คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5728/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 5 ใช้เนื้อที่ดินในเขตประทานบัตรของโจทก์ในการวางท่อส่งก๊าซจากแหล่งก๊าซที่อ่าวไทยมาขึ้นฝั่งเป็นการประกอบการเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์แก่การอันเป็นสาธารณูปโภคและเพื่อประโยชน์สาธารณะของรัฐ และที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 7 ใช้เนื้อที่ดินในประทานบัตรดังกล่าวเพื่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรม ก็เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปและประเทศชาติ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์สาธารณะของรัฐเช่นกัน ดังนั้นจำเลยที่ 2 ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีจึงมีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนเนื้อที่ในเขตประทานบัตรได้โจทก์เป็นผู้ถือประทานบัตรจึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยตาม พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 9 ตรี .

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ถือประทานบัตรที่ 15759/10918โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ถือประทานบัตรที่ 17355/12005 ประทานบัตรของโจทก์ทั้งสองอยู่ติดต่อกันในทะเล ที่ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยองจังหวัดระยอง เมื่อกลางปี พ.ศ. 2522 จำเลยที่ 5 ได้มีหนังสือถึงโจทก์แจ้งว่า จะทำการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติผ่านเขตประทานบัตรของโจทก์ แนววางท่อมีรัศมีข้างละ 1 กิโลเมตร ขอความร่วมมือจากโจทก์ทั้งสองให้งดเว้นทำเหมืองแร่ในแนวที่วางท่อส่งก๊าซผ่าน ต่อมาจำเลยที่ 5 ได้วางท่อส่งก๊าซผ่านเขตประทานบัตรของโจทก์ทั้งสอง และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่ยอมให้โจทก์ทั้งสองขุดแร่ในเขตประทานบัตรตามแนวที่วางท่อส่งก๊าซผ่าน และจำเลยที่ 7 มีหนังสือแจ้งว่าจะดำเนินการตามแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกในโครงการท่าเรือมาบตาพุดเพื่อใช้เป็นที่ขนถ่ายสินค้า พื้นที่บางส่วนล้ำเข้ามาในเขตประทานบัตรของโจทก์ด้วย จำเลยที่ 7 จะถอนคืนประทานบัตรบางส่วนของโจทก์ โจทก์ทั้งสองได้ร้องขอความเป็นธรรม แต่จำเลยที่ 1 กลับบีบเอาเนื้อที่บางส่วนในเขตประทานบัตรของโจทก์โดยไม่จ่ายเงินค่าทดแทนและจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือถึงโจทก์ทั้งสอง ให้นำประทานบัตรทั้งสองแปลงมาแก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อที่ โจทก์ทั้งสองต้องเสียเนื้อที่ที่ไม่สามารถทำเหมืองแร่ตามแนวที่จำเลยที่ 5 วางท่อส่งก๊าซผ่าน ขอศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งแปดร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน731,169,978 บาท ให้โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 117,618,309 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 848,788,287 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งแปดให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่เคยทำเหมืองแร่ และสำรวจแร่ในเขตประทานบัตรที่อ้างเกี่ยวกับมูลค่าแร่นั้นโจทก์ทั้งสองเพียงคาดคะเน และกำหนดมูลค่าแร่ไว้สูงเกินกว่าความเป็นจริง การวางท่อส่งก๊าซนั้น ต้องผ่านเขตประทานบัตรเลขที่ 15759/10918 บางส่วนแต่มิได้ผ่านเขตประทานบัตรที่ 17355/12005 โจทก์ทั้งสองไม่ได้รับความเสียหายเกี่ยวกับการวางท่อส่งก๊าซของจำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 6ซึ่งกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ตามกฏหมาย การดำเนินการวางท่อส่งก๊าซจำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเขตประทานบัตรที่ 15759/10918จำเลยที่ 2 ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจเรียกประทานบัตรที่ 15759/10918 มาแก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อที่ในเขตประทานบัตร ไม่เป็นการละเมิดสิทธิใด ๆของโจทก์ โจทก์เคยเรียกค่าทดแทนครั้งแรก 5,000,000 บาท ต่อมาได้เรียกเพิ่มขึ้นเป็น 310,995,000 บาท จำเลยที่ 2 มอบหมายให้จำเลยที่ 3 และที่ 5 พิจารณาค่าทดแทน ต่อมาจำเลยที่ 5 ได้เสนอความเห็นไปยังจำเลยที่ 1 ขอให้จำเลยที่ 2 ใช้อำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อที่เขตประทานบัตร ตามมาตรา 9 ตรี แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510ซึ่งไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง การดำเนินการวางท่อส่งก๊าซเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 เท่านั้น จำเลยที่3 ที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 มิได้มีส่วนร่วมด้วย ทั้งคดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 5 ร่วมกันใช้ค่าทดแทนให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 2,753,216.12 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 สำหรับจำเลยทั้งแปด
โจทก์ทั้งสอง และจำเลยที่ 1 ที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสอง และจำเลยที่ 1 ที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งแปดนำสืบฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ถือประทานบัตรที่ 15759/10918 โดยรับโอนมาจากนายเสน่ห์ สินประเสริฐเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2526 ตามเอกสารหมาย จ.2 โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ถือประทานบัตรที่ 17355/12005 ตามเอกสารหมาย จ.3 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2522 จำเลยที่ 5 ได้มีหนังสือถึงโจทก์ที่ 2 ขอความร่วมมือให้งดเว้นการสำรวจและทำเหมืองแร่ในเขตประทานบัตรของโจทก์ทั้งสองตามแนวทางวางท่อส่งก๊าซในรัศมีข้างละ 1 กิโลเมตร ตามเอกสารหมาย จ.12โจทก์ได้ให้ความร่วมมือ แต่ขอค่าทดแทนเป็นเงิน 5,000,000 บาทตามเอกสารหมาย จ.12 แผ่นที่ 2 และแผ่นที่ 3 ต่อมาโจทก์ทั้งสองเรียกค่าทดแทนเพิ่มขึ้นเป็น 310,995,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.12แผ่นที่ 11 และแผ่นที่ 13 คณะกรรมการของจำเลยที่ 5 พิจารณาแล้วเห็นควรจ่ายค่าทดแทนเป็นเงิน 57,856 บาท ตามเอกสารหมาย ล.21แล้วต่อมาเห็นควรจ่ายค่าทดแทน 164,212.91 บาท ตามที่โจทก์ใช้จ่ายไปจริงในการสำรวจแร่ตามเอกสารหมาย ล.21 แผ่นที่ 2 โจทก์ไม่ยอมตกลงและขอเรียกค่าทดแทนตามมูลแร่ จำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 7 ได้เสนอให้จำเลยที่ 2 ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 9 ตรี มีคำสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อที่ในเขตประทานบัตรของโจทก์ทั้งสอง โดยกันแนวที่วางท่อส่งก๊าซและแนวเขตท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดออก ทั้งนี้โดยให้ขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีปรากฏตามเอกสารหมาย ล.33 และ ล.39 คณะรัฐมนตรีได้มีหนังสืออนุมัติตามเอกสารหมาย ล.35 จำเลยที่ 1 ได้ออกคำสั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อที่ตามเขตประทานบัตรของโจทก์ทั้งสองตามเอกสารหมายล.36 และ ล.37 การวางท่อส่งก๊าซทำให้เขตประทานบัตรของโจทก์ที่ 1เสียเนื้อที่ไป 54 ไร่ 3 งาน 46 ตารางวา โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดทำให้เขตประทานบัตรของโจทก์ที่ 2 เสียเนื้อที่ไป 14 ไร่ 73ตารางวา ข้อที่จำเลยที่ 1 และที่ 5 ฎีกาว่า จำเลยที่ 5 มีความจำเป็นต้องใช้เนื้อที่ในเขตประทานบัตรของโจทก์ที่ 1 เพื่อวางท่อส่งก๊าซจากแหล่งก๊าซที่อ่าวไทยมาขึ้นฝั่งที่ตำบลมาบตาพุดเพื่อเป็นประโยชน์แก่การสาธารณูปโภค จำเลยที่ 7 มีความจำเป็นต้องใช้เนื้อที่ในเขตประทานบัตรของโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 