แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ การที่โจทก์ออกจากงานเพราะเกษียณอายุย่อมเป็นการพ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติตามพ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจพ.ศ. 2518 มาตรา 9,11 เมื่อจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างดำเนินการให้โจทก์ออกจากงานตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จึงต้องตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 เมื่อปรากฏว่า การที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานดังกล่าวโดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำผิดตามที่ระบุไว้ในข้อ 47 หรือเข้าข้อยกเว้นในกรณีไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามข้อ 46 จึงต้องถือเป็นการเลิกจ้างที่จำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 6,550 บาท ต่อมาวันที่ 12เมษายน 2534 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุเกษียณอายุ โดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 39,300บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ โจทก์ออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุหรือมีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ เป็นการพ้นจากตำแหน่งโดยผลของกฎหมาย มิใช่จำเลยเลิกจ้าง โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าชดเชยจำนวน39,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจการที่โจทก์ออกจากงานเพราะเกษียณอายุย่อมเป็นการพ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9, 11เมื่อจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างดำเนินการให้โจทก์ออกจากงานตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จึงต้องตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ซึ่งให้บทนิยามว่า “การเลิกจ้างตามข้อนี้หมายความว่า การที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานปลดออกจากงานหรือไล่ออกจากงาน โดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำผิดตามข้อ 47 ฯลฯ”เมื่อปรากฎว่า การที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานดังกล่าวโดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำผิดตามที่ระบุไว้ในข้อ 47 หรือเข้าข้อยกเว้นในกรณีไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามข้อ 46 จึงต้องถือเป็นการเลิกจ้างที่จำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.