คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5718/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ว่าจำเลยจะเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 28 ทวิ แต่การที่จะไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ(1) นั้นต้องได้ความด้วยว่าเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งอยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ด้วยจำเลยไม่ได้นำสืบให้เห็นเลยว่าขณะเกิดเหตุ จำเลยอยู่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80,91, 288 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 4, 8 ทวิ, 72 ทวิ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายคำพาหรือคำภา รักก้อน ผู้เสียหายที่ 2ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เป็นโจทก์ร่วมเฉพาะในความผิดฐานพยายามฆ่า
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2, 5 ประกอบด้วยมาตรา 60 กระทงหนึ่ง ให้วางโทษจำคุก 2 ปีและมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ72 ทวิ วรรคสอง อีกกระทงหนึ่ง วางโทษจำคุก 6 เดือน รวมจำคุก2 ปี 6 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายสมัครใจเข้าไปวิวาทชกต่อยกับผู้เสียหายที่ 1 ก่อน การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงในเวลาต่อมาจึงไม่อาจอ้างเป็นเหตุว่าจำต้องกระทำเพื่อป้องกันตนเองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 6 ได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า จำเลยเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงมีสิทธิพาอาวุธปืนติดตัวไปได้นั้นเห็นว่า แม้ว่าจำเลยจะเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2453 มาตรา 28 ทวิ แต่การที่จะไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ(1) นั้น ต้องได้ความด้วยว่า เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งอยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ด้วย จำเลยไม่ได้นำสืบให้เห็นเลยว่าขณะเกิดเหตุอยู่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง และเห็นว่าศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยเหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข
พิพากษายืน

Share