คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5735/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามรายงานผลการสอบสวนหาผู้รับผิดในทางแพ่งที่เสนอต่อ อธิบดีของโจทก์มีข้อความระบุไว้ชัดว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำละเมิด โจทก์เสียหายเป็นเงิน 181,080 บาท เห็นควรเรียกร้องหรือฟ้องร้องดำเนินคดีทางแพ่งแก่จำเลยที่ 1 และ ส.รองอธิบดีของโจทก์ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีของโจทก์ลงนามไว้ด้านหลังเอกสารนี้ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2530 ถือได้ว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนคือจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ ส. ลงนามไว้ดังกล่าว เมื่อนับถึงวันที่ที่โจทก์ฟ้องคือวันที่ 27 มีนาคม2532 เป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ส่วนที่จำเลยที่ 1 ถูกพนักงานอัยการฟ้องหรือในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้รถของโจทก์เสียหายตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกอันเป็นความผิดเกี่ยวกับรัฐ โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายในคดีอาญาสำหรับข้อหาส่วนนี้ การที่โจทก์นำการกระทำของจำเลยดังกล่าวมาฟ้องว่า จำเลยกระทำละเมิดเป็นคดีนี้ ดังนี้คดีนี้จึงมิใช่เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่จะนำอายุความทางอาญาที่ยาวกว่ามาบังคับได้ ตามรายงานผลการสอบสวนหาผู้รับผิดในทางแพ่งมีข้อความระบุเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 แต่เพียงว่า จำเลยที่ 2นั่งโดยสารมาด้วยในรถที่จำเลยที่ 1 ขับหาได้ระบุว่าจำเลยที่ 2 ครอบครองหรือควบคุมดูแลรถคันดังกล่าวอันจะต้องรับผิดชอบเพื่อความเสียหายนั้นด้วยไม่ การที่ ส.รองอธิบดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดีของโจทก์ลงนามไว้ด้านหลังเอกสารนี้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์รู้ว่าจำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย แต่ต่อมากองนิติการในสังกัดโจทก์ได้รับสำนวนการสอบสวนหาผู้รับผิดในทางแพ่งแล้ว เห็นว่าผู้ที่จะต้องรับผิดคือจำเลยทั้งสอง และได้ทำบันทึกข้อความเสนอความเห็นควรสั่งฟ้องจำเลยทั้งสองต่ออธิบดีของโจทก์ และ ส. ลงนามไว้ท้ายเอกสารดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2531 ถือได้ว่าโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอีกคนหนึ่งคือจำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ ส.ลงนามไว้ดังกล่าว เมื่อนับถึงวันที่โจทก์ฟ้องคือวันที่27 มีนาคม 2532 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2530 จำเลยที่ 1ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 โดยไม่มีใบอนุญาตขับรถยนต์ไปตามทางหลวงด้วยความประมาทเลินเล่อ โดยขับด้วยความเร็วสูงมาก รถเสียการทรงตัวแล่นแฉลบล้ำเส้นแบ่งช่องเดินรถเข้าไปชนรถยนต์ของโจทก์ซึ่งแล่นสวนทางมาเป็นเหตุให้รถของโจทก์ได้รับความเสียหายเสียค่าซ่อมแซมเป็นเงิน 197,200 บาท จำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าของผู้ครอบครองรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับและนั่งไปด้วยต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนคือจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2531 และทวงถามแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน197,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของและผู้ขับรถคันที่ชนกับรถของโจทก์ จำเลยที่ 1 เพียงแต่อาศัยนั่งไปในรถคันดังกล่าวเท่านั้น จำเลยที่ 1 ขับรถไม่เป็นและไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากฟ้องเกิน 1 ปีนับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับชนกับรถของโจทก์ จำเลยที่ 2 มิได้ควบคุมหรือขับรถคันดังกล่าวเหตุที่รถชนกันเนื่องจากความประมาทเลินเล่อของผู้ขับรถของโจทก์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 197,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน9 จ-7732 กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2530 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 2 ค-7053 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 2 ไปตามทางหลวงหมายเลข 32 จากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไปทางจังหวัดอ่างทองด้วยความประมาทเลินเล่อโดยขับรถล้ำเส้นแบ่งช่องเดินรถเข้าไปชนรถของโจทก์ซึ่งแล่นสวนทางมาเป็นเหตุให้รถของโจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 นั่งรถไปกับจำเลยที่ 1และควบคุมดูแลรถคันนี้ด้วย จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องต่อศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นคดีอาญาเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวหลายข้อหารวมทั้งข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่น(รถของโจทก์) เสียหายด้วย ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนซึ่งคดีถึงที่สุดแล้วปรากฏตามสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1758/25320 ของศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กองตำรวจทางหลวงในสังกัดโจทก์ได้ตั้งกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดในทางแพ่ง กรรมการสอบสวนได้สอบสวนแล้วสรุปว่าเหตุรถชนกันดังกล่าวเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 เห็นควรฟ้องคดีแพ่งแก่จำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดต่อโจทก์ และมีการทำบันทึกข้อความเสนอรายงานผลการสอบสวนดังกล่าวต่ออธิบดีของโจทก์ตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย ป.จ.1 ของศาลแพ่งต่อมากองนิติการในสังกัดโจทก์ได้รับรายงานผลการสอบสวนหาผู้รับผิดในทางแพ่งดังกล่าว นายนิคม ขจรศรีเดช ผู้อำนวยการกองนิติการตรวจสอบสำนวนการสอบสวนแล้วเห็นว่าผู้ที่จะต้องรับผิดคือจำเลยทั้งสอง และได้ทำบันทึกข้อความเสนอความเห็นควรสั่งฟ้องจำเลยทั้งสองต่ออธิบดีของโจทก์ตามบันทึกข้อความเอกสารหมายป.จ.3 ของศาลแพ่ง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองว่า คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 หรือไม่พิเคราะห์แล้ว กรณีของจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า ตามรายงานผลการสอบสวนหาผู้รับผิดในทางแพ่งที่เสนอต่ออธิบดีของโจทก์ในบันทึกข้อความเอกสารหมาย ป.จ.1 ของศาลแพ่ง มีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำละเมิดโจทก์เสียหายเป็นเงิน181,080 บาท เห็นควรเรียกร้องหรือฟ้องร้องดำเนินคดีทางแพ่งแก่จำเลยที่ 1 และนายสนั่น ศรีรุ่งโรจน์ รองอธิบดีของโจทก์ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีของโจทก์ลงนามไว้ด้านหลังเอกสารนี้เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2530 ถือได้ว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนคือจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่นายสนั่นลงนามไว้ดังกล่าว ดังนี้นับแต่วันที่ 24พฤศจิกายน 2530 ถึงวันที่ที่โจทก์ฟ้องคือวันที่ 27 มีนาคม 2532เป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์แก้ฎีกาว่า กรณีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดฐานละเมิดทำให้รถของโจทก์เสียหายเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จึงต้องนำอายุความทางอาญาที่ยาวกว่ามาบังคับนั้น เห็นว่า ที่จำเลยที่ 1ถูกฟ้องข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่น(รถของโจทก์) เสียหายตามสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1758/2530ของศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นั้น เป็นความผิดหกตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกอันเป็นความผิดเกี่ยวกับรัฐ โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายในคดีอาญาสำหรับข้อหาส่วนนี้ คดีนี้จึงหาใช่เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่จะนำอายุความทางอาญาที่ยาวกว่ามาบังคับได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
กรณีของจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่า ตามเอกสารหมาย ป.จ.1ของศาลแพ่งมีข้อความระบุเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 แต่เพียงว่าจำเลยที่ 2 นั่งโดยสารมาด้วยในรถที่จำเลยที่ 1 ขับ หาได้ระบุว่าจำเลยที่ 2 ครอบครองหรือควบคุมดูแลรถคันดังกล่าวอันจะต้องรับผิดชอบเพื่อความเสียหายนั้นด้วยไม่ การที่นายสนั่นรองอธิบดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดีของโจทก์ลงนามไว้ด้านหลังเอกสารนี้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์รู้ว่าจำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย แต่กรณีที่ต่อมากองนิติการในสังกัดโจทก์ได้รับสำนวนการสอบสวนหาผู้รับผิดในทางแพ่งแล้วเห็นว่าผู้ที่จะต้องรับผิดคือจำเลยทั้งสอง และได้ทำบันทึกข้อความเสนอความเห็นควรสั่งฟ้องจำเลยทั้งสองต่ออธิบดีของโจทก์ตามเอกสารหมายป.จ.3 ของศาลแพ่ง และนายเสถียร วงศ์วิเชียร อธิบดีของโจทก์ลงนามไว้ท้ายเอกสารหมาย ป.จ.3 ของศาลแพ่ง เมื่อวันที่27 เมษายน 2531 ถือได้ว่าโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอีกคนหนึ่งคือจำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันที่นายเสถียรลงนามไว้ดังกล่าวดังนี้นับตั้งแต่วันที่27 เมษายน 2531 ถึงวันที่โจทก์ฟ้องคือวันที่ 27 มีนาคม 2532เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 เสียให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหายจำนวน 197,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

Share