เพื่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเพื่อเป็นประโยชน์สาธารณะของรัฐ จำเลยที่ 2 ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อที่ในเขตประทานบัตร ในกรณีที่ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อที่ในเขตประทานบัตร ผู้ถือประทานบัตรจะเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ มิได้ ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 9 ตรีซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522มาตรา 5 โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือประทานบัตรจึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยนั้น ในข้อนี้จำเลยนำสืบว่า จำเลยที่ 5 มีความจำเป็นต้องใช้เนื้อที่ในเขตประทานบัตรของโจทก์ที่ 1 เพื่อวางท่อส่งก๊าซจากแหล่งก๊าซที่อ่าวไทยมาขึ้นฝั่งที่ตำบลมาบตาพุด เพราะประชาชนจะได้รับประโยชน์มากมาย ทำให้สามารถผลิตเชื้อเพลิงขึ้นในประเทศเอง ไม่ต้องซื้อจากแหล่งผลิตต่างประเทศ เป็นการประหยัดเงินตราได้อย่างมาก และเป็นผลดีแก่ประชาชนในอนาคต เพราะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติและเป็นการส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น และมีการพัฒนาต่อเนื่องกันอีกมากจำเลยที่ 7 มีความจำเป็นต้องใช้เนื้อที่ในเขตประทานบัตรของโจทก์ที่1 และโจทก์ที่ 2 เพื่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เนื่องจากต้องใช้เขตนี้ในการขนส่งวัตถุดิบให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมในเขตท้องที่ตำบลมาบตาพุด และโรงงานอุตสาหกรรมนอกเขตด้วย ท่าเรือแห่งนี้เป็นท่าเรือน้ำลึกแห่งแรกในประเทศไทย สามารถจะให้บริการแก่เรือขนาดใหญ่ได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศชาติอย่างมาก เช่นในด้านการจ้างแรงงาน การผลิตสินค้า และการนำก๊าซธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 7 เป็นรัฐวิสาหกิจ มีความจำเป็นต้องใช้เนื้อที่ในเขตประทานบัตรของโจทก์ทั้งสองเพื่อวางท่อส่งก๊าซจากแหล่งก๊าซที่อ่าวไทยมาขึ้นฝั่งที่ตำบลมาบตาพุด และเพื่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดจริงตามที่จำเลยนำสืบ การวางท่อส่งก๊าซดังกล่าวเป็นการประกอบการเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป ถือได้ว่าจำเลยที่ 5 กระทำไปเพื่อประโยชน์แก่การอันเป็นสาธารณูปโภค และเพื่อประโยชน์สาธารณะของรัฐ การสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปและประเทศชาติถือได้ว่าจำเลยที่ 7 กระทำไปเพื่อประโยชน์สาธารณะของรัฐ ดังนั้นจำเลยที่ 2 ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีจึงมีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อที่ในเขตประทานบัตรของโจทก์ทั้งสองได้ โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือประทานบัตร จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา9 ตรี ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522มาตรา 9 ตรี ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2522 มาตรา 5 เมื่อได้วินิจฉัยดังนี้แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์จำเลยต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 2 สำหรับจำเลยทั้งแปด และยกฟ้องโจทก์ที่ 1 สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 และ ที่ 8 นั้นชอบแล้ว แต่ที่พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 5 ร่วมกันใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ที่1 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นฟ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 5 ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 5 ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share