตเตอรี่จึงยังเป็นของโจทก์เพราะกรรมสิทธิ์ในแบตเตอรี่ยังไม่โอนไปยังกรมสารบรรณทหารผู้ซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 460 เมื่อแบตเตอรี่ยังเป็นของโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้…
ปัญหาต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์มาฟ้องคดีนี้ภายหลังจากที่โจทก์รู้เรื่องการละเมิดเกินกว่า 1 ปีแล้วนั้น เห็นว่า แม้จะฟังได้ว่าโจทก์รู้เรื่องละเมิดก่อนวันที่21 พฤษภาคม 2525 ตามเอกสารหมาย ล.1 (ที่ถูกเป็น ล.2)ตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่โจทก์ยังไม่รู้ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน โจทก์เป็นนิติบุคคลสังกัดกระทรวงกลาโหม มีนายทำนอง วรรณฉวี เป็นผู้อำนวยการซึ่งเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ กระทรวงกลาโหมสั่งตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและพิจารณาหาตัวผู้รับผิดชอบทางแพ่งเรื่องแบตเตอรี่ของกรมสารบรรณทหารที่ซื้อและฝากไว้กับโจทก์ คณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนแล้วมีความเห็นว่าจำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์และได้เสนอความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตามเอกสารหมาย จ.30 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้มีคำสั่งให้ดำเนินการตามความเห็นของคณะกรรมการและได้มีการแจ้งให้ผู้อำนวยการของโจทก์ทราบ ผู้อำนวยการของโจทก์ทราบเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2526 ตามเอกสารหมาย จ.31 ถือได้ว่าโจทก์รู้ว่าจำเลยที่ 1 พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ตั้งแต่วันที่19 ธันวาคม 2526 โจทก์มาฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดต่อโจทก์เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2527 ยังไม่ครบ 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ…”
พิพากษายืน.

Share