คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5751/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การรถไฟแห่งประเทศไทย จำเลยที่ 9 ไม่สามารถส่งโจทก์ทั้งสองและผู้โดยสารอื่นต่อไปได้เพราะมีรถไฟตกรางอยู่ข้างหน้าจำเลยที่ 9 ย่อมมีหน้าที่จัดหายานพาหนะอื่นขนส่งโจทก์ทั้งสองและผู้โดยสารอื่นไปให้ถึงจุดหมายปลายทางอันเป็นการรับขนส่งผู้โดยสารตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 608,609 และพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทยฯ มาตรา 9(7)การขนถ่ายผู้โดยสารของจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 จากขบวนรถไฟของจำเลยที่ 9 ที่ปรากฏแก่โจทก์ทั้งสองและบุคคลภายนอกซึ่งไปมาระหว่างสถานีรถไฟ ล. กับสถานีรถไฟ ค. จึงเป็นการทำแทนจำเลยที่ 9นิติสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 9 กับจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 จึงอยู่ในฐานะตัวการและตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 797
ความเสียหายที่มิใช่ตัวเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 446 หมายความว่า ความเสียหายอันไม่อาจคำนวณเป็นเงินได้แต่ความเสียหายเช่นว่านี้ต้องเป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำละเมิดจำเป็นต้องเยียวยาหรือทดแทนความเสียหายให้เช่นเดียวกัน ซึ่งอาจมีความเสียหายมากยิ่งกว่าความเสียหายต่อร่างกายอีกด้วย ความเสียหายที่มิใช่ตัวเงิน เช่น ความเจ็บปวดทนทุกขเวทนาระหว่างการรักษาพยาบาลหรือต้องทุพพลภาพพิการต่อไป ความเสียหายเช่นว่านี้กฎหมายให้ศาลมีอำนาจกำหนดให้ตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด เพราะค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่มิใช่ตัวเงินย่อมจะนำสืบคิดเป็นจำนวนเงินเท่าใดไม่ได้อยู่ในตัว เมื่อพิจารณาจากลักษณะบาดแผลกับวิธีการรักษาบาดแผลของโจทก์ที่ 1 ซึ่งต้องผ่าตัดและเข้าเฝือกหลายครั้ง ต้องรับการรักษาเป็นเวลานานร่วม 3 ปี ต้องทนทุกข์ทรมานต่อความเจ็บปวดของบาดแผลในระหว่างการรักษาอันเป็นเวลานานยิ่งกว่านั้นสภาพแขนซ้ายของโจทก์ที่ 1 ต้องทุพพลภาพตลอดชีวิตทั้งเสียบุคลิกภาพเนื่องจากผลของการผ่าตัดทำให้แขนซ้ายสั้นกว่าแขนขวา ถือว่าเป็นความเสียหายอันมิใช่ตัวเงินที่โจทก์ที่ 1ชอบจะเรียกร้องได้
โจทก์ที่ 2 ต้องออกจากงานมาดูแลโจทก์ที่ 1 โดยตลอด ซึ่งก็ต้องขวนขวายหาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโจทก์ที่ 1 รวมทั้งการดำรงชีพของโจทก์ที่ 1 ตลอดมาในระหว่างดำเนินคดีจนถึงที่สุดเป็นเวลานานกว่า 10 ปี นอกจากนี้ในคดีละเมิด โจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้นับแต่วันละเมิดเป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 206 แต่โจทก์ที่ 1 ก็มิได้เรียกร้องดอกเบี้ยก่อนฟ้องมาด้วย การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 9 เสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของค่าเสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(6) นั้นชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งเก้าร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ทั้งสอง

จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 6 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 8 และที่ 9 ให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 9 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 83,333.33 บาท แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 50,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2ให้จำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 9 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 83,333.33 บาทแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 50,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 ให้จำเลยที่ 6 ที่ 7 ที่ 8และที่ 9 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 83,333.33 บาท แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน50,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (25 ธันวาคม 2533) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง

จำเลยที่ 8 และที่ 9 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 9ร่วมกันชำระเงิน 31,500 บาท แก่โจทก์ที่ 2 ให้จำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 9ร่วมกันชำระเงิน 31,500 บาท แก่โจทก์ที่ 2 และให้จำเลยที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 และที่ 9 ร่วมกันชำระเงิน 31,500 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 9ร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ทั้งสองเฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยที่ 9 ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดีในศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 9 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2532 โจทก์ทั้งสองโดยสารรถไฟของจำเลยที่ 9 ขบวนรถไฟที่ 91 สายกรุงเทพ – เด่นชัยขณะรถไฟถึงสถานีรถไฟลพบุรีมีรถไฟตกรางอยู่ข้างหน้ารถไฟไม่สามารถแล่นต่อไปได้ จำเลยที่ 9 จึงจัดโดยสารรับขนส่งโจทก์ทั้งสองและผู้โดยสารอื่นจากสถานีรถไฟลพบุรีไปส่งยังสถานีรถไฟโคกกระเทียม ในการนี้จำเลยที่ 9มอบหมายให้จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 เป็นผู้รับขนส่งและดำเนินการแทนในระหว่างรับขนส่งผู้โดยสารไปยังสถานีรถไฟโคกกระเทียม รถโดยสารดังกล่าวเกิดชนกัน เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 9 ตามลำดับดังนี้ จำเลยที่ 9 ฎีกาข้อกฎหมายในประการแรกว่า จำเลยที่ 9 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มีวัตถุประสงค์ในการขนส่งผู้โดยสารทางรถไฟ ส่วนจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 มีวัตถุประสงค์ในการรับขนส่งผู้โดยสารโดยทางรถยนต์ ซึ่งแตกต่างกับวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 9ที่รับขนส่งผู้โดยสารทางรถไฟเท่านั้น และจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 9 การที่จำเลยที่ 9 ว่าจ้างจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 ก็มีเจตนาเพื่อให้นำผู้โดยสารไปส่งตามจุดหมายปลายทางตามว่าจ้างคือจากสถานีรถไฟลพบุรีไปยังสถานีรถไฟโคกกระเทียมดังนั้น การที่ผู้ประกอบการขนส่งโดยทางรถยนต์คือจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8รับทำให้ จึงต้องถือว่าเป็นผู้รับจ้างทำการงานให้แก่จำเลยที่ 9 เท่านั้น จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 ไม่มีฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 9 ในการรับจ้างขนส่งผู้โดยสารดังกล่าวไปยังสถานีรถไฟโคกกระเทียม เห็นว่า แม้ว่าจำเลยที่ 9จะมีวัตถุประสงค์ในการรับขนส่งผู้โดยสารโดยทางรถไฟ แต่ก็มีหน้าที่ขนส่งผู้โดยสารเพื่อให้ไปถึงจุดหมายปลายทางตามที่ตกลงไว้กับผู้โดยสาร ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 9 ไม่สามารถส่งโจทก์ทั้งสองและผู้โดยสารอื่นต่อไปได้เพราะมีรถไฟตกรางอยู่ข้างหน้าจำเลยที่ 9 ย่อมมีหน้าที่จัดหายานพาหนะอื่นขนส่งโจทก์ทั้งสองและผู้โดยสารอื่นไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง อันเป็นการรับขนส่งผู้โดยสาร ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 608, 609 และพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2494 มาตรา 9(7) จำเลยที่ 9 ย่อมว่าจ้างจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการรับขนส่งผู้โดยสารโดยทางรถยนต์เพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติของจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 อยู่แล้ว รับขนส่งโจทก์ทั้งสองและผู้โดยสารอื่นไปส่งยังสถานีรถไฟโคกกระเทียมได้ เรื่องนี้นายเจฏ สิงห์รัตน์ พยานโจทก์ที่ 1 ซึ่งเคยเป็นนายสถานีรถไฟลพบุรีเมื่อปี 2531 ถึงปี 2534 เบิกความว่า ในฐานะนายสถานีรถไฟได้ว่าจ้างจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 ซึ่งโดยปกติแล้วรถโดยสารของจำเลยที่ 3 ที่ 5และที่ 8 นั้นรับผู้โดยสารโดยทั่วไปอยู่แล้ว ทั้งนี้โดยให้ขนถ่ายผู้โดยสารจากสถานีรถไฟลพบุรีไปสถานีรถไฟโคกกระเทียม และจากสถานีรถไฟโคกกระเทียมไปยังสถานีรถไฟลพบุรีรวม 80 เที่ยว เที่ยวละ 200 บาทตามรายการเอกสารหมาย จ.29 แผ่นที่ 2 เนื่องจากรถไฟขบวนที่โจทก์ทั้งสองโดยสารมาไม่สามารถแล่นต่อไปได้เพราะมีรถไฟตกรางขวางอยู่ดังนี้ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า การรับขนส่งโจทก์ทั้งสองและผู้โดยสารอื่นของจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 นั้น เป็นการทำแทนจำเลยที่ 9 โดยได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 9 โดยสัญญาว่าจ้างตามวัตถุประสงค์และประโยชน์ของจำเลยที่ 9 ในการที่จะให้โจทก์ทั้งสองและผู้โดยสารอื่นไปถึงจุดหมายปลายทางตามที่จำเลยที่ 9 ตกลงไว้กับผู้โดยสารทุกคนอันเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 9 ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังที่วินิจฉัยมาแล้ว การดำเนินการว่าจ้างจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 ดังกล่าว แม้ว่าเป็นการรับจ้างทำการงานให้แก่กัน โดยหวังผลสำเร็จของงานดังที่จำเลยที่ 9 ฎีกาก็ตาม แต่ก็ไม่มีข้อยกเว้นว่าลักษณะนิติสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 9 กับจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 เช่นนี้ จะมีความสัมพันธ์กันในฐานะตัวการและตัวแทนไม่ได้ ประกอบกับวิธีการขนถ่ายผู้โดยสารของจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 จากขบวนรถไฟของจำเลยที่ 9 ที่ปรากฏแก่โจทก์ทั้งสองและบุคคลภายนอกซึ่งไปมาระหว่างสถานีรถไฟลพบุรีกับสถานีรถไฟโคกกระเทียมเช่นนี้แล้ว ยังไม่มีทางเห็นเป็นอย่างอื่นไปได้ว่าจำเลยที่ 3ที่ 5 และที่ 8 มิใช่ตัวแทนของจำเลยที่ 9 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 797

