คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5710/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์มรดกมิใช่ฟ้องให้จำเลยรับผิดในการปฏิบัติหน้าที่ที่ได้กระทำไปในฐานะผู้จัดการมรดก จึงเป็นคดีมรดกไม่ใช่คดีจัดการมรดก
เมื่อข้อเท็จจริงยังมีที่ดินมรดกอีก 3 แปลงที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกยังไม่ได้จัดการแบ่งให้ทายาทแสดงว่าการจัดการมรดกยังอยู่ในระหว่างจัดการ เมื่อจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกจึงเป็นผู้แทนของทายาททั้งปวงโดยนำลักษณะตัวการตัวแทนมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1720 การที่จำเลยครอบครองทรัพย์มรดกในระหว่างจัดการมรดกถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทตาม มาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1368 โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทชอบที่จะฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยได้แม้จะล่วงพ้นกำหนดอายุความตาม มาตรา 1754 ทั้งนี้ ตาม มาตรา 1748

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจัดการแบ่งทรัพย์มรดกให้โจทก์ทั้งสามคิดเป็นเงินคนละ ๑,๗๕๐,๑๑๑ บาท หากตกลงกันไม่ได้ให้ประมูลหรือขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งให้โจทก์ทั้งสาม
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า ที่ดินตามฟ้องจำนวน ๒๘ แปลง เป็นส่วนแบ่งของจำเลยในฐานะภริยามิใช่ทรัพย์มรดก ทรัพย์มรดกมีไม่เกิน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งจำเลยจัดการแบ่งหมดสิ้นแล้ว และโจทก์ทั้งสามได้รับส่วนแบ่งแล้ว ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะฟ้องเกินกำหนด ๑ ปี นับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย หรือเมื่อโจทก์ทั้งสามรู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยจัดการแบ่งทรัพย์มรดกให้โจทก์ทั้งสามคนละ ๓๖๑,๑๑๑.๑๐ บาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๒๐,๐๐๐ บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ ๑๐,๐๐๐ บาท
จำเลยฎีกา
ระหว่างพิจารณา จำเลยถึงแก่กรรม นายปาน แดงวิไล ทายาทของจำเลยยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติว่า นายเอื้อน แก้วสังข์ไชย เจ้ามรดก มีภริยาสองคน คนแรกชื่อนางศรีนวล มีบุตรด้วยกัน ๒ คน คือ นางวารินและนายวิรุฬ ต่อมานายเอื้อนกับนางศรีนวลเลิกร้างกันไป บุตรทั้งสองเป็นบุตรนอกกฎหมายที่นายเอื้อนบิดาได้รับรองแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๒๗ ต่อมานายเอื้อนจึงได้มาจดทะเบียนสมรสกับจำเลย ระหว่างอยู่กินกับจำเลยไม่มีบุตรด้วยกัน โจทก์ทั้งสามเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายวิรุฬ เมื่อปี ๒๕๒๓ นายวิรุฬถึงแก่ความตาย ต่อมาปี ๒๕๒๖ นายเอื้อนถึงแก่ความตาย จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเอื้อนได้ดำเนินการจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินพิพาทไปแล้วหลายแปลง มีทั้งที่โอนให้แก่ลูกค้าที่ชำระราคาหมดแล้ว และโอนแบ่งมรดกให้แก่ทายาทของนายเอื้อนบางคน รวมทั้งที่โอนให้แก่ตนเองเป็นการส่วนตัวในฐานะที่เป็นภริยาจำนวน ๒๘ แปลง คงมีที่ดินมรดกของนายเอื้อนเหลืออยู่เพียง ๓ แปลง เท่านั้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสามขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องเรียกทรัพย์มรดก มิใช่ฟ้องให้จำเลยรับผิดในการปฏิบัติหน้าที่ที่ได้กระทำไปในฐานะผู้จัดการมรดก จึงเป็นคดีมรดกไม่ใช่คดีจัดการมรดกดังที่ศาลล่างวินิจฉัย แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่ายังมีที่ดินที่เป็นทรัพย์มรดกอีกจำนวน ๓ แปลง ที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกยังไม่ได้จัดการแบ่งให้แก่ทายาท แสดงว่าการจัดการมรดกยังไม่สิ้นสุดลงอยู่ระหว่างจัดการ เมื่อจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกจึงเป็นผู้แทนของทายาททั้งปวง โดยนำลักษณะตัวการตัวแทนมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๒๐ การที่จำเลยครอบครองทรัพย์มรดกในระหว่างจัดการมรดกถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทตามมาตรา ๑๗๔๕ ประกอบมาตรา ๑๓๖๘ โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทจึงชอบที่จะฟ้องเรียกทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกจากจำเลยได้แม้จะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา ๑๗๕๔ แล้วก็ดี ทั้งนี้ตามมาตรา ๑๗๔๘ คดีโจทก์ทั้งสามจึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share