คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 466/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฎีกาโจทก์ที่ว่า จำเลยที่ 2 มิได้พิจารณาและออกหนังสืออนุญาตให้โจทก์ที่ 3 แก้ไขแบบแปลนและต่อเติมอาคารจาก 4 ชั้นเป็น 11 ชั้นภายในกำหนดระยะเวลา 30 วัน และกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ คำสั่งของจำเลยที่ 2 ที่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ให้โจทก์รื้อถอนอาคารที่สร้างโดยไม่รับอนุญาตตั้งแต่ชั้นที่ 5 ถึงชั้นที่ 11 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นเป็นฎีกาที่ไม่มีประโยชน์ต่อรูปคดีของโจทก์และฟังไม่ขึ้น เพราะแม้กฎหมายจะกำหนดระยะเวลาไว้ แต่กฎหมายดังกล่าวก็มิได้บัญญัติให้คำสั่งหรือคำวินิจฉัยที่ล่าช้าตกเป็นเสียเปล่าหรือก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะก่อสร้างได้โดยไม่ต้องขออนุญาตแต่อย่างใดเหตุล่าช้าจะเป็นจริงหรือไม่ ก็ไม่อาจถือเป็นเหตุถึงขนาดว่าคำสั่งหรือคำวินิจฉัยนั้นตกเป็นไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ฎีกาว่าอาคารที่ก่อสร้างมีความมั่นคงแข็งแรง มิได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ จึงไม่มีเหตุที่จะรับฟังข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า คำสั่งของจำเลยที่ 2 ที่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ตามหนังสือ กท.9001/2729 ลงวันที่ 20(ที่ถูก 21) มีนาคม 2528 เฉพาะให้โจทก์รื้อถอนอาคารที่ปลูกสร้างสูงจากชั้นที่ 5 ถึงชั้นที่ 11 เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ที่ 2อนุญาตให้โจทก์ทั้งสามสร้างอาคารที่เสนอไว้ตามแบบแปลนจากชั้นที่ 5ถึงชั้นที่ 11 ได้ กับให้พิพากษาว่าคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3ถึงที่ 11 ในส่วนที่ยกอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ได้สั่งไว้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2528
จำเลยทั้งสิบเอ็ดให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2ไม่ได้เป็นผู้ที่ยื่นคำร้องขออนุญาตปลูกสร้างอาคารหรือขออนุญาตแก้ไขดัดแปลงทั้งไม่ได้เป็นผู้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ 2โจทก์ที่ 1 ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 2 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ให้เป็นผู้มีอำนาจในการอนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงรื้อถอนอาคารเฉพาะอาคารไม่เกิน 4 ชั้น ตลอดจนมีอำนาจสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบแปลน ระงับการก่อสร้าง ดัดแปลงอาคาร รื้อถอนอาคารโจทก์ที่ 3 เคยมายื่นคำขออนุญาตปลูกสร้างอาคาร 4 ชั้น ดาดฟ้าเพื่อใช้เป็นอาคารพาณิชย์และสำนักงานพร้อมเสนอแบบแปลนซึ่งมีชั้นล่างใช้เป็นที่จอดรถ 106 คัน จำเลยที่ 2 พิจารณาอนุญาตไปแล้ว ต่อมาโจทก์ที่ 3 ได้ยื่นคำขออนุญาตแก้ไขดัดแปลงต่อเติมอาคารจาก 4 ชั้นเป็น 7 ชั้น ปรากฏว่าแบบแปลนดังกล่าวไม่ถูกต้อง จึงมีคำสั่งให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขแบบอาคารและเตือนไปหลายครั้ง แต่โจทก์ที่ 3ก็เพิกเฉย จำเลยที่ 1 จึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ที่ 3 แก้ไขดัดแปลงอาคารตามที่ขอ ต่อมาจำเลยที่ 1 ที่ 2 ตรวจพบว่าโจทก์ที่ 3ก่อสร้างไม่ถูกต้องตามแบบหลายรายการ จึงมีคำสั่งให้โจทก์ที่ 3ระงับการก่อสร้างและเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ถูกต้องตามแบบ ทั้งแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่โจทก์ที่ 3 ต่อมาโจทก์ที่ 3 ได้ยื่นคำขออนุญาตแก้ไขดัดแปลงอาคารต่อจำเลยที่ 1 อีก โดยขอต่อเติมจาก4 ชั้นเป็น 11 ชั้น จำเลยที่ 1 เห็นว่าแบบแปลนดังกล่าวบกพร่องและขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครหลายประการจึงแจ้งให้จัดการแก้ไขแต่โจทก์ที่ 3 เพิกเฉย จำเลยที่ 1 จึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้แก้ไขแบบก่อสร้างและต่อเติมอาคาร และแจ้งให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการดำเนินการตามกฎหมาย ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้ดำเนินคดีอาญากับโจทก์ที่ 3และศาลอาญาได้พิพากษาลงโทษโจทก์ที่ 3 ไปแล้ว ต่อมาโจทก์ที่ 3ได้อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของจำเลยที่ 2 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ คำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ส่วนการกระทำของโจทก์ที่ 3 ไม่ถูกต้องขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาให้โจทก์ทั้งสามรื้อถอนอาคารตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ 2เฉพาะส่วนของอาคารด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นบันไดคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดกว้าง 8.40 เมตร ที่ผิดไปจากแบบออกเสียเพื่อเปิดเป็นทางเข้าออกรถยนต์และใช้เป็นที่จอดรถยนต์ ตามแบบที่ได้รับอนุญาตต่อไป ทั้งให้โจทก์ทั้งสามรื้อถอนอาคารซึ่งต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาตตั้งแต่ดาดฟ้าของอาคารชั้นที่ 4 ถึงชั้นที่ 11 รวม 7 ชั้น ออกเสียให้เรียบร้อย หากโจทก์ทั้งสามหรือผู้ครอบครองอาคาร ผู้ดำเนินการผู้ควบคุมงานหรือบริวารของโจทก์ทั้งสามไม่ยอมรื้อถอนอาคารให้เป็นที่เรียบร้อย ก็ขอให้ศาลสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลเป็นผู้รื้อถอนอาคารดังกล่าวโดยโจทก์ทั้งสามเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น
โจทก์ทั้งสามให้การแก้ฟ้องแย้งทำนองเดียวกับข้อความตามที่ปรากฏในคำฟ้อง และขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามและยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสิบเอ็ด
โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสิบเอ็ดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ทั้งสามรื้อถอนอาคารซึ่งต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาตตั้งแต่ดาดฟ้าของอาคารชั้นที่ 4ถึงชั้นที่ 11 ออกให้เรียบร้อย หากโจทก์ไม่รื้อถอน ให้จำเลยที่ 1เป็นผู้รื้อถอนแทนโดยให้โจทก์ทั้งสามเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่โจทก์ฎีกาว่าคำสั่งของจำเลยที่ 2 ที่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 เรื่องให้โจทก์รื้อถอนอาคารที่สร้างโดยไม่รับอนุญาตตั้งแต่ชั้นที่ 5ถึงชั้นที่ 11 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยโจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 2 มิได้พิจารณาและออกหนังสืออนุญาตให้โจทก์ที่ 3 แก้ไขแบบแปลนและต่อเติมอาคารจาก 4 ชั้นเป็น 11 ชั้นภายในกำหนดระยะเวลา 30 วัน และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ เห็นว่าแม้บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่โจทก์อ้างมีกำหนดระยะเวลาไว้ก็ตามแต่ก็หาได้มีบทบัญญัติใด ๆ ที่มีผลเป็นการกำหนดให้คำสั่งหรือคำวินิจฉัยที่ล่าช้าตกเป็นเสียเปล่าหรือก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะก่อสร้างได้โดยไม่ต้องขออนุญาตแต่อย่างใดไม่ ดังนี้เหตุล่าช้าที่โจทก์อ้างไม่ว่าจะเป็นจริงหรือไม่ ก็ไม่อาจถือเป็นเหตุอันถึงขนาดว่าคำสั่งและคำวินิจฉัยตกเป็นไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่อาจอาศัยอ้างเป็นเหตุฟ้องเพิกถอนได้ ฎีกาโจทก์ในปัญหานี้จึงไม่มีประโยชน์ต่อรูปคดีของโจทก์ และฟังไม่ขึ้น
ส่วนฎีกาโจทก์ข้ออื่นที่ยกเหตุผลต่าง ๆ ที่โจทก์ได้ลงทุนก่อสร้างอาคารพิพาทไปก่อนโดยยังไม่มีหนังสืออนุญาตให้โจทก์ที่ 3แก้ไขแบบแปลนและต่อเติมอาคารนั้น เป็นการกระทำของโจทก์ที่เกิดจากการคาดการณ์และสมัครใจที่จะเสี่ยงภัยเอง ทั้งข้อเท็จจริงยังปรากฏชัดว่าสำหรับอาคารชั้นที่ 5 ถึงชั้นที่ 11 โจทก์ทำการก่อสร้างจนแล้วเสร็จไปทั้งที่ยังไม่ได้รับอนุญาต มีพื้นที่จอดรถยนต์เพียงชั้นที่ 9 และชั้นที่ 10 เพียง 2 ชั้น ซึ่งจอดรถยนต์ได้เพียงประมาณ200 คันเท่านั้น และยังไม่มีส่วนเปิดโล่งอย่างน้อยสองด้าน ผนังอาคารห่างจากเขตที่ดินของผู้อื่นหรืออาคารอื่นน้อยกว่า 3.00 เมตรที่ว่างโดยรอบอาคารอันปราศจากหลังคาหรือสิ่งใดปกคลุมกว้างไม่ถึง3.00 เมตร เป็นการขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง อาคารที่จอดรถยนต์ พ.ศ. 2521 ข้อ 7, 9, 10, 11 และกฎกระทรวงฉบับที่ 7(พ.ศ. 2517) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคารพุทธศักราช 2479 ข้อ 1(3) เป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ดังที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้ว ซึ่งฎีกาโจทก์ยกเหตุโต้แย้งว่าอาคารที่ก่อสร้างมีความมั่นคงแข็งแรงเป็นหลักหาได้โต้แย้งข้อเท็จจริงว่ามิได้เป็นดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ จึงไม่มีเหตุที่จะรับฟังข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์
พิพากษายืน

Share