คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5764/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับแต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลัง อันดับที่ 1 คือผู้สืบสันดานซึ่งตามมาตรา 1627บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้ด้วย ดังนั้น ประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดว่า จำเลยเป็นทายาทโดยธรรมของนาย อ.เจ้ามรดกหรือไม่ จึงรวมไปถึงปัญหาว่าจำเลยเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วหรือไม่ด้วย
จำเลยมีสำเนาทะเบียนการสมรสระหว่างจำเลยกับ ส.สามีซึ่งเป็นเอกสารมหาชนระบุว่า จำเลยเป็นบุตรนาย อ. นาง ก. และใช้นามสกุลขณะสมรสว่า “เพชรม่อม” อันเป็นนามสกุลของนาย อ. อีกด้วยแม้นาย อ. นาง ก.ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย แต่ผู้ใหญ่บ้านก็เบิกความรับรองว่า ขณะเยาว์วัยจำเลยอาศัยอยู่กับนาย อ.บิดาที่บ้าน จึงฟังได้ว่านาย อ.อุปการะเลี้ยงดูจำเลยอย่างบุตรและให้ใช้นามสกุลเดียวกัน ถือเป็นการรับรองว่าจำเลยเป็นบุตร จำเลยจึงมีสิทธิรับมรดกไม่มีพินัยกรรมของนาย อ.ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 และมาตรา 1629
โจทก์ฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยขอรับมรดกที่ดินพิพาทส่วนของนาย อ. อ้างว่า นาย อ.ได้ยกที่ดินพิพาทส่วนของนาย อ.ให้โจทก์แล้วไม่มีประเด็นว่าโจทก์แย่งการครอบครองที่ดินพิพาทเกินกว่า 1 ปี หรือไม่ ทั้งคำพยานโจทก์ ก็ไม่ได้ยืนยันว่า นาย อ.ยกที่ดินพิพาทส่วนของนาย อ.ให้โจทก์การที่โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทรวมทั้งส่วนของนาย อ.หลังจากนาย อ.ตายแล้วเท่ากับเป็นการครอบครองแทนจำเลยซึ่งเป็นทายาทนาย อ.จนกว่าโจทก์จะแสดงเจตนาเปลี่ยนการครอบครองเป็นครอบครองเพื่อตน เมื่อจำเลยเป็นทายาทโดยธรรมของนาย อ.ได้ทำนิติกรรมจดทะเบียนสิทธิรับโอนที่ดินพิพาทส่วนของนาย อ.บิดาโดยชอบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว

Share