ที่จำเลยที่ 9 ฎีกาต่อไปว่า ผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ 1มิใช่จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 หากแต่เป็นจำเลยที่ 1 และที่ 4 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 7 โดยมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 ดังนั้น จำเลยที่ 9 ในฐานะผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 ทำการงาน จึงไม่มีหน้าที่ต้องร่วมรับผิดในผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 6 กรณีไม่อาจนำหลักกฎหมายว่าด้วยตัวการแทนมาใช้บังคับได้ เพราะการจ้างทำของมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วว่าผู้ว่าจ้างจะต้องรับผิดหากเกิดจากความประมาทเลินเล่อในการว่าจ้างผู้ที่ไม่มีความสามารถทำการงานให้แล้ว คาดเห็นได้ว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เห็นว่า กรณีของจำเลยที่ 9 นั้น สืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 6 เป็นผู้กระทำละเมิด เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 4เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 6 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 7 ดังนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 7 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 6 ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 และจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 ได้ให้จำเลยที่ 2 และที่ 7 นำรถโดยสารเข้าร่วมกิจการด้วย จำเลยที่ 3ที่ 5 และที่ 8 จึงมีฐานะเป็นผู้ประกอบกิจการร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 7ย่อมต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 เช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 และที่ 7 ซึ่งต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 6 ได้กระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 7 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 425 ดังที่วินิจฉัยมาแล้ว และเมื่อจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 9 แม้ว่าจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 มิได้เป็นผู้กระทำละเมิดโดยตรง แต่โดยผลแห่งกฎหมายย่อมต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1ที่ 4 และที่ 6 เป็นผู้กระทำโดยตรงจากการรับขนส่งผู้โดยสารของจำเลยที่ 9ดังนั้น ย่อมนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 มาใช้บังคับให้จำเลยที่ 9 ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ได้ หาใช่ไม่ต้องรับผิดดังที่จำเลยที่ 9ฎีกาไม่

ที่จำเลยที่ 9 ฎีกาเรื่องการกำหนดค่าเสียหายเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ที่ 1 นั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด” ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาตามรายงานแพทย์เอกสารหมาย จ.2, จ.7, จ.8 และ จ.9 ประกอบภาพถ่ายหมาย จ.20/1, จ.21/1 และ จ.25 ในเรื่องการรักษาพยาบาลโจทก์ที่ 1แล้ววินิจฉัยว่า ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่ารักษาพยาบาลให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน200,000 บาท เป็นการสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว จึงเป็นการวินิจฉัยโดยบทบัญญัติดังกล่าว และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 444 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยนั้น ผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้ชดใช้ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน ทั้งในเวลาปัจจุบันนั้นและในเวลาอนาคตด้วย” ซึ่งทางนำสืบของโจทก์ที่ 1 