คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 571/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อสหภาพแรงงานนัดหยุดงานโดยชอบแล้ว การที่ลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่มิได้ร่วมหยุดงานในตอนแรกออกมาร่วมนัดหยุดงานในภายหลัง ย่อมเป็นการนัดหยุดงานโดยชอบ และไม่จำต้องแจ้งความประสงค์ขอนัดหยุดงานตามนัยแห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฯ มาตรา 34 วรรคท้ายอีก
กรณีดังกล่าวนั้นการที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งสมทบนัดหยุดงานในภายหลังโดยอ้างเหตุว่าลูกจ้างละทิ้งหน้าที่การงาน จึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฯ มาตรา 121

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าสหภาพแรงงานส่งเสริมสิ่งทอไทยยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทโรงงานส่งเสริมอุตสาหกรรมไทย จำกัด เพื่อเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแต่ตกลงกันไม่ได้ สหภาพแรงงาน ฯ จึงยื่นหนังสือขอนัดหยุดงานและมีการนัดหยุดงานเมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๒๙ หลังจากนั้นโจทก์ทุกคนได้เข้าร่วมนัดหยุดงานเพราะโจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ฯ ต่อมามีการตกลงกันได้และพนักงานทุกคนได้กลับเข้าทำงาน จำเลยที่ ๑๕ มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์อ้างว่าละทิ้งหน้าที่ขาดงานเกินกว่าสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร โจทก์ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เพื่อให้วินิจฉัยเรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรม คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์โดยจำเลยที่ ๑ เป็นประธานวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งหมดขาดงานเกินสามวัน ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน การเลิกจ้างไม่ใช่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม การที่บริษัทจำเลยที่ ๑๕ เลิกจ้างโจทก์โดยอ้างเหตุดังกล่าวเป็นการไม่ชอบ และโจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดังกล่าว ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดังกล่าว และมีคำสั่งให้บริษัทโรงงานส่งเสริมไทยอุตสาหกรรม จำกัด รับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมและจ่ายค่าจ้างนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันรับโจทก์กลับ และจ่ายค่าเสียหาย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย เงินค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ – ๑๔ ให้การว่าคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชอบแล้ว เพราะโจทก์ทั้งหมดละทิ้งหน้าที่การงานโดยหยุดงานร่วมกับสหภาพแรงงาน โดยมิได้แจ้งการหยุดงานให้จำเลยที่ ๑๕ นายจ้างทราบ ก่อนที่สหภาพแรงงานจะนัดหยุดงานจำเลยที่ ๑๕ นายจ้างได้ประกาศแจ้งแก่พนักงานว่าถ้าเลยวันที่สหภาพแรงงานนัดหยุดงานแล้ว ผู้ปฏิบัติงานยังคงปฏิบัติงานให้จำเลยที่ ๑๕ อยู่มิได้ร่วมนัดหยุดงานและใช้สิทธิการนัดหยุดงานอีกไม่ได้ การที่โจทก์สมทบหยุดงานกับสหภาพแรงงานในภายหลังเป็นการไม่ชอบและจำเลยที่ ๑๕ ให้การว่าการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณา คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงตามคำฟ้อง คำให้การและเอกสารสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ แล้วให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยชี้ขาดเพียง ๒ ประเด็น คือ
๑. การที่สมาชิกสหภาพแรงงานออกมาร่วมนัดหยุดงาน ภายหลังจากที่สหภาพแรงงานได้นัดหยุดงานไปแล้ว จะถือเป็นการนัดหยุดงานตามกฎหมายหรือเป็นการละทิ้งหน้าที่การงาน
๒. กรณีที่สมาชิกสหภาพแรงงานมาสมทบหยุดงานในภายหลังจะต้องแจ้งการนัดหยุดงานตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฯ มาตรา ๓๔ วรรคท้ายหรือไม่
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า การที่โจทก์ทั้งหมดได้หยุดงานสมทบภายหลังจากที่สมาชิกส่วนใหญ่หยุดงานไปแล้ว และไม่มีการแจ้งความประสงค์ขอนัดหยุดงานตามนัยแห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฯ มาตรา ๓๔ วรรคท้าย จึงไม่เป็นการนัดหยุดงานตามความหมายในมาตรา ๕ ที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัยว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่การงานตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗ (๔) ชอบแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งเจ็ดอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า โจทก์อุทธรณ์ว่าเมื่อสหภาพแรงงานที่โจทก์ทั้งหมดเป็นสมาชิกอยู่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายครบถ้วนแล้ว โจทก์จึงไม่ต้องแจ้งต่อจำเลยที่ ๑๕ อีก ทั้งความหมายของคำว่า การนัดหยุดงานที่ว่า “หมายความว่า