แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามคำแถลงของโจทก์ โจทก์มิได้กล่าวถึงเรื่องตามที่ โจทก์ฎีกาว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 261 วรรคแรก ได้บัญญัติไว้แต่เฉพาะจำเลยที่อาจมีคำขอต่อศาลให้ถอนหมายยึดหรืออายัดหรือคำสั่งห้ามหรือสั่งอื่นใดเช่นว่านั้น แต่ไม่ได้กล่าวถึงบุคคลภายนอกหรือผู้ร้อง ส่วนคำว่าบุคคลภายนอก ตามมาตรา 312 วรรคแรกหมายถึงบุคคลที่ได้รับหมายอายัด หรือ ส. ซึ่งมิใช่ผู้ร้องการใช้ดุลพินิจและมีคำสั่งของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จึงยังไม่ถูกต้อง และในชั้นอุทธรณ์โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องอุทธรณ์ ไว้แต่เพียงว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 261 บัญญัติว่า”จำเลยหรือบุคคลภายนอก” การยื่นคำร้องคัดค้านของผู้ร้องจึงต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 288 โดยอนุโลม ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงคนละอย่างกับฎีกา ของโจทก์ดังกล่าว ฎีกาโจทก์ข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคแรก เมื่อค่างานในงวดที่ 5 เกิดขึ้นจากสิทธิเรียกร้องค่าจ้างงานที่จำเลยมีต่อ ส. และสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจำเลยได้โอนให้ผู้ร้องโดยชอบไปแล้วตั้งแต่ก่อนที่โจทก์จะยื่นฟ้องจำเลยคดีนี้เป็นเวลา 7 เดือนเศษ อีกทั้งผู้ร้องได้รับเงินค่างวดการจ้างงานไปก่อนแล้วถึง 4 งวดโดยเงินทุกงวดก็ต้องถือเป็นเงินอันเกิดจากสิทธิเรียกร้องซึ่งเป็นของผู้ร้องโดยแท้เช่นเดียวกัน ผู้ร้องจึงยังคงมีสิทธิได้รับเงินค่าจ้างงานในงวดที่ 5 อย่างเช่นในงวดก่อน ๆ เหมือนเดิม โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิขออายัดเงินค่างาน ในงวดที่ 5 ดังกล่าว แม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 288 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีเหมือนอย่างคดีธรรมดา หรือตามมาตรา 312 บัญญัติให้ศาลอาจทำการไต่สวนก็ตาม แต่ก็เป็นดุลพินิจของศาลในอันที่จะ ฟังว่าคดีใดไม่สมควรสืบพยานเพราะไม่เกี่ยวแก่ประเด็น หรือเป็นการประวิงให้ชักช้า หรือฟุ่มเฟือยเกินสมควร ศาลก็มีอำนาจงดการสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้นหรืองดการ ไต่สวนเสียได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคสอง โดยให้ถือว่าคดีเสร็จการพิจารณา และพิพากษาคดีไปตามนั้นตามมาตรา 37
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยให้ชำระเงินค่าซื้อเหล็กเส้นจำนวน 3,724,018.26 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,434,018.26 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และในวันยื่นฟ้องโจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในกรณีฉุกเฉินโดยขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดเงินค่าก่อสร้างที่จำเลยมีสิทธิจะได้รับจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังในงวดที่ 5 เป็นเงิน 6,600,000 บาท ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งให้อายัดเงินค่าก่อสร้างที่จำเลยมีสิทธิจะได้รับจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังในงวดที่ 5 ไว้บางส่วน จำนวน 3,724,018.26 บาทภายหลังที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแล้ว สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังได้ส่งเงินจำนวนดังกล่าวมาวางไว้ที่ศาลชั้นต้น
ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ร้อง ได้ยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งอายัดเงินและคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง โดยอ้างว่าเงินจำนวนดังกล่าวจำเลยได้โอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้ร้องแล้ว จำเลยจึงไม่ใช่เจ้าของเงินอีกต่อไป
