คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5766/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยได้ขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่าวีดีโอเทปของกลาง ที่ไม่มีฉลากแสดงข้อความภาษาไทยระบุชื่อผู้ผลิตสถานที่ประกอบการของผู้ผลิตชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิ อันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคพ.ศ. 2522 ที่บัญญัติว่า ผู้ใดขายสินค้าที่ควบคุมฉลากตามมาตรา 30 โดยไม่มีฉลาก โดยรู้อยู่แล้วว่าการไม่มีฉลากดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ความผิดตามกฎหมายดังกล่าวประกอบด้วยการขายสินค้าและสินค้านั้นเป็นสินค้าควบคุมฉลาก แต่ไม่มีฉลาก ดังนั้น ของกลางดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1) ซึ่งศาลมีอำนาจสั่งให้ริบได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า บริษัทนิวไลน์อินเตอร์เนชั่นแนลรีลิสซิ่ง จำกัดผู้เสียหาย จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญาตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2536 ผู้เสียหายเป็นเจ้าของงานสร้างสรรค์ประเภทโสตทัศนวัสดุ ซึ่งบันทึกเสียงและภาพทุกประเภทภาพยนตร์เรื่อง “เดอะแมสด์ หน้ากากเทวดา” เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายสร้างขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาและได้โฆษณาเผยแพร่ในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศไทยแล้ว จึงได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายของประเทศไทย นอกจากนี้คณะกรรมการว่าด้วยฉลากอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 30 และ 31 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ได้ออกประกาศฉบับที่ 58ลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2536 กำหนดให้เทปเพลง วีดีโอเทปที่บันทึกเสียงและภาพ และแผ่นซีดีที่บันทึกเสียงและหรือภาพเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2537 เวลากลางวันจำเลยกับพวกอีกหนึ่งคนร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์และโสตทัศนวัสดุเรื่อง “เดอะแมสด์ หน้ากากเทวดา” ของผู้เสียหายซึ่งมีผู้ทำซ้ำงานดังกล่าว โดยจำเลยกับพวกนำออกขาย เสนอขาย ให้เช่าแก่บุคคลทั่วไปซึ่งวีดีโอเทปดังกล่าว จำนวน 2 ม้วนทั้งนี้เพื่อหากำไรและรู้อยู่ว่าเป็นวีดีโอเทปที่ได้กระทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย นอกจากนี้จำเลยกับพวกยังได้ร่วมกันขายเสนอขายให้เช่า เสนอให้เช่าวีดีโอเทปเรื่อง “เดอะแมสด์ หน้ากากเทวดา” จำนวน 2 ม้วน และวีดีโอเทปเรื่องอื่น ๆ อีก 300 ม้วน ที่ไม่มีฉลากแสดงข้อความภาษาไทยระบุชื่อผู้ผลิตสถานที่ประกอบการของผู้ผลิต ชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิ อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เหตุเกิดที่แขวงบางลำภูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยวีดีโอเทปจำนวน 302 ม้วน เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 27, 42, 44, 47, 49 พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 4, 6, 15, 31, 61, 70, 75, 76, 78 พระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2536 มาตรา 4, 5, 6 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 3, 14, 30, 31, 52 ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 58ลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2536 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ให้วีดีโอเทปเรื่อง “เดอะแมสด์ หน้ากากเทวดา” จำนวน 2 ม้วนของกลางตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ให้ริบวีดีโอเทปเรื่องอื่นจำนวน 300 ม้วนของกลาง ให้จ่ายค่าปรับเฉพาะข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 27, 42, 44 วรรคสอง พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 27, 31, 61, 70 วรรคสอง พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 30, 52 วรรคหนึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและเป็นคุณแก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 จำคุก 2 เดือน และปรับ 15,000 บาท ฐานขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลากปรับ 5,000 บาท รวมจำคุก 2 เดือน ปรับ 20,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือน และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้วีดีโอเทปเรื่อง “เดอะแมสด์ หน้ากากเทวดา” จำนวน 2 ม้วนของกลางตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ ริบวีดีโอเทปที่เสนอขายโดยไม่มีฉลากจำนวน 300 ม้วน ให้จ่ายค่าปรับข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งแก่ผู้เสียหายผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยอุทธรณ์ขอให้คืนวีดีโอเทปที่เสนอขายโดยไม่มีฉลากจำนวน 300 ม้วน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 บัญญัติว่า “ผู้ใดขายสินค้าที่ควบคุมฉลากตามมาตรา 30 โดยไม่มีฉลาก ทั้งนี้ โดยรู้อยู่แล้วว่าการไม่มีฉลาก ดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมายต้องระวางโทษ” ความผิดตามกฎหมายดังกล่าวประกอบด้วยการขายสินค้าและสินค้านั้นเป็นสินค้าควบคุมฉลาก แต่ไม่มีฉลากสินค้าที่ขายในคดีนี้ก็คือวีดีโอเทป 300 ม้วน ของกลางนั้นเองดังนั้นของกลางดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1) ซึ่งศาลมีอำนาจสั่งให้ริบได้ ที่ศาลล่างทั้งสองสั่งให้ริบของกลางดังกล่าวจึงชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share