แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คำขอพิจารณาใหม่ ป.วิ.พ. มาตรา 208 วรรคสอง บัญญัติไว้ให้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งเหตุที่ได้ขาดนัด และข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาล ความหมายก็คือ ต้องกล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งทั้งสองประการ คือ ทั้งเหตุที่ขาดนัด และข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลด้วย แต่คำขอพิจารณาใหม่ของจำเลยทั้งสองในข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลนั้น กล่าวไว้มีใจความสำคัญเพียงว่ารูปคดีของจำเลยทั้งสองมีโอกาสชนะคดีโจทก์ได้ และจำเลยทั้งสองได้เตรียมพยานไว้พร้อมแล้ว จึงถือไม่ได้ว่า คำขอได้คัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลโดยละเอียดจึงเป็นคำขอพิจารณาใหม่ที่ไม่ชอบ ปัญหาเช่นว่านี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน.
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากจำเลยทั้งสองขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียว แล้วเลื่อนไปนัดฟังคำพิพากษาก่อนถึงวันนัดฟังคำพิพากษา จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่อ้างว่าไม่ได้จงใจขาดนัด ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้อง ครั้งถึงวันนัดฟังคำพิพากษา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี หรือชั่งละ 1 บาทต่อเดือนนับแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2527 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องให้ไม่เกิน 187,500 บาทหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้จำเลยที่ 2 ชำระจนครบส่วนคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ววินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองขาดนัดโดยจงใจ ไม่มีเหตุที่จะพิจารณาคดีใหม่ให้ยกคำร้อง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่ามิได้จงใจขาดนัด
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คำขอพิจารณาใหม่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 วรรคสอง บัญญัติไว้ให้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งเหตุที่ได้ขาดนัด และข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลความหมายก็คือ ต้องกล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งทั้ง 2 ประการ คือทั้งเหตุที่ขาดนัดและทั้งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลด้วยแต่คำขอพิจารณาใหม่ของจำเลยทั้งสองในข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลนั้น กล่าวไว้มีใจความเป็นสำคัญเพียงว่า รูปคดีของจำเลยทั้งสองมีโอกาสชนะคดีโจทก์ได้ และจำเลยทั้งสองได้เตรียมพยานไว้พร้อมแล้วทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารเท่านั้น ดังนี้ ถือไม่ได้ว่าคำขอได้คัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลโดยละเอียดชัดแจ้งดังได้บัญญัติไว้ตามบทมาตราดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นคำขอพิจารณาใหม่ที่ไม่ชอบ ปัญหาเช่นว่านี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้”
พิพากษายืน.