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า เงินที่โจทก์ขออายัดเป็นเงินของจำเลยเพราะสัญญาว่าจ้างก่อสร้างระหว่างจำเลยกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2538 ได้หมดอายุสัญญาแล้วในวันที่21 เมษายน 2539 สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องซึ่งเป็นสัญญาอุปกรณ์ของสัญญาว่าจ้างดังกล่าวย่อมหมดอายุสัญญาไปด้วยเช่นกันและเมื่อทางสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังยินยอมรับมอบงานภายหลังวันที่ 21 เมษายน 2539 ซึ่งหมดอายุสัญญาว่าจ้างแล้ว เงินจำนวนดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นเงินของจำเลย ขอให้ยกคำร้องคัดค้านของผู้ร้อง
จำเลยยื่นคำคัดค้านว่า ปัจจุบันจำเลยเป็นหนี้ผู้ร้องอยู่ประมาณ 4,000,000 บาท แต่จำเลยมีที่ดินเป็นหลักประกันจดทะเบียนจำนองไว้ในวงเงิน 8,000,000 บาท ซึ่งปัจจุบันมีราคาประมาณ 16,000,000 บาท นอกจากนี้จำเลยยังมีค่างวดที่จะได้รับเหลืออยู่อีกประมาณกว่า 10,000,000 บาทการที่โจทก์อายัดเงินจำนวน 3,724,018.26 บาท จึงไม่ทำให้ผู้ร้องเสียหาย ขอให้ยกคำร้องคัดค้านของผู้ร้อง
ต่อมาวันที่ 20 มิถุนายน 2540 ซึ่งเป็นวันนัดไต่สวนคำร้องคัดค้านของผู้ร้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าได้มีการโอนสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่มีต่อสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังแล้วสิทธิเรียกร้องนี้จึงมิใช่ของจำเลยอีกต่อไป คดีไม่จำต้องไต่สวนให้เพิกถอนคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน2539 เสีย และให้คืนเงินที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังส่งมอบต่อศาลต่อไป
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีได้ความว่า เมื่อวันที่ 20ตุลาคม 2538 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังได้ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยให้ทำการก่อสร้างอาคารสำนักหอสมุดกลางส่วนที่ค้างอยู่ทั้งหมดเป็นเงิน 53,695,000 บาท โดยกำหนดการจ่ายเงินค่าจ้างไว้ 8 งวด และงานที่จ้างจะต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 21 เมษายน 2539 หรือมีกำหนด 180 วันแต่ถ้าจำเลยไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาผู้ว่าจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้ ดังปรากฏตามสัญญาจ้างเลขที่หอสมุด 1/2539 ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2538 ต่อมาในวันที่3 พฤศจิกายน 2538 จำเลยได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างทั้ง 8 งวด จำนวน 53,695,000 บาท รวมทั้งค่าปรับราคาค่างวดที่พึงจะเกิดขึ้นให้แก่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)หรือผู้ร้อง และได้แจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังทราบและสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังได้ตอบรับการโอนแจ้งให้ผู้ร้องทราบแล้วตามหนังสือฉบับลงวันที่10 พฤศจิกายน 2538 ซึ่งหลังจากนั้นผู้ร้องได้รับเงินค่างวดงานก่อสร้างไปจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังแล้ว 4 งวด รวมเป็นเงิน26,400,000 บาท และผู้ร้องกำลังจะรับเงินค่างวดงวดที่ 5จำนวน 6,600,000 บาท โจทก์จึงขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวและอายัดเงินค่างานงวดดังกล่าวบางส่วน จำนวน 3,724,018.26 บาท ที่จำเลยจะได้รับจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่าผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนหมายอายัดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 261 วรรคแรกและมาตรา 312 วรรคแรก ได้หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 261 วรรคแรกได้บัญญัติไว้แต่เฉพาะจำเลยที่อาจมีคำขอต่อศาลให้ถอนหมายยึดหรืออายัดหรือคำสั่งห้ามหรือสั่งอื่นใดเช่นว่านั้น