แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เดิมโจทก์เป็นฝ่ายผิดนัดไม่ไปรับโอนที่ดินพิพาทในวันนัด แต่เมื่อโจทก์จำเลยไม่ถือเอาเวลาตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจะซื้อจะขายเป็นสาระสำคัญจำเลยผู้จะขายซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจึงมีสิทธิบอกกล่าวให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์และชำระราคาที่ค้างโดยกำหนดเวลาตามสมควรได้เมื่อต่อมาโจทก์ไม่มีเงินมาชำระหนี้ตามกำหนดนัด โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จะฟ้องขอให้จำเลยผู้จะขายปฏิบัติตามสัญญาอีกไม่ได้ เพราะการชำระหนี้จะให้สำเร็จผลเป็นอย่างไรลูกหนี้จะต้องขอปฏิบัติชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นอย่างนั้นโดยตรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 208 วรรคแรกทั้งไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาท และเมื่อตามคำฟ้องคำให้การมีประเด็นว่าโจทก์หรือจำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายผิดสัญญา ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเพราะไม่สามารถหาเงินมาชำระค่าที่ดินที่ค้างได้ขอขยายระยะเวลาการชำระเงินอีกหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2532 โจทก์ก็ผิดนัดอีก ดังนี้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกสำนวน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จะซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 2519เนื้อที่ 29 ไร่เศษ จำนวน 1 แปลง จากจำเลยที่ 1 และที่ 2เมื่อกลางเดือนตุลาคม 2531 โจทก์วางเงินมัดจำให้จำเลยที่ 1และที่ 2 จำนวน 10,000 บาท ต่อมาวันที่ 31 ตุลาคม 2531 โจทก์วางเงินมัดจำเพิ่มอีกจำนวน 45,000 บาท และนัดจะจดทะเบียนโอนในวันที่ 31 มีนาคม 2532 หรือจะต้องให้ผู้จะซื้อชำระเงินบางส่วนให้แก่ผู้จะขายเพิ่มขึ้นในวันดังกล่าว เมื่อถึงกำหนดโจทก์ใช้สิทธิชำระหนี้ค่าซื้อที่ดินอีกบางส่วนจำนวน 300,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับไป คู่สัญญานัดชำระหนี้ส่วนที่เหลือพร้อมกับจดทะเบียนโอนในปลายเดือนพฤศจิกายน 2532 โดยตกลงกันว่าโจทก์จะแจ้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปพบที่สำนักงานที่ดิน ต่อมากลางเดือนตุลาคม 2532 โจทก์แจ้งให้ผู้มีชื่อทราบว่าโจทก์จะชำระหนี้ส่วนที่เหลือให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงว่าจะสามารถจดทะเบียนโอนได้เมื่อใด โจทก์กำหนดว่าถ้าจดทะเบียนโอนในวันที่ 25 ตุลาคม 2532 โจทก์ก็สามารถชำระหนี้ได้ครบถ้วน ผู้มีชื่อแจ้งโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทราบแล้วยังประสงค์ที่จะทำการจดทะเบียนโอนในวันนัดถ้าโจทก์สามารถชำระราคาที่ดินเพิ่ม ครั้นวันที่ 25 ตุลาคม 2532โจทก์ไปที่สำนักงานที่ดินเพื่อชำระหนี้ส่วนที่เหลือให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 และรับโอนกรรมสิทธิ์ แต่ไม่พบผู้มีชื่อหรือจำเลยที่ 1 ที่ 2 โจทก์ทราบจากผู้มีชื่อว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ เพราะมีผู้ให้ราคาที่ดินมากขึ้นต่อมาวันที่ 15 พฤศจิกายน 2532 โจทก์ทำหนังสืออายัดที่ดินพิพาทต่อทางราชการจึงทราบว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2532 โดยไม่สุจริตหลังจากนั้นจำเลยที่ 3 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 4 ทำให้โจทก์เสียเปรียบ ต่อมาจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3และที่ 4 ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ 5 โดยจำเลยที่ 5 รู้เรื่องที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ผิดสัญญากับโจทก์แล้ว การกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันไปจดทะเบียนเพิกถอนหรือจดทะเบียนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2519 ให้กลับเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนการโอนมาให้แก่โจทก์ ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี พร้อมทั้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับเงินจำนวน 2,178,688 บาท จากโจทก์หากจำเลยทั้งห้าไม่กระทำให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งห้า และค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าภาษี ค่าธรรมเนียมการโอนให้จำเลยทั้งห้าเป็นผู้เสียทั้งสิ้น หากสภาพหนี้ไม่อาจบังคับได้ขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 2,533,688 บาทและดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งห้าจะได้ชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์จริง โดยตกลงว่าโจทก์จะชำระเงิน 100,000 บาท เป็นค่ามัดจำ หลังจากทำสัญญาแล้วโจทก์มอบเงินจำเลยเพียง 10,000 บาท โดยรับว่ามีเงินไม่พอจะนำมาชำระในวันสิ้นเดือน โจทก์นำเงินมาชำระให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในวันที่31 ตุลาคม 2531 อีกเพียง 45,000 บาท และทำสัญญาซื้อขายฉบับใหม่ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 และ 3 ต่อมาวันที่ 31 มีนาคม 2532ซึ่งเป็นวันนัดโอนที่ดิน โจทก์ต้องจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 