แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาภายในเวลา 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาถือได้ว่าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ร้องขอให้บังคับคดีภายใน 10 ปีนับแต่วันมีคำพิพากษาแล้ว ส่วนเจ้าพนักงานบังคับคดีจะไปยึดทรัพย์เมื่อใดนั้นเป็นขั้นตอนการดำเนินงานของเจ้าพนักงานบังคับคดีแม้จะพ้นกำหนด 10 ปีนับแต่วันมีคำพิพากษา เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็มีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์นั้น
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ โจทก์นำยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เพิ่มเติมเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการยึดที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1457 ของจำเลยที่ 2 ไว้แล้ว
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 ล่วงเลยกำหนด 10 ปีแล้ว จึงไม่มีสิทธิที่จะบังคับเอาแก่จำเลยที่ 2 อีกต่อไป ขอให้ถอนการยึด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอให้บังคับคดีภายใน10 ปี เป็นการชอบด้วยบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271 แล้ว ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันฟังยุติได้ว่าเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2524 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 80,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน800 บาท และคดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยทั้งสองทราบคำบังคับโดยชอบแล้วไม่ยอมชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแก่โจทก์ โจทก์ขอให้บังคับคดีเพื่อดำเนินการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2534 โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2534 ได้เงินทั้งสิ้น 6,000 บาท ไม่พอชำระหนี้แก่โจทก์ ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2534 ถึงศาลชั้นต้นขอให้ศาลจังหวัดสีคิ้วบังคับคดีแทน โดยให้ยึดที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1457 ตำบลพญาเย็นอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ 16 ไร่ ของจำเลยที่ 2ครั้นวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2535 โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลจังหวัดสีคิ้วไปยึดที่ดินพิพาทดังกล่าว จำเลยที่ 2จึงยื่นคำร้องเป็นคดีนี้
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่าโจทก์มีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271 บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องร้องขอให้บังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาและในการร้องขอให้บังคับคดี โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็จะต้องดำเนินวิธีการบังคับคดีตามขั้นตอนให้ครบถ้วนภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว คือ ต้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีก่อนขั้นต่อไปต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีแล้ว จากนั้นต้องแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ถ้ามีลูกหนี้หลายคนให้ระบุว่าต้องการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้คนใด คดีนี้โจทก์ร้องขอให้ออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองภายในกำหนดเวลาดังกล่าว แต่ได้นำยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้แม้โจทก์ยังมิได้บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ก็ตามแต่ในเวลาต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีหนังสือฉบับลงวันที่29 พฤศจิกายน 2534 ถึงศาลชั้นต้นว่า ผู้แทนโจทก์แถลงขอให้นำยึดที่ดินพิพาทของจำเลยเพิ่มเติมซึ่งตั้งอยู่ในเขตศาลจังหวัดสีคิ้วเพิ่มเติม ขอให้ศาลจังหวัดสีคิ้วให้สั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีประจำศาลจังหวัดสีคิ้วช่วยยึดและขายทอดตลาดที่ดินพิพาทแทนเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลชั้นต้น ซึ่งแสดงว่าโจทก์ได้แถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลชั้นต้น ขอให้ยึดที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 อันอยู่ภายในเวลา 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาคือวันที่24 ธันวาคม 2524 แล้ว แต่เนื่องจากที่ดินพิพาทอยู่นอกเขตศาลชั้นต้นเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลชั้นต้นจึงได้มีหนังสือถึงศาลชั้นต้นขอให้ศาลจังหวัดสีคิ้วซึ่งเป็นศาลที่ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ช่วยบังคับคดีแทน ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลจังหวัดสีคิ้วจะไปยึดที่ดินพิพาทเมื่อใดนั้น เป็นขั้นตอนการดำเนินงานของเจ้าพนักงานบังคับคดี แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลจังหวัดสีคิ้วจะไปทำการยึดที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่11 กุมภาพันธ์ 2535 ซึ่งเกินกำหนดสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาแต่เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนครบถ้วนแล้วภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาดังกล่าว ก็ถือได้ว่าโจทก์ได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 แล้วโจทก์จึงมีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 ได้เทียบเคียงตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4816/2528 ระหว่างธนาคารกรุงเทพ จำกัด โจทก์ บริษัทประธานพัฒนาโลหะ จำกัด กับพวกจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น และเมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้ว ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่า การพิจารณาสิทธิการบังคับคดีในหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งเป็นหนี้ร่วมนั้น จะต้องพิจารณาจากการบังคับคดีของโจทก์ต่อจำเลยแต่ละคนหรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย”
พิพากษายืน