ได้ความว่า โจทก์ที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัสเพราะเหตุการขับรถโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 6 กล่าวคือ ปรากฏว่าบริเวณต้นแขนซ้ายระหว่างหัวไหล่ถึงข้อศอก กระดูกหัก บางส่วนของกระดูกหายไปและกล้ามเนื้อฉีกหายไปประมาณ 20 เซนติเมตร ขณะที่โจทก์ที่ 1 ไปรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลเลิดสิน แพทย์ทำการผ่าตัดเนื้อบริเวณแขนที่เริ่มเน่าและกระดูกที่ใช้การไม่ได้ออก แล้วผ่าตัดเอากระดูกบริเวณน่องไปใส่ที่แขนและนำเนื้อบริเวณขามาปิดแผลต้องอยู่โรงพยาบาลถึง 8 เดือนโดยนอนอยู่บนเตียงถึง 5 เดือน เมื่อออกจากโรงพยาบาลแล้ว โจทก์ที่ 1ยังต้องไปรับการฉายรังสีประมาณเดือนละครั้ง แต่พบว่ากระดูกที่นำมาใส่แทนไม่สามารถเชื่อมต่อกับกระดูกเดิมได้ จึงต้องผ่าตัดเอากระดูกที่ได้รับจากโรงพยาบาลศิริราชมาใส่แทน และต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลประมาณ 3 เดือน หลังจากนั้นต้องไปเปลี่ยนเฝือกที่โรงพยาบาลเป็นระยะจนกระดูกที่ใส่ใหม่เชื่อมต่อกับกระดูกเดิม จึงเข้าเฝือกเฉพาะบริเวณแขนซ้ายโดยก่อนหน้านี้ต้องเข้าเฝือกไว้ทั้งตัว จนถึงเดือนเมษายน 2535 จึงแกะเฝือกที่แขนซ้ายออก นับว่าโจทก์ที่ 1 ต้องเข้ารับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาลนานถึง2 ปีเศษ ในระหว่างการรักษาพยาบาลได้รับความทุกข์ทรมานจากบาดแผลต้องผ่าตัดหลายครั้ง แม้หลักฐานที่นำมาแสดงว่าได้ใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลไม่ครบ 200,000 บาท ดังที่จำเลยที่ 9 ฎีกาอ้างว่ามีเพียง 12,000บาท จึงชอบที่จะได้รับค่ารักษาพยาบาลไป 12,000 บาท เท่านั้น มิใช่200,000 บาท ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ เห็นว่า การกำหนดค่าเสียหายในมูลละเมิดนั้นย่อมวินิจฉัยจากพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดเป็นสำคัญ มิใช่พิจารณาเพียงแต่จากค่ารักษาพยาบาลที่ปรากฏตามที่โจทก์ที่ 1 นำสืบเท่านั้น จำเลยที่ 9 คงปฏิเสธไม่ได้ว่าตามทางนำสืบของโจทก์ที่ 1 นั้น โจทก์ที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัสเพียงใดต้องทุกข์ทรมานด้วยอาการทุกขเวทนาที่ต้องรับการผ่าตัดหลายครั้งถูกผ่าตัดเอากระดูกที่บริเวณน่องไปใส่บริเวณแขน เอาเนื้อบริเวณขาไปปิดแผล ขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 อายุเพียง 2 ปีเศษเท่านั้น การที่โจทก์ที่ 1 จะได้รับการชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงินเพียง 200,000 บาทก็ไม่อาจเยียวยาต่อความเสียหายของโจทก์ที่ 1 ที่จะต้องเจริญเติบโตต่อไปภายหน้าได้เท่าที่ควร การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 200,000 บาท โดยโจทก์ที่ 1 ไม่ติดใจอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งนับว่าเป็นคุณแก่จำเลยที่ 9 แล้ว และที่จำเลยที่ 9ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าโจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446 จำเลยที่ 9 เห็นว่า ตามบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดเพียงว่าผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็ได้ ซึ่งหมายความว่า หากโจทก์ที่ 1ได้รับความเสียหายอย่างอื่นที่มิใช่ความเสียหายอันเกิดแก่ร่างกายหรืออนามัย หากแต่เกิดจากการต้องเสื่อมเสียอวัยวะหรือความสามารถในการมีบุตรหรือครอบครัว ซึ่งโจทก์ที่ 1 ก็ไม่นำสืบให้เห็นเช่นนั้น จำเลยที่ 9 