การที่ลูกจ้างร่วมกันไม่ทำงานชั่วคราวเนื่องจากข้อพิพาทแรงงานนั้น” คำว่าร่วมหาจำต้องกระทำพร้อมกันไม่ การที่โจทก์ออกมาร่วมนัดหยุดงานทีหลังก็ถือว่าได้ร่วมนัดหยุดงานกับสหภาพแรงงานที่โจทก์เป็นสมาชิกอยู่แล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ลำดับขั้นตอนที่จะนำไปสู่การนัดหยุดงานได้โดยชอบตามมาตรา ๒๒ วรรคท้ายจะต้องเริ่มจากการที่นายจ้างลูกจ้างแจ้งข้อเรียกร้องต่ออีกฝ่ายหนึ่ง แต่การแจ้งข้อเรียกร้องดังกล่าว อาจจะให้สมาคมนายจ้าง หรือสหภาพแรงงาน ดำเนินการแทนนายจ้างหรือลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกได้ ในกรณีที่สมาคมนายจ้างหรือสหภาพแรงงานดำเนินการแทนนายจ้างหรือลูกจ้างก็มิจำต้องแจ้งข้อเรียกร้องด้วยตนเองอีกชั้นหนึ่ง เห็นได้จากความในมาตรา ๑๕ วรรคสอง ในกรณีที่สมาคมนายจ้างหรือสหภาพแรงงานดำเนินการแทนนายจ้างหรือลูกจ้างที่เป็นสมาชิก สมาคมนายจ้างหรือสหภาพแรงงานย่อมมีอำนาจดำเนินการตามขั้นตอนแทนนายจ้างหรือลูกจ้างผู้เป็นสมาชิกต่อไปตามมาตรา ๒๑, ๒๒ และ มาตรา ๓๔ วรรคท้าย หลังจากนั้นนายจ้างเป็นผู้เป็นสมาชิกของสมาคมนายจ้าง หรือลูกจ้างผู้เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานก็สามารถปิดงานหรือนัดหยุดงานได้โดยชอบ และการนัดหยุดงานก็หาจำเป็นจะต้องเข้าสมทบหยุดงานพร้อมกันเฉพาะในวันเริ่มแรกไม่ ดังจะเห็นได้จากมาตรา ๙๙ ซึ่งบัญญัติว่า “เมื่อสหภาพแรงงานปฏิบัติการดังต่อไปนี้เพื่อประโยชน์ของสมาชิกอันมิใช่เป็นกิจการเกี่ยวกับการเมือง ให้ลูกจ้างสหภาพแรงงาน กรรมการ อนุกรรมการ และเจ้าหน้าที่ของสหภาพแรงงานได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกกล่าวหาหรือฟ้องร้องทางอาญาหรือทางแพ่ง
ฯลฯ
(๒) นัดหยุดงานหรือช่วยเหลือ ชักชวนหรือสนับสนุนให้สมาชิกนัดหยุดงาน
ฯลฯ”
ความในมาตรา ๙๙ นี้ เป็นการสอดคล้องกับการนัดหยุดงานที่ดำเนินการโดยทั่ว ๆ ไป ซึ่งอนุญาตให้มีการชักชวนสนับสนุนลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานแต่ยังมิได้ร่วมหยุดงานในตอนแรกให้เข้าร่วมในการนัดหยุดงานเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นกำลังในการต่อรองกับนายจ้าง การชักชวนดังกล่าวหากได้กระทำโดยสันติ มิได้ใช้กำลัง หรือข่มขู่หรือทำร้ายลูกจ้างหรือคนในครอบครัวของลูกจ้างหรือทำให้ทรัพย์สินของลูกจ้างเสียหาย หรือขู่เข็ญว่าจะกระทำการดังกล่าว เพื่อให้ลูกจ้างเข้าร่วมในการนัดหยุดงาน หรือคอยขัดขวางมิให้ลูกจ้างที่ไม่ยอมร่วมนัดหยุดงานเข้าทำงาน อันเป็นการกระทำความผิดทางอาญาแล้วสามารถกระทำได้โดยชอบ ด้วยวิธีการเช่นนี้ ย่อมจะมีลูกจ้างซึ่งมิได้ร่วมหยุดงานในตอนเริ่มแรกเข้ามาร่วมหยุดงานเพิ่มขึ้นเป็นระยะ ๆ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำโดยชอบตามหลักกฎหมายดังอ้างถึงมาแล้ว เช่นนี้จึงถือได้ว่า การที่สมาชิกสหภาพแรงงานออกมาร่วมนัดหยุดงานภายหลังจากที่สหภาพแรงงานได้นัดหยุดงานไปแล้วเป็นการนัดหยุดงานโดยชอบตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๕ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ได้แจ้งความประสงค์ขอนัดหยุดงานตามนัยแห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๓๔ วรรคท้าย จึงมิใช่เป็นการนัดหยุดงานตามความในมาตรา ๕ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
สำหรับประเด็นข้อ ๒ นั้น เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่สหภาพแรงงานที่โจทก์เป็นสมาชิกอยู่ได้แจ้งการนัดหยุดงานตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๓๔ วรรคท้าย เป็นการแจ้งการนัดหยุดงานแทนสมาชิกด้วย สมาชิกสหภาพแรงงานที่มาสมทบหยุดงานในภายหลังจึงไม่ต้องแจ้งการนัดหยุดงานอีก
ด้วยเหตุดังได้วินิจฉัยมา การที่โจทก์ทั้ง ๗ คนออกมาร่วมนัดหยุดงานภายหลังจากที่สหภาพแรงงานได้นัดหยุดงานไปแล้วย่อมเป็นการนัดหยุดงานโดยชอบ การที่จำเลยที่ ๑๕ เลิกจ้างโจทก์ทั้ง ๗ คนจึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๑ คำสั่งที่ ๔๐ – ๔๔/๒๕๓๐ ลงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๓๐ ของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๔ จึงไม่ชอบ ให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว แต่เนื่องจากโจทก์มีคำขอให้จำเลยที่ ๑๕ รับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมและจ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างตั้งแต่วันเลิกจ้างถึงวันที่รับกลับเข้าทำงานหรือให้จ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างค้างจ่าย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายเนื่องจากถูกเลิกจ้าง ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลแรงงานกลางที่จะสั่ง ดุลพินิจดังกล่าวเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่อาจวินิจฉัยได้ จึงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาวินิจฉัย
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาประเด็นตามที่กล่าวข้างต้นใหม่ แล้วมีคำพิพากษาชี้ขาดไปตามรูปคดี

Share