อีกจำนวน 2,478,688 บาท โจทก์ไม่สามารถหาเงินมาชำระได้จึงขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขยายเวลาโอนออกไป 7 วัน และยอมจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จำนวน 300,000 บาท ถ้าโจทก์ไม่สามารถหาเงินมาชำระได้ก็ยินยอมให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำที่ดินไปขายบุคคลอื่นได้ทันที เมื่อครบกำหนด 7 วัน โจทก์ไม่สามารถหาเงินมาชำระได้ โจทก์ขอร้องให้จำเลยขยายเวลาชำระเงินอีกหลายครั้ง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผ่อนผันให้เรื่อยมาจนครั้งสุดท้ายวันที่ 30 ตุลาคม 2532 โจทก์นัดให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ไปรอรับเงินพร้อมทั้งโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท แต่โจทก์ผิดนัดโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 3 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2532 เป็นเงิน 2,981,000 บาทค่าเสียหายซึ่งโจทก์กล่าวอ้างไม่เป็นความจริง เพราะจำเลยที่ 1และที่ 2 ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 3 เป็นเงินที่เพิ่มจากราคาที่ขายให้โจทก์เพียง 547,312 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนที่ดินพิพาทโดยสุจริต ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 4 รับโอนที่ดินพิพาทโดยสุจริตเสียค่าตอบแทน หลังจากนั้นได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นคนสั่งให้จำเลยที่ 4 หาที่ดินดังกล่าวขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 5 ซื้อไว้เพราะเห็นว่าราคาพอสมควรและอยู่ในบริเวณที่ต้องการ ได้ทำการโอนกรรมสิทธิ์โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาข้อแรกว่าโจทก์ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา ข้อนี้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบว่าจำเลยที่ 1ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์กำหนดโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่31 มีนาคม 2532 ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1/1 หรือ จ.2 เมื่อถึงกำหนดโจทก์บอกว่ายังไม่พร้อมจะรับโอนที่ดินพิพาท และชำระเงินให้จำเลยที่ 1 จำนวน 300,000 บาท ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.2และตกลงเลื่อนไปโอนที่ดินพิพาทในวันที่ 15 เมษายน 2532 เมื่อถึงกำหนดนัดโจทก์ไม่มีเงินมารับโอนที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยที่ 1เร่งรัด โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้คนอื่นได้จำเลยที่ 1 จึงได้ตกลงขายที่ดินพิพาทให้นายประพันธ์เมื่อโจทก์ทราบโจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 ให้โอกาสโจทก์อีกครั้งเนื่องจากโจทก์มีเงินรับโอนแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ขัดข้องแต่ให้ไปปรึกษานายประพันธ์ เพราะจำเลยที่ 1 รับเงินจากนายประพันธ์มาแล้วนายประพันธ์ตกลง แต่ขอเงินมัดจำคืนและค่าเสียหายอีก 1 เท่ารวมเป็นเงิน 500,000 บาท จำเลยที่ 1 ได้ไปพบโจทก์และบอกให้โจทก์ไปรับโอนที่ดินในวันที่ 30 ตุลาคม 2532 เมื่อถึงวันนัดโจทก์ไม่ไปจำเลยที่ 1 จึงให้เจ้าพนักงานที่ดินบันทึกไว้ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.4 และวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดนัดไม่ไปรับโอนที่ดินพิพาทในวันที่ 30 ตุลาคม 2532 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1และที่ 2 ได้แจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและชำระเงินค่าที่ดิน เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าคู่กรณีไม่ถือเอาเวลาตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเป็นสาระสำคัญ คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจึงมีสิทธิบอกกล่าวให้อีกฝ่ายหนึ่งไปรับโอนกรรมสิทธิ์และชำระราคาที่ค้างโดยกำหนดเวลาตามสมควรได้ เมื่อโจทก์ไม่มีเงินมาชำระหนี้ตามกำหนดนัดจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ต่อมาโจทก์จะฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาอีกไม่ได้ เพราะการชำระหนี้จะให้สำเร็จผลเป็นอย่างไร ลูกหนี้จะต้องขอปฏิบัติชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นอย่างนั้นโดยตรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 208 วรรคแรก ฉะนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายและไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาท ส่วนที่โจทก์ฎีกาอีกว่า การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเป็นการวินิจฉัยนอกท้องสำนวนคำวินิจฉัยจึงมิชอบนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องคำให้การมีประเด็นว่า โจทก์หรือจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นฝ่ายผิดสัญญาซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดนัดผิดสัญญาเพราะไม่สามารถหาเงินมาชำระค่าที่ดินที่ค้าง ได้ขอขยายระยะเวลาการชำระเงินอีกหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2532โจทก์ก็ผิดนัดอีก ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกสำนวน
พิพากษายืน