คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5711/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อบังคับองค์การทอผ้าว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521 ซึ่งเป็นข้อบังคับที่ใช้ในการคำนวณเงินบำเหน็จ กำหนดว่า อายุการทำงานหมายความว่า ระยะเวลาตั้งแต่วันที่พนักงานเข้าประจำทำงานในองค์การทอผ้าและได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างจนถึงวันพ้นตำแหน่ง… มีความหมายชัดแจ้งว่า การนับอายุการทำงานเพื่อคำนวณเงินบำเหน็จ ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่พนักงานเข้าประจำในองค์การทอผ้าโดยได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้าง ส่วนที่ข้อบังคับองค์การทอผ้าว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ. 2523 ระบุว่า บุคคลที่องค์การจะจ้างหรือบรรจุเป็นพนักงานตามอัตรากำลังขององค์การต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์และตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 ที่กำหนดว่าพนักงานรัฐวิสาหกิจต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์นั้น เป็นบทกำหนดคุณสมบัติของพนักงานของจำเลยเท่านั้น หาใช่วิธีการนับอายุการทำงานเพื่อคำนวณเงินบำเหน็จไม่ การนับอายุการทำงานของโจทก์เพื่อคำนวณเงินบำเหน็จต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่โจทก์เข้าประจำทำงานในองค์การโดยได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างจนถึงวันพ้นตำแหน่ง.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสิบสามสำนวนฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสิบสามเป็นลูกจ้างประจำรายวัน เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2533 จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 12 ฐานหย่อนความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่การงาน และเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2533 โจทก์ที่ 13 ลาออกจากงานโดยไม่มีความผิด แต่จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์ทั้งสิบสามไม่ครบ และไม่จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 12 ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จส่วนที่ยังขาดแก่โจทก์ทั้งสิบสาม และจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 12 พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสิบสามสำนวนให้การต่อสู้คดีหลายประการ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จส่วนที่ยังขาดแก่โจทก์ทั้งสิบสาม และจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 12พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสิบสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามข้อบังคับองค์การทอผ้าว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521 ซึ่งเป็นข้อบังคับที่ใช้ในการคำนวณเงินบำเหน็จ ข้อ 3.5 กำหนดว่า อายุการทำงาน หมายความว่า ระยะเวลาตั้งแต่วันที่พนักงานเข้าประจำทำงานในองค์การทอผ้า และได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างจนถึงวันพ้นตำแหน่ง… มีความหมายชัดแจ้งว่าการนับอายุการทำงานเพื่อคำนวณเงินบำเหน็จ ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่พนักงานเข้าประจำในองค์การทอผ้าโดยได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาว่า โจทก์ที่ 1และโจทก์ที่ 3 เข้าทำงานกับจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2517 ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 และเอกสารหมาย ล.3 ตามลำดับ และโจทก์ที่ 8เข้าทำงานกับจำเลยตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2518 ปรากฏตามเอกสารหมายล.8 โดยโจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 8 ต่างได้รับค่าจ้างนับแต่เข้าทำงาน จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 8 เมื่อวันที่ 1มิถุนายน 2533 โจทก์ที่ 1 และที่ 3 จึงมีอายุการทำงาน 15 ปี 8 เดือนโจทก์ที่ 8 มีอายุการทำงาน 15 ปี 2 เดือน ซึ่งเมื่อนับอายุการทำงานตามข้อบังคับของจำเลย โดยหากมีเศษเกินกว่า 6 เดือน ให้นับเป็น 1 ปีและหากมีเศษไม่ถึง 6 เดือน ให้ปัดทิ้งแล้ว โจทก์ที่ 1 และที่ 3มีอายุการทำงาน 16 ปี โจทก์ที่ 8 มีอายุการทำงาน 15 ปี ที่ข้อบังคับองค์การทอผ้าว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ. 2523 ข้อ 4 ระบุว่า บุคคลที่องค์การจะจ้างหรือบรรจุเป็นพนักงานตามอัตรากำลังขององค์การต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์และตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 ที่กำหนดว่าพนักงานรัฐวิสาหกิจต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์นั้น เป็นบทกำหนดคุณสมบัติของพนักงานของจำเลยเท่านั้น หาใช่วิธีการนับอายุการทำงานเพื่อคำนวณเงินบำเหน็จไม่ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1ที่ 3 และที่ 8 มีอายุการทำงานตามฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน.

Share