คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5709/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำนองที่ดินและเพิ่มวงเงินจำนองไว้แก่จำเลย หลังจากนั้นโจทก์ขอชำระหนี้ทั้งหมดและไถ่ถอนจำนองจำเลยเพิกเฉยโจทก์จึงนำเงินต้นและดอกเบี้ยไปวางที่สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ ขอให้บังคับจำเลยรับชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองคืนโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ จำเลยให้การต่อสู้คดีว่าโจทก์จำนองที่ดินไว้แก่จำเลยจริง แต่การจดทะเบียนเพิ่มเงินจำนองเป็นการแสดงเจตนาลวงเพื่ออำพรางนิติกรรมซื้อขายที่ดิน เพราะที่ดินดังกล่าวตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 ห้ามโอนภายในกำหนดเวลา 5 ปีจึงจดทะเบียนเป็นเพิ่มเงินจำนองเท่ากับราคาที่ดินที่โจทก์จำเลยตกลงซื้อขายกัน ดังนี้ กรณีเป็นเรื่องโต้แย้งและพิพาทกันด้วยกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ เมื่อราคาที่ดินที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกามีใจความว่าพยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ฟังได้ว่าโจทก์กู้เงินจากจำเลยและจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกัน ต่อมาโจทก์กู้เงินจากจำเลยอีกหลายครั้ง โจทก์จึงตกลงขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยในราคาเท่ากับจำนวนเงินที่โจทก์กู้ไปทั้งหมด แต่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันไม่ได้ เพราะที่ดินพิพาทตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 ห้ามโอนภายในกำหนด 5 ปีจึงจดทะเบียนเป็นเพิ่มเงินจำนองเพื่ออำพรางนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาท เป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ในการรับฟังพยานหลักฐาน ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยและรับฟังมาว่าการจำนองที่ดินตามฟ้องไม่ได้เป็นนิติกรรมอำพรางการซื้อขายที่ดินจึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2527 โจทก์ได้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 28469 และ 28470 แก่จำเลย จำนวนเงิน20,000 บาท ตกลงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ต่อมาวันที่8 พฤษภาคม 2528 โจทก์ได้เพิ่มเงินจำนองอีก 60,000 บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยในอัตราเดิม ครั้งเดือนกันยายน 2532 โจทก์ขอรับชำระหนี้ทั้งหมดและไถ่ถอนจำนอง จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงนำเงินต้นจำนวน 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยคิดถึงวันที่ 22 กันยายน2532 จำนวน 54,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 134,000 บาทไปวางที่สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ภูมิภาคที่ 8 ขอให้บังคับจำเลยรับชำระหนี้จำนองซึ่งโจทก์นำไปวางไว้ต่อสำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ภูมิภาคที่ 8 ดังกล่าว และจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองพร้อมกับคืนโฉนดเลขที่ 28469 และ 28470 แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์จำนองที่ดินไว้แก่จำเลยจริง แต่การจดทะเบียนเพิ่มเงินจำนองเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2528เป็นการแสดงเจตนาลวงเพื่ออำพรางนิติกรรมการซื้อขายที่ดินโดยโจทก์ตกลงขายที่ดินให้แก่จำเลยในราคา 80,000 บาท แต่ไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้ เพราะที่ดินดังกล่าวตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 ห้ามโอนภายในกำหนดเวลา 5 ปี จึงจดทะเบียนเป็นเพิ่มเงินจำนองจาก20,000 บาท เป็น 80,000 บาท เท่ากับราคาที่ดินที่โจทก์จำเลยตกลงซื้อขายกัน โดยโจทก์ให้คำมั่นและสัญญาว่าเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอน โจทก์จะโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่จำเลยทันที ต่อมาเดือนกันยายน 2532 ซึ่งพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอนแล้วจำเลยแจ้งให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแก่จำเลย โจทก์เพิกเฉยขอให้ยกฟ้องโจทก์และพิพากษาว่า นิติกรรมจดทะเบียนเพิ่มเงินจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นนิติกรรมอำพรางการซื้อขายเป็นโมฆะ ให้โจทก์จดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 28469และ 28470 แก่จำเลย หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่เคยตกลงขายและให้คำมั่นหรือสัญญาว่าจะโอนที่ดินให้แก่จำเลย โจทก์เพิ่มเงินจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ที่โจทก์ก็เงินเพิ่มจากจำเลย เป็นนิติกรรมอันแท้จริง ไม่ได้เป็นนิติกรรมอำพรางการซื้อขายที่ดินแต่อย่างใดจำเลยไม่เคยบอกกล่าวให้โจทก์โอนขายที่ดินแก่จำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับชำระหนี้จำนวน 134,000 บาทที่โจทก์วางไว้ต่อสำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ภูมิภาคที่ 8ไถ่ถอนจำนองและคืนโฉนดเลขที่ 28469 และ 28470 ให้แก่โจทก์หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ศาลชั้นต้นสั่งรับไว้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องของโจทก์เท่านั้น โจทก์ฟ้องว่าโจทก์จำนองที่ดินไว้แก่จำเลยเป็นเงิน20,000 บาท ต่อมาได้เพิ่มเงินจำนองอีก 60,000 บาท รวมเป็นเงิน80,000 บาท หลังจากนั้นโจทก์ขอชำระหนี้ทั้งหมดและไถ่ถอนจำนองจำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงนำเงินต้นและดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน134,000 บาท ไปวางที่สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ภูมิภาคที่ 8ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองคืนโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า โจทก์จำนองที่ดินไว้แก่จำเลยจริง แต่การจดทะเบียนเพิ่มเงินจำนองเป็นการแสดงเจตนาลวงเพื่ออำพรางนิติกรรมซื้อขายที่ดิน โดยโจทก์ตกลงขายที่ดินให้แก่จำเลยในราคา 80,000 บาท แต่ไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้เพราะที่ดินดังกล่าวตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพพ.ศ. 2511 ห้ามโอนภายในกำหนดเวลา 5 ปี จึงจดทะเบียนเป็นเพิ่มเงินจำนองจาก 20,000 บาท เป็น 80,000 บาท เท่ากับราคาที่ดินที่โจทก์จำเลยตกลงซื้อขายกัน ดังนี้ กรณีเป็นเรื่องโต้แย้งและพิพาทกันด้วยกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์เมื่อราคาที่ดินที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกามีใจความว่าพยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ฟังได้ว่าโจทก์กู้เงินจากจำเลยจำนวน 20,000 บาท และจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกัน ต่อมาโจทก์กู้เงินจากจำเลยอีกหลายครั้ง เป็นเงิน60,000 บาท โจทก์จึงตกลงขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยในราคา80,000 บาท เท่ากับจำนวนเงินที่โจทก์กู้ไปทั้งหมด แต่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันไม่ได้ เพราะที่ดินพิพาทตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 ห้ามโอนภายในกำหนด 5 ปี จึงจดทะเบียนเป็นเพิ่มเงินจำนองจาก 20,000 บาท เป็น 80,000 บาทเพื่ออำพรางนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาท ฎีกาของจำเลยดังกล่าวเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในการรับฟังพยานหลักฐาน ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงว่าพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยฟังได้ว่าการจำนองที่ดินตามฟ้องไม่ได้เป็นนิติกรรมอำพรางการซื้อขายที่ดิน จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องของโจทก์โดยเห็นว่าเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษายกฎีกาของจำเลย คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาในส่วนนี้ให้แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share