แต่ไม่ได้กล่าวถึงบุคคลภายนอกหรือผู้ร้อง ส่วนคำว่าบุคคลภายนอกตามมาตรา 312 วรรคแรก หมายถึงบุคคลที่ได้รับหมายอายัดหรือสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังซึ่งมิใช่ผู้ร้อง ด้วยเหตุดังกล่าวการใช้ดุลพินิจและมีคำสั่งของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จึงยังไม่ถูกต้อง เห็นว่าตามคำแถลงคัดค้านของโจทก์ในศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 16กันยายน 2539 โจทก์มิได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ และในชั้นอุทธรณ์โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องอุทธรณ์ในข้อ 3 ไว้แต่เพียงว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 261 บัญญัติว่า”จำเลยหรือบุคคลภายนอก”การยื่นคำร้องคัดค้านของผู้ร้องจึงต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 288 โดยอนุโลม ซึ่งข้อเท็จจริงคนละอย่างกับฎีกาของโจทก์ดังกล่าว ฉะนั้น ฎีกาโจทก์ข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ นับเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคแรก แม้ศาลชั้นต้นจะได้สั่งรับฎีกาของโจทก์ข้อนี้มา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า เงินค่างานในงวดที่ 5เป็นเงินของผู้ร้องหรือไม่ โจทก์แถลงคัดค้านว่า เงินค่างานในงวดที่ 5 เป็นเงินที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังรับมอบงานภายหลังวันที่ 21 เมษายน 2539 ซึ่งหมดอายุสัญญาแล้ว โดยโจทก์มิได้กล่าวเลยว่าสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังได้บอกเลิกสัญญาจ้างรายนี้แล้วหรือไม่ ฉะนั้น หากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังยังยอมรับมอบงานในงวดดังกล่าวไว้ซึ่งไม่ว่าด้วยเหตุผลใดกรณีก็ต้องถือว่าสัญญาจ้างดังกล่าวยังคงมีผลใช้บังคับอยู่แม้จะเกินกำหนดระยะเวลา 180 วัน หรือเกินวันที่ 21 เมษายน 2539 แล้วก็ตามดังข้อเท็จจริงที่ฟังได้ในตอนแรก แต่อย่างไรก็ดีเมื่อค่างานในงวดที่ 5 เกิดขึ้นจากสิทธิเรียกร้องค่าจ้างงานที่จำเลยมีต่อสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังและสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจำเลยได้โอนให้ผู้ร้องโดยชอบไปแล้วตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2539 ก่อนที่โจทก์จะยื่นฟ้องจำเลยคดีนี้เป็นเวลา 7 เดือนเศษ อีกทั้งผู้ร้องได้รับเงินค่างวดการจ้างงานไปก่อนแล้วถึง 4 งวด โดยเงินทุกงวดก็ต้องถือเป็นเงินอันเกิดจากสิทธิเรียกร้องซึ่งเป็นของผู้ร้องโดยแท้เช่นเดียวกัน ผู้ร้องจึงยังคงมีสิทธิได้รับเงินค่าจ้างงานในงวดที่ 5 อย่างเช่นในงวดก่อน ๆ เหมือนเดิม
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า ศาลชั้นต้นจะต้องทำการไต่สวนอย่างเช่นคดีร้องขัดทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 261ประกอบมาตรา 288 หรือ มาตรา 312 หรือไม่ เห็นว่าแม้ตามมาตรา 288 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดคัดสินคดีเหมือนอย่างคดีธรรมดา หรือตามมาตรา 312 บัญญัติให้ศาลอาจทำการไต่สวนก็ตาม แต่ก็เป็นดุลพินิจของศาลในอันที่จะฟังว่าคดีใดไม่สมควรสืบพยาน เพราะไม่เกี่ยวแก่ประเด็นหรือเป็นการประวิงให้ชักช้า หรือฟุ่มเฟือยเกินสมควร ศาลก็มีอำนาจงดการสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้นหรืองดการไต่สวนเสียได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคสองโดยให้ถือว่า คดีเสร็จการพิจารณาและพิพากษาคดีไปตามนั้นตามมาตรา 37 ด้วยเหตุดังกล่าวประกอบด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผลดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว การที่ศาลชั้นต้นให้งดการสืบพยานหลักฐานหรืองดการไต่สวนเรื่องนี้เสียนับเป็นการชอบแล้ว
พิพากษายืน