จึงไม่ต้องรับผิดในค่าทนทุกขเวทนาจำนวน 50,000 บาท นั้น เห็นว่าการทำละเมิดต่อร่างกาย อนามัย หรือค่าเสียหายที่เป็นตัวเงินนั้น มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 444 และ 445 โดยตรง ส่วนความเสียหายที่มิใช่ตัวเงินนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446 บัญญัติไว้ชัดแจ้งเป็นพิเศษต่างหากว่า ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็ได้ คำว่า ความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน จึงหมายความว่า ความเสียหายอันไม่อาจคิดคำนวณเป็นเงินได้ แต่ความเสียหายเช่นว่านี้ต้องเป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำละเมิด จำเป็นต้องเยียวยาหรือทดแทนความเสียหายให้เช่นเดียวกันซึ่งอาจมีความเสียหายมากยิ่งกว่าความเสียหายต่อร่างกายอีกด้วยความเสียหายที่มิใช่ตัวเงิน เช่น ความเจ็บปวดทนทุกขเวทนาระหว่างการรักษาพยาบาลหรือต้องทุพพลภาพพิการต่อไป ความเสียหายเช่นว่านี้กฎหมายให้ศาลมีอำนาจกำหนดให้ตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดเพราะค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่มิใช่ตัวเงินย่อมจะนำสืบว่าคิดเป็นจำนวนเงินเท่าใดไม่ได้อยู่ในตัว แต่อย่างไรก็ดีโจทก์ที่ 1 ก็ได้นำสืบให้เห็นลักษณะสภาพทางร่างกายและอาการของโจทก์ที่ 1 ที่ได้รับอันตรายสาหัส หลังจากเข้ารักษาที่โรงพยาบาลลพบุรีและโรงพยาบาลรถไฟแล้วส่งต่อไปยังโรงพยาบาลเลิดสิน โดยนายแพทย์เกียรติ วิฑูรชาติ แพทย์ประจำโรงพยาบาลเลิดสินผู้ตรวจรักษาโจทก์ที่ 1เบิกความว่า ขณะโจทก์ที่ 1 เข้ารักษาที่โรงพยาบาลเลิดสิน โจทก์ที่ 1ได้รับบาดเจ็บบริเวณแขนซ้ายด้านหลังมีบาดแผล โดยกล้ามเนื้อด้านหลังฉีกหายไปประมาณ 20 เซนติเมตร สามารถมองเห็นกระดูกของแขนและกระดูกแขนหักด้วย และแขนที่แผลด้านหลังติดเชื้อมีหนองผลของบาดแผลทำให้เส้นประสาทบริเวณแขนขาด ทำให้มือด้านซ้ายงอไม่ขึ้นและไม่สามารถเหยียดนิ้วมือได้ ทั้งยังมีร่องรอยบาดแผลที่ผิวหนังถลอกตามเนื้อตัวร่างกาย ในการรักษาจะต้องตัดเอากระดูกที่หักใช้การไม่ได้เนื่องจากบาดแผลมีกระดูกผุและกระดูกตายออก แล้วนำเหล็กที่ไม่เป็นสนิมมาวางขวางกันไว้ และจะต้องตัดกล้ามเนื้อด้านหลังมาปิดบาดแผลที่มีการเปลี่ยนกระดูกส่วนที่ตายในแขนด้านซ้าย ในส่วนที่เกี่ยวกับการรักษาบาดแผลของโจทก์ที่ 1 นายแพทย์เกียรติเบิกความว่า เมื่อรักษาบาดแผลเสร็จแล้วได้ใส่เฝือกที่แขนซ้ายโจทก์ที่ 1 ไว้ แต่ต้องผ่าเฝือกและนำกระดูกที่ขามาใส่แทนกระดูกส่วนแขนและเข้าเฝือกใหม่อีกครั้งหนึ่งต่อมามีการฝ่าเฝือกและใส่เฝือกใหม่อีกครั้งห่างกันประมาณ 2 ถึง 3 เดือนทั้งนี้โดยโจทก์ที่ 1 ต้องอยู่รับการรักษาที่โรงพยาบาลเลิดสินถึง 6 เดือนและหลังจากนั้นโจทก์ที่ 1 กลับไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลประมาณเดือนละครั้ง และได้สั่งให้มีการรักษาและทำความสะอาดบาดแผลของโจทก์ที่ 1 ที่บ้านด้วย จากการตรวจรักษาและติดตามผลพบว่ากระดูกขาที่นำไปใส่แทนนั้น ไม่สามารถเชื่อมต่อกับกระดูกเดิมได้เนื่องจากเกิดภาวะติดเชื้อ ดังนั้น จึงมีการผ่าตัดโดยเปลี่ยนเอากระดูกจากโรงพยาบาลศิริราชมาใส่แทนอีกครั้งหนึ่งซึ่งเป็นการเปลี่ยนกระดูกใส่เป็นครั้งที่ 3 เมื่อปี 2534โดยโจทก์ที่ 1 ต้องพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเลิดสินอีกประมาณ 3 เดือนจากนั้นให้โจทก์ที่ 1 ไปรักษาตัวที่บ้านโดยให้ทำความสะอาดบาดแผลวันละครั้ง และต้องไปเปลี่ยนเฝือกที่โรงพยาบาลเลิดสินเป็นระยะ ต่อมาเมื่อประมาณเดือนเมษายน 2535 จึงแกะเฝือกที่เข้าไว้ที่แขนซ้ายออกเนื่องจากกระดูกเชื่อมต่อกันพอสมควรแล้ว แต่โดยสภาพทั่วไปของแขนซ้ายไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มที่ จึงต้องให้โจทก์ที่ 1 ไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลเลิดสินเป็นระยะ จนกระทั่งถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2535ซึ่งเป็นวันที่พยานมาเบิกความ นอกจากนี้นายแพทย์เกียรติยังให้ความเห็นเกี่ยวกับสภาพแขนซ้ายของโจทก์ที่ 1 ในการที่จะสามารถใช้งานตามปกติต่อไปในอนาคตว่าบริเวณหัวไหล่ด้านซ้ายของโจทก์ที่ 1 ขยับไม่ได้ ข้อศอกไม่สามารถหักงอได้ ข้อมือไม่สามารถหักงอได้ นิ้วไม่สามารถเหยียดตรงได้และการกำนิ้วมือไม่สามารถกำได้เต็มที่เป็นผลให้แขนซ้ายของโจทก์ที่ 1ไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติเช่นบุคคลทั่วไป ทั้งแขนด้านซ้ายจะสั้นกว่าแขนด้านขวา และการที่ตัดกล้ามเนื้อด้านหลังมาปิดบาดแผลบริเวณแขนซ้ายทำให้ผิวหนังบริเวณกล้ามเนื้อด้านหลังเกิดอาการตึง อาจมีผลในภายภาคหน้าทำให้ไหล่เอียงได้ ดังนี้ เมื่อพิจารณาจากลักษณะบาดแผลของโจทก์ที่ 1 กับวิธีการรักษาบาดแผลของโจทก์ที่ 1 ซึ่งต้องผ่าตัดและเข้าเฝือกหลายครั้ง กับระยะเวลาที่โจทก์ที่ 1 ต้องรับการรักษาเป็นเวลานานร่วม 3 ปี โดยขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 มีอายุเพียง 2 ปีเศษเท่านั้นแต่ต้องทนทุกขทรมานต่อความเจ็บปวดของบาดแผลในระหว่างการรักษาอันเป็นเวลานาน ยิ่งกว่านั้นสภาพแขนซ้ายของโจทก์ที่ 1 ต้องทุพพลภาพตลอดชีวิต ทั้งเสียบุคลิกภาพเนื่องจากผลของการผ่าตัดทำให้แขนซ้ายสั้นกว่าแขนขวา ความเสียหายเหล่านี้ถือว่าเป็นความเสียหายอันมิใช่ตัวเงินที่โจทก์ที่ 1 ชอบจะเรียกร้องได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446 ดังที่วินิจฉัยมาแล้ว การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 50,000บาท เหมาะสมแล้ว

ที่จำเลยที่ 9 ฎีกาข้อสุดท้ายว่า จำเลยที่ 9 ไม่ได้ประวิงคดีจึงไม่เห็นด้วยที่ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 9ต้องรับผิดในดอกเบี้ยมูลละเมิดดังกล่าวในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(6) เห็นว่าการดำเนินคดีของจำเลยที่ 9 ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานของรัฐใช้เวลาในการดำเนินคดีนานเกินจำเป็น ส่วนโจทก์ที่ 1 ขณะฟ้องคดีมีอายุเพียง2 ปีเศษเท่านั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลโจทก์ที่ 2 ต้องออกจากงานมาดูแลโจทก์ที่ 1 โดยตลอด ซึ่งก็ต้องขวนขวายหาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโจทก์ที่ 1 รวมทั้งการดำรงชีพของโจทก์ที่ 1 ตลอดมาในระหว่างดำเนินคดีจนคดีถึงที่สุดเป็นเวลานานกว่า10 ปี นอกจากนี้ในคดีละเมิดโจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้นับแต่วันละเมิดเป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 แต่โจทก์ที่ 1ก็มิได้เรียกร้องดอกเบี้ยก่อนฟ้องมาด้วย การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 9 เสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของค่าเสียหายที่จำเลยที่ 9 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยอื่นแก่โจทก์ที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(6) นั้นชอบแล้ว ฎีกาทุกข้อของจำเลยที่ 9 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share