คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5767/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกของ น. ร่วมกันตามคำสั่งของศาลเมื่อผู้ร้องที่ 1 ที่ 3 ยินยอมให้ผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้เข้ารับโอนใบอนุญาตโรงเรียนสืบต่อจาก น. แต่ผู้ร้องที่ 2คัดค้าน ดังนี้เป็นการจัดการมรดกซึ่งผู้จัดการมรดกทำการตามหน้าที่โดยเป็นฝ่ายเสียงข้างมาก ไม่ใช่เสียงเท่ากันในอันที่จะร้องขอให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1726
ตามคำร้องของผู้ร้องที่ 1 ที่ 3 เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้สิทธิที่จะร้องขอให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดได้ จึงไม่จำเป็นที่ศาลต้องไต่สวนคำร้องดังกล่าวส่วนการที่ผู้ร้องที่ 2 โต้แย้งคัดค้านการที่ผู้ร้องที่ 1 ขอเข้าเป็นผู้รับโอนใบอนุญาตโรงเรียนนั้น หากต้องเสียหาย ก็ชอบที่จะว่ากล่าวกับผู้ร้องที่ 2เป็นคดีใหม่.

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกของนางนิภา บินตวนกู ผู้ตาย ซึ่งเดิมนางไฉนพรเป็นผู้จัดการมรดกแล้วถึงแก่กรรม ต่อมาผู้ร้องที่ ๑ ที่ ๓ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องที่ ๑เข้าเป็นผู้รับโอนใบอนุญาตโรงเรียนปวิธศึกษา ซึ่งนางไฉนพรเข้ารับโอนสืบใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการสืบต่อจากผู้ตาย ทั้งนี้ โดยผู้จัดการมรดกเสียงข้างมากให้ผู้ร้องที่ ๑ เข้ารับโอนใบอนุญาตโรงเรียนดังกล่าวสืบแทนแต่ผู้เดียว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องที่ ๑ ที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องที่ ๑ ที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องที่ ๑ ที่ ๓ ตกลงยินยอมให้ผู้ร้องที่ ๑ เข้าเป็นผู้รับโอนใบอนุญาตโรงเรียนปวิธศึกษาจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน แต่ผู้ร้องที่ ๒ คัดค้านเป็นเหตุให้คณะกรรมการการศึกษาเอกชน มีคำสั่งให้ผู้ร้องที่ ๑ได้รับอนุญาตจากศาลเสียก่อน แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ที่ผู้ร้องที่ ๑ ที่ ๓ ฎีกาว่า กรณีดังกล่าวมีข้อโต้แย้งกันระหว่างผู้จัดการมรดก ชอบที่จะให้ศาลมีคำสั่งอนุญาต และศาลชั้นต้นควรจะไต่สวนคำร้องดังกล่าวนั้น พิเคราะห์แล้วได้ความว่าผู้ร้องทั้งสามได้เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันตามคำสั่งของศาลชั้นต้นและผู้ร้องที่ ๑ ที่ ๓ ร่วมกันจัดการมรดกตกลงยินยอมให้ผู้ร้องที่ ๑ เข้ารับโอนใบอนุญาตโรงเรียนดังกล่าว แต่ผู้ร้องที่ ๒คัดค้าน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๒๖ บัญญัติว่า”ถ้าผู้จัดการมรดกมีหลายคน การทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้นต้องถือเอาเสียงข้างมาก เว้นแต่จะมีข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นอย่างอื่นถ้าเสียงเท่ากัน เมื่อผู้ส่วนได้เสียร้องขอก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด” เห็นว่า กรณีของผู้ร้องที่ ๑ ที่ ๓ เป็นการจัดการมรดกซึ่งผู้จัดการมรดกทำการตามหน้าที่โดยเป็นฝ่ายเสียงข้างมากไม่ใช่เสียงเท่ากัน จึงเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ร้องที่ ๑ ที่ ๓ ในอันที่จะร้องขอให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดโดยสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องที่ ๑ เป็นผู้เข้ารับโอนใบอนุญาตโรงเรียนดังกล่าว จึงไม่จำเป็นที่ศาลจะต้องไต่สวนคำร้องดังกล่าวของผู้ร้องที่ ๑ ที่ ๓ ส่วนเรื่องที่ผู้ร้องที่ ๒ โต้แย้งคัดค้านในการที่ผู้ร้องที่ ๑ เข้าเป็นผู้รับโอนใบอนุญาตโรงเรียนดังกล่าวเนื่องจากการจัดการมรดก หากต้องเสียหายผู้ร้องที่ ๑ ที่ ๓ชอบที่จะว่ากล่าวเอากับผู้ร้องที่ ๒ เป็นคดีใหม่
พิพากษายืน.

Share