คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 576/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่คณะกรรมการพิจารณากักคุมตัวจัดกิจการ หรือทรัพย์สินของบุคคลที่เป็นสตรูต่อสหประชาชาติเข้าดำเนินการยึดหรือจำหน่ายทรัพย์สินในห้างบางกอกดิสเพนซารี่อันเป็นของห้าง บี.กริมแอนด์โก นั้น จึงเป็นการเข้าควบคุมจัดกิจการหรือทรัพย์สินของบุคคลที่เป็นสัตรูต่อสหประชาชาติแล้ว
ความในมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาควบคุมจัดกิจการหรือทรัพย์สินของบุคคลที่เป็นสัตรูต่อสหประชาชาติ เป็นเรื่องควบคุมจัดกิจการและทรัพย์สินตามอำนาจในพระราชบัญญัติ ซึ่งจะต้องกระทำเป็นการเริ่มต้น ด้วยการเข้าดำเนินกิจการ และเข้าครอบครองทรัพย์สินแทนสัตรูต่อสหประชาชาติ คณะกรรมการจะต้องจัดการและรับผิด เสมือนเป็นกิจการของตนเอง.

ย่อยาว

ความว่า เดิมห้างหุ้นส่วนสามัญ บี.กริม แอนด์โก ซึ่งดำเนินกิจการเพื่อชนชาติเยอรมัน ได้เช่าตึกของ ม.จ.ทิพยรัตนประภา ใช้เป็นที่ทำการค้าของห้างบางกอกดิสเพนซารี่ ซึ่งห้าง บี.กริม เป็นเจ้าของ ต่อมาบริษัทโจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิตึกรายนี้จาก ม.จ.ทิพยรัตนฯ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๘๘ จำเลยได้เข้ายึดทรัพย์สินของบุคคลที่เป็นสัตรูต่อสหประชาชาติ ซึ่งมีอยู่ในตึกรายนี้ชั้นล่าง โดยปิดประตูตีตรา เพื่อรักษาทรัพย์สินภายในไว้เฉย ๆ มิได้ดำเนินกิจการค้าอย่างใดต่อไป จำเลยส่งมอบตึกรายนี้คืนให้โจทก์ เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๐ ปรากฎว่า กระจกด้านหน้าของตึกชั้นล่างแตก ๒ บาน ราคาอย่างต่ำ บานละ ๔๐๐๐ บาท จำเลยให้การปฏิเสธความรับผิด ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเช่าตึกให้โจทก์ แต่ให้ยกคำขอที่เรียกราคากระจกเสีย ศาลอุทธรณ์แก้ให้จำเลยใช้ค่ากระจก ๘๐๐๐ บาทให้แก่โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการกักคุมตัว และควบคุมจัดกิจการหรือทรัพย์สินของบุคคลที่เป็นสัตรูต่อสหประชาชาติ ๒๔๘๘ มาตรา ๓ ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีประกาศระบุรายชื่อ หรือประเภทของบุคคลที่เป็นสัตรูต่อสหประชาชาติกักคุมตัว และควบคุมจัดกิจการ หรือทรัพย์สินได้ และในวรรค ๒ ของมาตรานั้นยังได้บัญญัติว่า บุคคลผู้เป็นสัตรูต่อสหประชาชาตินั้นให้หมายความถึงนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทยหรือองค์การรูปอื่นใด แม้มิได้เป็นนิติบุคคลที่กระทำการเพื่อประโยชน์แก่บุคคลเป็นสัตรูต่อสหประชาชาติหรือบุคคลเหล่านี้มีประโยชน์อยู่ด้วย ฉะนั้นการที่จำเลยเข้าดำเนินการยึดหรือจำหน่ายทรัพย์สินของห้างบางกอกดิสเพนซารี่ อันเป็นของห้าง บี.กริม แอนด์โก จึงต้องเป็นการเข้าควบคุมจัดการหรือทรัพย์สินของบุคคลผู้เป็นสัตรูต่อสหประชาชาติแล้ว ทีจำเลยเถียงว่า ห้าง บี.กริม แอนด์โกเป็นนิติบุคคล มีสัญชาติเป็นไทย หรือผู้ลงนามในสัญญาเช่าเป็นชาติสวิสนั้นฟังไม่ได้ ส่วนข้อที่ว่าจำเลยเถียงว่า ตามพระราชกฤษฎีกาควบคุมจัดกิจการ หรือทรัพย์สินของบุคคลที่เป็นสัตรูต่อสหประชาชาตินั้นอาจทำได้ถึง ๔ ประการ แต่สำหรับกรณีนี้จำเลยเลือกทำแต่ประการที่ ๒ คือตามมาตรา ๓ (๒) เท่านั้น จำเลยจึงไม่ได้เป็นผู้รับโอนกิจการหรือทรัพย์สินมาจัดการเสมือนเป็นของจำเลยเองตามมาตรา ๓ (๑) นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ความตามมาตรา ๓ แห่งพระราชกฤษฎีกานั้น อาศัยอำนาจมาตรา ๓ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการนี้ ซึ่งในตัว พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทำแก่บุคคลผู้เป็นสัตรูต่อสหประชาชาติไว้เป็น ๒ ประการ คือกักคุมตัวอย่างหนึ่ง และควบคุมจัดกิจการ หรือทรัพย์สินอีกอย่างหนึ่ง และในมาตรา ๗ แห่ง พ.ร.บ.นั้น จึงให้อำนาจในการควบคุมจัดกิจการตามวิธีการและหลักเกณฑ์ ซึ่งกำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ฉะนั้นความในมาตรา ๓ แห่งพระราชกฤษฎีกานั้น จึงเป็นเรื่องควบคุมจัดกิจการและทรัพย์สินตามอำนาจใน พ.ร.บ.นั้นเอง ฉะนั้นอำนาจของคณกรรมการในเรื่องนี้จะต้องกระทำเป็นการเริ่มต้นด้วยการเข้าดำเนินกิจการ และเข้าครอบครองทรัพย์สินแทนสัตรูต่อสหประชาชาติตามมาตรา ๓ (๑) แห่งพระราชกฤษฎีกานั้นเสมอไป ส่วนการกระทำตามอนุมาตรา ๒,๓,๔ นั้น เป็นรายละเอียดในการเข้าควบคุมจัดกิจการต่อไป อีกทีหนึ่ง เมื่อเป็นดังนี้ การที่จำเลยเข้ายึดทรัพย์สินของห้าง บี.กริม จึงเป็นการเข้ากระทำการควบคุมจัดกิจการของห้าง บี.กริม แทนสัตรูต่อสหประชาชาติ ซึ่งจำเลยจะต้องจัดการและรับผิดเสมือนเป็นกิจการของจำเลยเอง จำเลยต้องรับผิดตามเนื้อความแห่งสัญญาเช่ารายพิพาทนี้
พิพากษายืน

Share